แนวคิดของ Slow Tourism เที่ยวช้า ๆ ค่อย ๆ เยียวยาใจ

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมล่ะ ที่จะลางานไปเที่ยวไกล ๆ ได้หลาย ๆ วัน แค่คิดเฉย ๆ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ต่อให้เป็นการลาพักร้อนก็เถอะ มันยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้การลางานไปเที่ยวอาจไม่บันเทิงรื่นเริงอย่างที่คาดหวัง หลายคนยังต้องหอบโน้ตบุ๊กไปด้วย เผื่อกรณีมีงานเร่งด่วนเข้ามา หลายคนรู้สึกไม่สบายใจที่มอบหมายงานให้คนอื่นทำแทนในช่วงที่ตัวเองไม่อยู่ หลายคนไม่กล้าไปเที่ยวไกล ๆ อย่างต่างประเทศ เพราะกลัวว่ามีเรื่องฉุกเฉินแล้วเพื่อนร่วมงานจะติดต่อลำบาก หลายคนไม่กล้าลาพักร้อนให้ครบตามจำนวนที่สามารถลาได้ตามกฎหมาย ด้วยไม่กล้าทิ้งงานไปนาน ๆ และหลายคนก็ตัดปัญหาไม่ลาพักร้อนยาวหลายวัน เพราะขี้เกียจจะตอบคำถามส่วนตัวตอนยื่นใบลาให้เซ็น

เมื่อจำนวนวันลาพักร้อนที่น้อยนิดไม่สมดุลกับแผนเที่ยว แถมยังไม่เพียงพอกับความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานที่สะสมเรื่อย ๆ มาเป็นปี การวางแผนเที่ยวจึงค่อนข้างรวบรัด เร่งรีบ กิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เคยคิดว่าอยากทำตอนไปเที่ยวต้องพยายามตัดออกให้เหลือน้อยที่สุด ต้องเปิดแจ้งเตือนโทรศัทพ์มือถือหรือแอปฯ แชตไว้ตลอด เผื่อว่างานมีปัญหาหรือมีเรื่องด่วนที่เพื่อนร่วมงานจะติดต่อมา ทั้งที่ใจอยากจะปิดโทรศัพท์กันคนรบกวนด้วยซ้ำ การเที่ยวที่ต้องรีบเที่ยว รีบกอบโกยช่วงเวลาพักผ่อนให้ได้มากที่สุดแบบนี้ มันใช่การลาพักร้อนไปพักผ่อนจริงเหรอ?

ใช้ชีวิตให้ช้าลง มองสิ่งต่าง ๆ ข้างทางบ้าง ชีวิตมีอยู่แค่นี้

แม้ว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลาพักร้อนยาว ๆ เพื่อไปเที่ยวแบบที่ได้ไปพักผ่อนจริง ๆ ชนิดที่ไม่มีเรื่องงานแว่บเข้ามาในหัวเลยสักนิดเดียว (หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าทำได้ถ้า “ลาออก”) แต่การลางานไปเที่ยวเราก็ควรที่จะได้เที่ยวอย่างจริงจัง ได้พักผ่อนตัวเองจากเรื่องเครียดต่าง ๆ และลืมเรื่องงานไปเลยชั่วคราวเหมือนคนที่ขอลาออก การเที่ยวที่ต้องเที่ยวแบบรีบ ๆ หรือไปถึงที่แล้วก็ไม่ได้กิจกรรมอะไร ต้องมานั่งทำงานให้ทั้งที่เรายื่นใบลาแล้ว แบบนั้นมันก็ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไรนัก เอาเข้าจริงบางคนโดนตามตัวกลับเดี๋ยวนั้นเลยด้วยซ้ำ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าของคนวัยทำงาน

การรักงาน รักการทำงาน (รักเงินที่ได้จากการทำงาน) เป็นเรื่องที่ดี แต่คนเราต้องมีลิมิตและเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว เหนือสิ่งอื่นใด อย่ารักสิ่งเหล่านั้นมากกว่ารักตัวเอง เพราะถึงเราจะสนุกกับการทำงาน ภาคภูมิใจที่หาเงินได้มาก ๆ ด้วยหวังว่าจะเอาไว้ใช้เที่ยวอย่างสำราญหลังเกษียณ หรือมีชีวิตแบบกินหรูอยู่สบายในยามชรา แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะเสียเปล่าหมด หากคุณทำงานหนักจนไม่ได้พัก แล้วล้มหัวฟาดพื้นกลายเป็นคนพิการ ดีไม่ดีอาจจากไปก่อนวัยอันควร เงินที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงหามาจนร่างพัง ยังไม่ได้ใช้เลยสักสลึงเดียว!

หลาย ๆ คนอาจคุ้นเคยกับคำว่า Slow Life หรือก็คือเทรนด์การใช้ชีวิตสไตล์ใหม่ที่เน้นใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป มีสาระ ไม่ต้องเร่งรีบตัวเองให้ไหลไปตามกระแสสังคม ทำทุกอย่างให้ช้าลง เพื่อที่จะได้มีสติและซึมซาบความหมายของชีวิตได้มากขึ้น หันมาสนใจธรรมชาติ อยู่กับปัจจุบัน และปล่อยให้มันดำเนินอย่างไร้ทิศทางบ้าง ไม่ต้องพยายามฝืนที่จะควบคุมมันทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ช้ากับทุกสิ่ง หรือปล่อยตัวเองอิสระเกินจะกลายเป็นคนเฉื่อยแฉะ ล้าหลัง ตามโลกไม่ทัน แค่ชะลอการใช้ชีวิตแข่งกับเวลา รีบเร่งที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อหาสมดุลชีวิตและความสุขให้เจอ ใช้ชีวิตในทุก ๆ ย่างก้าวอย่างละเมียดละไม เพื่อไม่ให้ร่างกายและจิตใจเครียดและอ่อนล้าเท่านั้นเอง

เที่ยวแบบเนิบช้า แสวงหาความสุขแบบไม่ต้องเร่งรีบ

การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า หรือ Slow Tourism เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตแบบ Slow Life มีโอกาสได้ไปเที่ยวทั้งทีก็ควรจะโฟกัสอยู่แค่การเที่ยวเท่านั้น Slow Tourism เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนจากเมืองใหญ่ ที่ต้องการจะหลีกหนีจากวิถีชีวิตที่สุดแสนจะเร่งรีบ ชีวิตประจำวันมีแต่ความวุ่นวายและจำเจ ไปหาเที่ยวแบบไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องแข่งกับเวลา เพื่อแสวงหาการพักผ่อนที่แท้จริงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของแหล่งท่องเที่ยว ใช้เวลาและพักผ่อนอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวให้นานมากขึ้น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ช้าลง จะได้มองเห็นสิ่งสวยงามที่รายล้อมอยู่รอบตัวได้มากขึ้น พบกับประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ ที่น่าทึ่ง

การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า จะเน้นที่การใช้ชีวิตในช่วงออกเดินทางท่องเที่ยวให้ช้าลง เน้นความเรียบง่าย สงบ ประกอบกิจกรรมที่เป็นมิตรและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเข้าหาธรรมชาติ เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ เที่ยวเหมือนไม่ใช่นักท่องเที่ยว แถมยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ท่องถิ่นอีกต่างหาก โดย Slow Tourism มีแนวคิดที่น่าสนใจ 13s ดังนี้

1. Slow cost คือ การท่องเที่ยวแบบที่ต้นทุนไม่สูงเกินความจำเป็น โดยต้นทุนดังกล่าวไม่ได้จำกัดแต่เพียงรูปตัวเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย ดังนั้น เมื่อทุกสิ่งถูกดำเนินการภายใต้ความเนิบช้า ไม่เร่งรีบจนเกินพอดี ต้นทุนที่จะถูกใช้เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวจะลดลง ซึ่งหมายถึง
การเกิดความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

2. Slow activity คือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ แบบไม่เร่งรีบเกินไป ใช้เวลาอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้ยาวนานขึ้น เน้นเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัย เพื่อการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น สปา โยคะ การนวด อาหารเพื่อสุขภาพ การปั่นจักรยาน

3. Slow behavior คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในขณะเที่ยว โดยทั่วไปนักท่องเที่ยวมักนิยมการบริโภคสินค้าและบริการที่สะดวก รวดเร็ว หาได้ง่าย และราคาไม่สูงมาก เช่น การบริโภคอาหารจานด่วน แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีทั้งต่อตนเองและสังคม จึงเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคให้ช้าลง

4. Slow logistics คือ การเดินทางที่ไม่เร่งรีบ มีความปลอดภัยในการเดินทาง การขนส่งที่สะอาด สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้รถสาธารณะเพื่อการเดินทาง หรือการใช้ยานพาหนะของท้องถิ่นเพื่อเน้นกระจายรายได้

5. Slow food คือ การประกอบอาหารที่เน้นความประณีต เป็นอาหารที่มีคุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เครื่องปรุง เครื่องครัว หรือวิธีการประกอบอาหาร รวมถึงส่งเสริมการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาหาร

6. Slow stay คือ การพักค้างแรม (ที่อาจมากกว่า 1 คืน) ในแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติหรือแหล่งชุมชน ที่จะทำให้เราได้ซึมซับบรรยากาศในรูปแบบที่หาไม่ได้จากในเมืองใหญ่ สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้พักผ่อน ได้ผ่อนคลาย หลีกหนีความวุ่นวายมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับท้องถิ่น

7. Slow place/city คือ สถานที่ท่องเที่ยวที่เน้นเป็นชุมชนหรือเมืองขนาดเล็กที่มีความสงบ เรียบง่าย มีความเป็นธรรมชาติสูง ผู้คนไม่พลุกพล่าน อย่างเช่นการเที่ยวเมืองรอง เที่ยวในสถานที่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เน้นการรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

8. Slow niche market คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบตลาดการท่องเที่ยวให้เป็นตลาดเฉพาะ สร้างโอกาส
สำหรับธุรกิจท้องถิ่นที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดเล็กเข้ามามีส่วนแบ่งมากขึ้น ไม่จำกัดแค่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่อีกต่อไป รูปแบบของตลาดจะเปลี่ยนไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ด้วยการพูดคุยและเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดการครองตลาดอย่างยั่งยืนมากกว่ารูปแบบตลาดปกติ

9. Slow money คือ การใช้จ่ายที่ไม่เร่งรีบ จ่ายในส่วนที่สมเหตุสมผลให้จ่าย ไม่ใช่การเที่ยวแบบประหยัด แต่แค่ไม่เน้นความหรูหราฟุ่มเฟือย มุ่งกระจายรายได้สู่ท่องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องไม่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ค้าขายกำไรเกินควร สินค้าและบริการเน้นมาจากชุมชนไม่ขัดกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น

10. Slow Development คือ การพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การรองรับของพื้นที่ ไม่ปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมของพื้นที่มากจนเกินไป อนุรักษ์และรักษาไว้

11. Slow accommodation คือ สถานที่พักแรมที่มีความสงบ สะอาด และปลอดภัย กลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ห่างไกลจากแหล่งมลภาวะที่เป็นพิษ เป็นที่พักขนาดเล็กและเรียบง่าย มีการจัดการที่พักแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

12. Slow life คือ การใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยวที่เน้นใช้ชีวิตให้ช้าลง เรียบง่ายท่ามกลางความสงบ การพักผ่อนที่ได้ดูดดื่มธรรมชาติ ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เป็นการท่องเที่ยวที่ได้พักผ่อนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

13. Slow energy คือ กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน