หากโลกเราต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนอาหารอย่างจริงจัง

หลายวันก่อน มีรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักในประเทศทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ระบุว่าค่าครองชีพของคนไทยกำลังจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ขึ้นไปอีก เนื่องมาจากราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายอยู่ในช่วงที่ปรับราคาสูงขึ้น สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะต้นทุนแพงขึ้น ตามที่เราได้เห็นกัน สินค้าหลายอย่างปรับราคาขึ้นไปแล้ว หลาย อย่างเตรียมที่จะปรับขึ้น หลายอย่างทำท่าว่าจะปรับขึ้นมาตั้งนานแล้ว แต่ภาครัฐยังพยายามตรึงราคาเอาไว้ได้อยู่ สิ่งที่ประวิงเวลาต่อไปไม่ไหว ก็กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนแล้วว่าตั้งแต่วันที่เท่าไร ที่เราท่านจะได้ซื้อสินค้าชิ้นนี้ในอีกราคา

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ใครหลายคนพากันบ่นอุบว่าช่วงนี้ข้าวของแพงขึ้นมาก ในขณะที่รายได้เท่าเดิม และบางคนรายได้ลดลงไปจนถึงขาดรายได้ ค่าของเงินที่มีอยู่ในกระเป๋าน้อยลง เงิน 100 บาทที่ใครบางคนเคยซื้อข้าวกินได้ 3 มื้อ ทุกวันนี้อาจใช้เงิน 100 บาทเท่าเดิมซื้อข้าวกินได้เพียง 2 มื้อเท่านั้น นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงกันถ้วนหน้า ซึ่งภาวะข้าวยากหมากแพงที่ว่าไม่ได้เกิดแค่ในไทยเท่านั้น ผู้คนทั่วโลกก็กำลังประสบกับปัญหาเดียวกัน อาจกลายเป็นวิกฤติขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำไป

ซึ่งข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) แสดงให้เห็นว่าในหลาย ๆ พื้นที่ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเกิดวิกฤติการณ์อาหารมาตั้งแต่ปี 2019 โดยประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 25.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร และคาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากรโลกจำนวน 660 ล้านคนอาจจะยังคงเผชิญกับความหิวโหย นอกจากนี้ ดัชนีราคาอาหารล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นถึง 17.9 จุด (12.6 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนก่อนหน้า

ความท้าทายของวิกฤติการณ์นี้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อมีโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และสงครามมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้โลกขาดแคลนอาหารมากกว่าเดิม อย่างกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะจบลงอย่างไร ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารของโลกไปด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรวมกันแล้วเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก โดยข้าวสาลีก็ถือเป็นวัตถุดิบหลักในครัวเรือนเสียด้วย สงครามทำให้ภาคการส่งออกของ 2 ประเทศนี้มีปัญหา ราคาข้าวสาลีทั่วโลกจึงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น ต้นทุนอื่น ๆ ก็ล้วนแพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสำหรับคนและสัตว์มีราคาพุ่งสูงขึ้นตาม จนนำไปสู่การเกิด “วิกฤติการณ์อาหารโลก” (World Food Crisis) ขึ้น ผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกต้องประสบกับความอดอยากและหิวโหย ทั้งที่อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มนุษย์จำเป็นต้องได้รับอย่างเพียงพอ นี่เป็นปัญหาระดับโลกที่คนไทยหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้น

คนไทยได้รับผลกระทบอย่างไร

โดยทั่วไป คนไทยหลาย ๆ คนรู้ว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น แต่ไม่ได้คิดกันไปถึงจุดที่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ขาดแคลนอาหารของคนทั่วโลก สาเหตุสำคัญ คือที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่ดี ภูมิประเทศเหมาะสมและภูมิอากาศเหมาะแก่การเพาะปลูก เป็นแหล่งอู่ข่าวอู่น้ำ บ้านเราจึงโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตอาหาร ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก

ด้วยความที่เราอยู่ในดินแดนที่สามารถผลิตทั้งวัตถุดิบและอาหารได้เอง ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เราจึงแทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรที่ชี้ชัดว่าโลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ ตามรายงานวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารและภาวะโภชนาการของไทย พ.ศ. 2548-2554 ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็บอกว่าประเทศไทยมีระดับความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือมีระดับความมั่นคงทางอาหารสูง

อย่างในช่วงที่ทั่วโลกต้องต่อสู้กับผลกระทบที่ได้รับจากโควิด-19 อย่างหนัก ไทยก็ยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรได้สูงขึ้น สินค้ากลุ่มอาหารของไทยยังเป็นที่ต้องการในระดับโลก มีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ก็ต้องไม่ลืมว่ามีประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้อดอยากเช่นกัน คนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงอาหารดี ๆ ที่ถูกหลักโภชนาการ หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หากดูตัวเลขรายงานตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะพบว่าตามถิ่นทุรกันดารและตามเมืองใหญ่ ๆ ยังมีความแตกต่างในเรื่องของการขาดสารอาหารและการเข้าถึงอาหารค่อนข้างมากอยู่ดี

แม้ว่าในระยะสั้น ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการผลิตอาหาร และความเพียงพอของอาหารที่จะบริโภคในประเทศ แต่ก็ต้องคำนึงปัจจัยภายนอกที่อาจเกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด จนกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของคนไทย เพราะต่อให้ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ เป็นต้นกำเนิดของอาหาร ที่สามารถผลิตอาหารบริโภคในประเทศและส่งออกทำรายได้เข้าประเทศได้ แต่ก็อาจมีสิ่งที่เป็นเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น อย่างภัยแล้ง หรือโรคระบาดในสัตว์ เช่น ปรากฏการณ์หมูแพงที่เคยเกิดขึ้น เพราะผลผลิตน้อย แต่ความต้องการมีสูง ราคาจึงพุ่งสูงตาม และในช่วงนั้นไทยเราก็ต้องลดการส่งออกลงเพื่อให้มีเหลือบริโภคเพียงพอในประเทศ

ภาครัฐผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลกจะมีบทบาทอย่างไร

อาหารไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับฉายาว่า “เป็นครัวของโลก” เลยก็ว่าได้ อย่างที่กล่าวมาว่าด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม เอื้อต่อการทำการเกษตร ผลิตวัตถุดิบเองได้หลากหลาย จนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และมีสินค้าหลายรายการที่ติดท็อป 5 ที่เป็นที่ต้องการของโลกด้วยซ้ำไป จุดเด่นนี้ทำให้ภาครัฐพยายามที่จะผลักดันครัวไทยไปสู่ครัวโลก ด้วยการทำให้บ้านเรากลายเป็นผู้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยรายใหญ่เพื่อป้อนคนทั้งโลก

เพราะอุตสาหกรรมอาหารของไทย ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เรามี “ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ” จำนวนมากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันภาพลักษณ์ของอาหารไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จัก จนนำมาสู่การสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม ประเทศไทยจะมีบทบาทอย่างมากในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารให้กับคนทั่วโลกที่กำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหาร มีอาหารไม่เพียงพอ ถึงอย่างนั้น คนในประเทศก็ต้องมีอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภคด้วย ไม่ใช่ว่าจะผลิตเพื่อส่งออกจนคนในขาดแคลน

ผู้คนทั่วทุกมุมโลกอาจจะกำลังเผชิญกับความอดอยากและหิวโหยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ แต่คนไทยยังคงไม่เห็นภาพเรื่องการขาดแคลนอาหารที่ชัดเจน เพราะเราผลิตอาหารได้เอง ทำให้ยังมีกินกันเพียงพออยู่ในเวลานี้ ในเวลานี้เพียงแต่ต้องเผชิญกับราคาที่สูงขึ้น จึงเป็นที่น่ากังวลว่าหากราคาอาหารสูงขึ้นจนแม้แต่เราเองก็รู้สึกว่าเริ่มเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้นเหมือนกับที่ที่อื่น ๆ เจอ เกิดเป็นวิกฤติการณ์อาหารในประเทศขึ้นมา ผลผลิตจากประเทศเราจะช่วยบรรเทาวิกฤติระดับโลกได้มากน้อยแค่ไหนกัน และคนไทยจะอยู่อย่างไรในวันที่อาหารในประเทศไม่เพียงพอ นำเข้าก็ไม่เพียงพอ เพราะคนทั่วโลกต่างก็ขาดแคลน