“วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ป้องกันโรคปอดอักเสบ ลดป่วยรุนแรง-เสียชีวิต

โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) นับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของเด็กเล็กและผู้สูงวัย ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบมากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก โดยในประเทศไทย โรคปอดอักเสบเป็น 5 ลำดับแรกของโรคทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในทุกปีและมีแนวโน้มอัตราตายจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น

ด้วยสถานการณ์โรคปอดอักเสบ ถือเป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตทั่วโลกกว่า 2.5 ล้านคน ในปี 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 672,000 คน และในสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 ล้านคน ในปี 2563 รวมเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งสูงกว่าจำนวนการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อหลัก ๆ ในปัจจุบันที่จะนำไปสู่ภาวะของ “โรคปอดอักเสบ” หรือที่รู้จักกันดีว่า “โรคปอดบวม” โรคปอดอักเสบ หมายถึงการอักเสบที่เนื้อปอด ประกอบด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

รู้ทันโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” เกิดจากสาเหตุของการติดจากเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ ที่เรียกว่า เชื้อ Streptococcus pneumoniae ซึ่งมีกว่า 90 สายพันธุ์ ไม่เพียงเท่านี้เชื้อนี้ยังสามารถก่อให้เกิดโรคอื่นตามมาได้อีก ได้แก่ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งโรคปอดอักเสบนี้ปัจจุบันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

สาเหตุของการเกิดโรคปอดอักเสบนี้ พบว่ามีความแตกต่างกันในตามสภาพแวดล้อมและแต่ละช่วงวัย โดยร่างกายจะได้รับเชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ด้วยวิธีการ ไอ หรือ จาม ทำให้เชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ ที่มีลักษณะละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรงได้ ในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าการติดเชื้อมักเกิดจากการสำลักน้ำลาย น้ำดื่ม หรืออาหาร ส่งผลให้เชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เข้าสู่บริเวณปอด จนเกิดโรคปอดอักเสบในที่สุด

นอกจากนี้ผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อมีพัฒนาการของโรคที่รุนแรงขึ้น ก็จะเกิดภาวะปอดอักเสบตามมาได้ ดังนั้นการป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นการป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบได้อีกด้วย

อาการของโรคปอดอักเสบ ที่มักพบได้แก่

  1. มีไข้
  2. เหงื่อออก
  3. หนาวสั่น
  4. ไอมีเสมหะ
  5. คลื่นไส้ อาเจียน
  6. ท้องเสีย
  7. เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
  8. อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก

การป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบ

  1. หลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างถูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
  2. รักษาสุขอนามัยเสมอเพื่อป้องกันการรับเชื้อสู่ร่างกาย ด้วยการล้างมือทุกครั้งที่มีการหยิบจับสิ่งของและก่อนรับประทานอาหาร
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการเดินทางไปอยู่ในที่มีผู้คนหนาแน่น
  4. สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ
  5. แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

“โรคปอดอักเสบ” สาเหตุหลักของการเสียชีวิต

โรคปอดอักเสบเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและการรักษาในโรงพยาบาลของกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมถึงผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยหลังจากการที่ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มาได้นี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือและป้องกันโรคเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของโรคปอดอักเสบได้เช่นเดียวกัน โดยโรคปอดอักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ สามารถลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตได้ วัคซีนที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบหรือวัคซีนนิวโมคอคคัส ซึ่งมีการวางแผนจะบรรจุวัคซีนนิวโมคอคคัสในรายการวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กของกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนจำเป็นของเด็กไทย

การป้องกันโรคปอดอักเสบหลังการระบาดโควิด-19

โรคปอดอักเสบเกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยเชื้อที่พบโดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumonia) ที่พบการระบาดมากในฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถติดต่อได้ตั้งแต่การหายใจรับเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การแพร่กระจายทางกระแสเลือด การสำลักอาหาร หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโรคปะปน จะมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย รวมทั้งอาจมีอาการซึม วิธีการป้องกัน คือ หมั่นล้างมือทำความสะอาดและดูแลสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ และที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนปอดอักเสบเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

“โรคปอดอักเสบ” มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก โดยหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาการอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดหรือสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและเกิดการเสียชีวิตได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และเข้ารับวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงในการติดโรคปอดอักเสบ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนดีกว่าการรักษา

“ฉีดวัคซีน” ป้องกันโรคปอดอักเสบได้

ป้องกันโรคปอดอักเสบที่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากที่สุด คือ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบ ซึ่งประกอบด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 และวัคซีนนิวโมคอคคัส ขณะที่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน RSV แต่คาดว่าจะมีในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยวัคซีนในกลุ่มดังกล่าวนี้ มีความสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีปอดอักเสบรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย โรคตับวาย โรคพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงกลุ่มที่ได้รับยาภูมิคุ้มกัน เช่น ยารักษามะเร็ง ยารักษาโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง เป็นต้น เพราะวัคซีนในกลุ่มนี้จะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบและลดความรุนแรงของโรคได้

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่และอาจส่งผลกระทบตามมา โดยควรจะคำนึงถึงคุณค่าของการฉีดวัคซีน หรือฉีดเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น ฉีดเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง คนในครอบครัวที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ฉีดเพื่อลดการป่วยที่รุนแรง และฉีดเพื่อลดการสูญเสียที่มองไม่เห็น (indirect cost) เช่น หากป่วยก็ต้องนอนพักรักษาตัวหลายวัน ทำให้สูญเสียรายได้จากการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นคุณประโยชน์ของการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังสนับสนุนการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค พร้อมระบุว่า “วัคซีน” เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้นและทำให้คนรอดตายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำสะอาด ซึ่งพิสูจน์ได้จากโควิด-19 ซึ่งหากในปี 2021 ที่โควิด-19 แพร่ระบาด แล้วหากในปีนั้นเราไม่มีวัคซีนโควิด-19 คนทั่วโลกจะเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 19.6 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกที่สุดในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำปีทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะเกิดปอดอักเสบรุนแรงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถเข้ารับการฉีดได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านท่าน