เงินสำรองฉุกเฉินในครัวเรือน ต้องมีเท่าไรถึงจะปลอดภัย

เวลาที่พูดเรื่องของ “การเงิน” เรามักจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ใครเป็นคนหาเงินมาได้ก็ย่อมมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะใช้ไปกับอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ มีมากใช้มาก ใช้แบบไม่คิดจะเหลือเผื่อเก็บถึงวันข้างหน้า ฉันอยากจะฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแค่ไหนมันก็เรื่องของฉัน เงินของฉัน ความสุขของฉัน ในเมื่อมันไม่ได้เดือดร้อนใคร คนรอบข้างเตือนเรื่องการใช้เงินก็เท่ากับแส่เรื่องของคนอื่น ทว่าตอนที่ตนเองประสบเข้ากับอุบัติเหตุทางการเงินโดยไม่ทันตั้งตัว ในวันที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันที่ทำให้ไม่สามารถหาเงินได้มากเหมือนก่อนหน้านี้ ก็พบว่าตัวเองไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้สำหรับเหตุการณ์นี้เลย ในเมื่อหาเงินไม่ได้เงินสำรองก็ไม่มี สิ่งเดียวที่พอจะทำได้ก็คือ เป็นหนี้ ซึ่งวงจรหนี้ เข้าแล้วออกยาก

เพราะไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันมักจะใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงช่วงเวลาที่ฉุกเฉิน และไม่คิดถึงการออมเงินสักเท่าไรนัก ทั้งที่มันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ความประมาทนี้หลาย ๆ คนรู้ซึ้งดีก็ตอนที่เจอเข้ากับปัญหาจริง ๆ อย่างสภาวะของการเกิดโรคระบาด COVID-19 ไม่มีใครคิดว่ามันจะเลวร้ายขนาดนี้ และล่าสุดคือสภาวะเงินเฟ้อ ที่ถ้าย่ำแย่ลงไปมากกว่านี้ก็อาจมีคนต้องตกงานเพิ่ม เมื่อไม่สามารรถหาเงินได้และตนเองไม่มีเงินเก็บสำรองเลย มันคือหายนะของจริง สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการมี “เงินสำรองฉุกเฉิน” นั้น สำคัญเพียงใด ดังนั้น เงินก้อนนี้จึงเป็นเงินที่ภาคครัวเรือนที่ทุกครอบครัวควรจะต้องเตรียมเอาไว้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร 

เงินสำรองฉุกเฉิน หมายถึง เงินสดจำนวนหนึ่งที่คุณเก็บสะสมไว้เท่า ๆ กันทุกเดือน โดยมีเป้าหมายว่าจะไม่แตะต้องเงินก้อนนั้นเลย เนื่องจากเก็บไว้ใช้เฉพาะเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ไม่คาดฝันเท่านั้น อาทิ คุณหรือคนในครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาลด่วน รถยนต์เสียหายและต้องซ่อมขนานใหญ่ ซ่อมบ้านในกรณีที่คาดไม่ถึง หรือแม้แต่การตกงานกะทันหัน อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่โรคระบาด COVID-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่จะทำให้คุณเห็นว่าเงินสำรองฉุกเฉินนั้นมีความสำคัญแค่ไหน

เงินสำรองฉุกเฉิน ควรเก็บไว้ในรูปของเงินที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนนำมาใช้ได้ง่าย รวดเร็ว หากเราต้องการใช้จ่ายทันที ที่ดีที่สุดคือเงินสดที่ฝากไว้กับทางธนาคาร หรืออาจเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง และสามารถนำมาใช้จ่ายได้ภายในระยะเวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น เช่น หน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ “เงินสำรองฉุกเฉิน” จึงเป็นเงินก้อนที่ห้ามมองข้ามความสำคัญเด็ดขาด จะบอกว่าเป็นพื้นฐานสำคัญด้านการเงินเลยก็ว่าได้ เพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินมักเกิดขึ้นโดยไม่บอกไม่กล่าว และไม่รู้เลยว่าวันที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้จริง ๆ จะมาถึงเมื่อไร หากเริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ อนาคตข้างหน้าก็จะสดใสขึ้นอีกเยอะ ด้วยมีเงินก้อนหนึ่งไว้ใช้ดำรงชีวิตในช่วงที่สถานการณ์ทางการเงินของตัวเองไม่ปกติ ทำให้ไม่เดือดร้อนมากนัก จึงต้องท่องให้ขึ้นใจว่าเงินก้อนนี้มีไว้ใช้ในยามคับขันที่ส่งผลกระทบต่อตัวเองและครอบครัวเท่านั้น อย่านำมาใช้มั่วซั่วตามใจตัวเอง

แล้วเงินสำรองฉุกเฉิน แต่ละครอบครัวควรมีเท่าไร

การตั้งเป้าว่าเงินสำรองฉุกเฉินควรจะเมีเท่าไรนั้น ต้องเริ่มจากการลิสต์รายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนออกมาก่อน ว่าปกติแล้วเงินเดือนที่เราได้มาในแต่ละเดือน เราใช้ไปกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และอย่าลืมคิดบนเงื่อนไขที่ว่าหากเรากลายเป็นคนไม่มีรายได้ขึ้นมา ใน 1 เดือนเราจะต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง เช่น

  • ค่าที่อยู่อาศัย พวกค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าประกันภัย และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและคนในครอบครัว อย่างค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ จิปาถะอื่น ๆ
  • ค่ารักษาสุขภาพ เช่น ค่ายาค่ารักษาที่ต้องใช้เป็นประจำทุกเดือน ค่าทำฟัน
  • ค่าประกันต่าง ๆ พวกค่าประกันทั้งหลายที่เราต้องจ่ายทุกเดือน ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
  • หนี้สินต่าง ๆ ที่จะส่งบิลมาเรียกเก็บทุกเดือน
  • ค่าเล่าเรียนลูก
  • เงินแบ่งออมในแต่ละเดือน ส่วนนี้หากมีสำรองได้ก็จะดี ในช่วงเดือดร้อนจะได้ไม่ต้องกระเบียดกระเสียรมากนัก

จากนั้นลองมาดูปัจจัยในเรื่องของอาชีพ หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้แน่นอน คุณจะได้เปรียบเรื่องการจัดสรรรายรับที่เข้ามา เพราะคุณรู้แน่นอนว่าเงินจะเข้าทุกเดือน เดือนละกี่บาท ปกติจะแนะนำให้สำรองเงินฉุกเฉินไว้ที่ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ นำค่าใช้จ่ายรายเดือนที่คุณลิสต์ได้ก่อนหน้ามาคูณ 3 หรือคูณ 6 เดือน เผื่อไว้ในกรณีที่ต้องออกจากงานกะทันหัน เงินสำรองก้อนนี้จะช่วยชีวิตครอบครัวของคุณในช่วงที่รองานใหม่ คุณจะมีเวลาตั้งหลักได้นาน 3-6 เดือนโดยไม่เดือดร้อน ในกรณีที่ยังหางานใหม่ไม่ได้

แต่ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ นี่ค่อนข้างเป็นเรื่องท้าทาย เพราะมนุษย์ฟรีแลนซ์นั้นมีรายได้ที่ไม่แน่นอน บางเดือนคนจ้างเยอะ งานเยอะ เงินก็เยอะตาม แต่บางเดือนอาจเงียบ ๆ เหงา ๆ ไม่ค่อยมีลูกค้า รายได้ก็แทบไม่มี คนทำงานฟรีแลนซ์จึงมีความผันผวนทางรายได้สูง ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่สามารถคาดเดาได้ ปกติจะแนะนำให้สำรองเงินฉุกเฉินไว้ให้มากกว่า 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน หรือคิดเผื่อกรณีที่เลวร้ายที่สุดว่าคุณอาจขาดรายได้นานถึง 1 ปี

อย่าคิดสำรองเงินฉุกเฉินไว้เพียง 1 เดือน ต้องเผื่อเวลาไว้ว่าหากวิกฤติแบบที่คิดไว้มันใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าที่คิด แต่ในทางตรงข้าม ก็ไม่ควรมีการสำรองเงินมากจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้เสียโอกาสที่จะนำเงินออมไปใช้ในการลงทุนระยะยาวที่ทำให้เงินงอกเงยมากกว่า

เงินสำรองฉุกเฉินควรฝากในบัญชีประเภทใด หรือเอาไปลงทุนไหม

คำตอบคือ เงินสำรองฉุกเฉินควรเป็นเงินที่คุณสามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุจำเป็น หากคุณเอาไปลงทุนในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสองตลาดที่ต้องรอเวลาเพื่อนำเอาเงินสดออกมาใช้ ดังนั้น การฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ปกติ จะช่วยให้คุณสามารถนำเงินมาใช้ในยามฉุกเฉินได้สะดวกที่สุด แต่ต้องพึ่งระลึกไว้เสมอว่าเงินจำนวนนี้ห้ามนำมาใช้ หากคุณไม่ได้เดือดร้อนจริง ๆ

วิธีการในการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้ตามเป้า

1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และใช้เงินในงบประมาณที่กำหนดไว้

เริ่มต้นด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จากนั้นกำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้ชีวิตในแต่ละเดือน คุณจะเห็นว่าคุณจะมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนจำนวนเท่าไร และใช้เงินจำนวนนั้นตั้งต้นในการฝากเป็นเงินสำรองฉุกเฉินที่มีจำนวนเท่ากันในแต่ละเดือน

2. ตั้งเป้าเก็บเงินให้เท่ากันทุกเดือน เพื่อให้ได้เงินก้อน

อย่างที่แนะนำไปในข้างต้น การเก็บเงินสำหรับคนที่มีหน้าที่การงานมั่นคง ไม่ต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ หรือไม่มีคนป่วยในบ้าน มีเงินสำรองให้ได้ 3 เท่าของเงินเดือนจะสร้างความอุ่นใจ ขณะที่เหล่าฟรีแลนซ์ หรือคนมีหนี้รถ หนี้บ้าน หรือมีคนป่วยในบ้าน เงินสำรองฉุกเฉินต้องมี 6 เท่าของรายได้เฉลี่ยแต่ละเดือน ดังนั้นการฝากเงินให้เท่ากันทุกเดือนจะทำให้คุณถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้

3. ลองคำนวนดูว่าคุณจะสามารถเก็บเงินได้มากเท่าไร

หลายคนอาจคิดว่าเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน เมื่อไรจะได้ตามเป้า เอาเข้าจริงแล้วเรื่องนี้ง่ายมากเพียงแค่คุณคำนวนเงินที่จะเก็บให้เท่ากันทุกเดือน จากนั้นลองคำนวนระยะเวลาตาม ถ้าคุณอยากให้เร็วขึ้นอาจเพิ่มจำนวนเงินฝากให้มากขึ้น แต่ทางที่ดีที่สุดคือทางสายกลาง ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไป ถ้ารู้สึกอยากจะเอาเงินมาใช้ให้คิดไว้เสมอว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยคุณได้ หากถึงวันอันมีเหตุไม่คาดคิดมาถึงตัวคุณ