ติ่งไทยหัวใจเกา อย่าลืมลงทะเบียน K-ETA ก่อนบินเกาหลี

ข่าวดีที่สุดของบรรดาติ่งไทยหัวใจเกาหลี ที่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อไรจะเดินทางไปเกาหลีใต้หาอปป้า ตามรอยซีรีส์อีกเสียที ในที่สุดก็สิ้นสุดการรอคอย เมื่อมีประกาศจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ว่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2022 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 46 ประเทศที่ได้ฟรีวีซ่า เดินทางเข้าเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

อย่างไรก็ดี มีอีก 1 เงื่อนไขที่พ่วงมา สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการจะบินเข้าเกาหลีใต้ นั่นก็คือต้องขออนุมัติเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ K-ETA ก่อนการเดินทางให้เรียบร้อยก่อน แล้วระบบ K-ETA ที่ว่านี่คืออะไร จำเป็นมากแค่ไหนที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น Tonkit360 จะพาไปหาคำตอบ

ระบบ K-ETA คืออะไร?

ระบบ K-ETA หรือ Korea Electronic Travel Authorization คือระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทางการเกาหลีใต้ใช้คัดกรองชาวต่างชาติที่มีความประสงค์จะขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศ สำหรับประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า โดยระบบนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการโดนปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ ที่ในช่วงหลัง ๆ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย อย่างคนไทยเองก็โดนเทที่สนามบินแล้วถูกส่งกลับไม่ใช่น้อย ด้วยสาเหตุการลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือที่รู้จักกันในนามว่า “ผีน้อย” นั่นเอง

สำหรับระบบ K-ETA นี้ อันที่จริงได้เริ่มใช้งานจริงมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2021 เป็นต้นมา โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA) จำนวน 112 ประเทศ จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติการเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ K-ETA ก่อน จึงจะสามารถออกบัตรโดยสารเครื่องบินไปยังประเทศเกาหลีใต้ได้ ดังนั้น ยังไม่ต้องจองตั๋วเครื่องบิน และหากได้รับการอนุมัติ K-ETA แล้ว การอนุมัติจะมีอายุการใช้งาน 2 ปี และสามารถใช้งานได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าหนังสือเดินทางจะหมดอายุ

แต่ที่คนไทยหลายคนยังไม่รู้จักระบบนี้ เป็นเพราะว่าการเริ่มใช้งานระบบนี้เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่ทางการเกาหลีใต้สั่งปิดประเทศ งดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงชาวไทย เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยไม่สามารถเดินทางไปเกาหลีใต้ยาวมาจนถึง 1 เมษายน ที่ผ่านมา ดังนั้น นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ใครที่จะเดินทางเข้าเกาหลีใต้ จะต้องทำการสมัคร K-ETA ระบบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบิน โดยระบบนี้เป็นระบบที่ใช้แทนการกรอกใบตม. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประวัติของผู้เดินทางล่วงหน้าเท่านั้น ไม่ใช่การขอวีซ่า

และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันมีการเปิดให้บริการ K-ETA Center ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการสมัคร K-ETA โดยทางหน่วยงานจะให้คำปรึกษา (ทางอีเมล) ได้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย (และอื่น ๆ)

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบ

  • หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุ
  • รูปถ่ายหน้าตรงแบบทางการ พื้นหลังขาว
  • เอกสารการจองที่พัก ซึ่งต้องจองที่พักล่วงหน้า เพื่อใช้ยื่นตอนสมัคร K-ETA ระบุรายละเอียดที่ตั้ง เบอร์ติดต่อที่พัก ระยะเวลาที่เราจะเข้าพัก
  • บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สำหรับหักค่าธรรมเนียม 10,000 วอน (ราว ๆ 300 บาท)

ขั้นตอนในการลงทะเบียนระบบ K-ETA

  1. เข้าเว็บไซต์ K-ETA หรือที่แอปพลิเคชัน K-ETA อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนเดินทางไปเกาหลี เลือก Apply for K-ETA
  2. เลือกภูมิภาค และประเทศที่เราพักอาศัยอยู่ ติ่งไทยอย่างเราให้เลือก เลือก ASIA-PACIFIC และ Thailand (เพิ่งได้รับสิทธิ์เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน 2022)
  3. อัปโหลดรูปหน้าหนังสือเดินทาง พร้อมกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้ครบถ้วน
  4. อัปโหลดรูปถ่ายหน้าตรงแบบทางการ พื้นหลังขาว
  5. กรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์ม เช่น วัตถุประสงค์ในการเดินทาง ที่อยู่ที่จะเข้าพักในเกาหลี (ที่อยู่จริงที่จองแล้ว) ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ ฐานเงินเดือน วันเดินทาง รายละเอียดเพื่อนร่วมเดินทาง รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับคนรู้จักที่อยู่ในเกาหลีใต้ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกรอก แนะนำว่าให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการเดินทางให้ละเอียดและตรงตามความเป็นจริง จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะผ่านการอนุมัติ
  6. เว็บไซต์จะสรุปรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดที่กรอกไป เช็กความถูกต้อง เมื่อเรียบร้อยแล้ว ชำระค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน 10,000 วอน หรือประมาณ 300 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าเงิน) เพื่อยืนยันการสมัคร K-ETA โดยการสมัคร K-ETA นี้ นอกจากจะสมัครให้ตัวเองได้แล้ว ยังสามารถสมัครให้คนอื่นได้สูงสุดถึง 30 คน และจ่ายค่าธรรมเนียมพร้อมกันในครั้งเดียว
  7. รอรับเอกสารยืนยันทางอีเมลอีกครั้ง แล้วรอผลการตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้เจ้าหน้าที่เช็กข้อมูล
  8. สามารถตรวจสอบผลการสมัครเดินทางไปเกาหลี ได้ที่เว็บไซต์ K-ETA เมนู Check K-ETA Results, แอปพลิเคชัน K-ETA หรืออีเมลที่ให้ไว้ในขั้นตอนการสมัคร ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
  9. หากได้รับอนุญาต K-ETA ว่าสามารถขึ้นเที่ยวบินที่จะเดินทางไปเกาหลีได้ K-ETA จะมีอายุการใช้ 2 ปี ระยะพำนักในเกาหลีครั้งละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งสามารถเข้าเกาหลีได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถจองตั๋วเครื่องบินได้เลย และเตรียมเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องกรอกบัตรตรวจคนเข้าเมืองอีก

ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว หลังจากที่ K-ETA ได้รับการอนุมัติแล้ว จะต้องยื่นขออนุมัติ K-ETA ใหม่ เช่น เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เลขพาสปอร์ต และหากต้องการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการเข้าประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงที่พักในเกาหลีใต้ช่วงที่พำนักอยู่ที่นั่น หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการติดต่อ (หลังจากที่ได้อนุมัติแล้ว) ให้ดำเนินการแจ้งขอแก้ไขข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของ K-ETA เลือก K-ETA application results ก่อนเข้าประเทศ มิเช่นนั้นอาจถูกปฏิเสธการเข้าประเทศได้

ในกรณีที่เรายื่นข้อมูลเพื่อขออนุญาตเข้าเกาหลีใต้แบบไม่ต้องขอวีซ่า ผ่านระบบ K-ETA แล้วไม่ผ่าน ให้ติดต่อไปที่สถานทูตเกาหลีใต้ (หรือสถานกงสุล) เพื่อทำเรื่องขอวีซ่าเข้าประเทศตามปกติ

อย่างไรก็ดี ขอให้เข้าใจว่าระบบ K-ETA นี้ เป็นเพียงการลงทะเบียนเพื่อคัดกรองชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้แบบไม่ใช่วีซ่าเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เรายังต้องไปลุ้นที่ด่านนี้กันตามปกติ เพราะการที่จะได้รับอนุญาตเข้าประเทศได้หรือไม่นั้น ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญอยู่ดี ดังนั้น แม้ว่าจะลงทะเบียนระบบ K-ETA ผ่านแล้ว เราก็อาจจะถูกปฏิเสธหรือยกเลิกการเข้าประเทศได้เหมือนเดิม หากทำตัวมีพิรุธ หรือมีการตรวจสอบพบว่าส่งข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกัน ขอให้ระวังจุดนี้ไว้ด้วย เนื่องจากอาจร้ายแรงขั้นมีโทษหรือถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าประเทศ ตามที่กฎหมายของประเทศเกาหลีใต้กำหนด

ขั้นตอนยังไม่หมด ถ้าจะเข้าเกาหลีแบบไม่กักตัว

ทุกคนรู้ดีว่าความยากลำบากของยุคนี้เมื่อจะเดินทางไปต่างประเทศ คือการต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารนานขึ้น เพราะไม่เพียงแต่เอกสารทั่วไปที่เราคุ้นเคยดี แต่ยังต้องพ่วงเอาเอกสารหลักฐานการฉีดวัคซีนหรือหลักฐานผลการตรวจโควิด-19 ว่าไม่ติดเชื้อ ซึ่งหากจะเดินทางไปเกาหลีใต้โดยไม่ต้องกักตัว จำเป็นต้องลงทะเบียน Q-CODE เพื่อแจ้งประวัติการได้รับวัคซีน ว่าได้รับวัคซีนตัวไหนมาบ้าง ครบตรงตามเงื่อนไขที่ทางการเกาหลีใต้กำหนดหรือไม่ สามารถลงทะเบียนได้ที่ Q-CODE

ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เราต้องลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่เกาหลีใต้กันด้วย ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันคือกฎของบ้านเขา เขาจะรับคนเข้าประเทศก็จำเป็นต้องเข้มงวด ถ้าเราอยากเข้าบ้านเขา ก็ต้องทำตามกฎของเจ้าของบ้าน ดังนั้น เมื่อเดินทางเข้าเกาหลีใต้แล้ว ต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR อีกครั้งที่สนามบิน (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ตามคิวที่จองไว้ได้เลย ตรวจแล้ว ยืนยันผลว่าปลอดภัยถึงจะไปเที่ยวต่อได้ ลงทะเบียนตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ล่วงหน้าได้ที่ Safe2Go pass

รายละเอียดที่จำเป็นต้องกรอกในการเข้ารับการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่สนามบินนั้น ได้แก่ รายละเอียดหนังสือเดินทาง เที่ยวบินที่เดินทางไปที่ประเทศเกาหลีใต้ ช่วงเวลาที่ต้องการจองคิวเพื่อเข้ารับการตรวจ และการจ่ายค่าตรวจ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 120,000 วอน (หรือประมาณ 3,200 บาท ขึ้นอยู่กับค่าเงิน) และในกรณีที่จะพำนักอยู่ในเกาหลีใต้นานมากกว่า 6-7 วันเป็นต้นไป จะต้องทำการตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Antigen Test เพื่อยืนยันผลอีกครั้งด้วยว่ายังปลอดภัย