เทรนด์ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เขาเที่ยวกันอย่างไร

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นประเด็นที่มนุษย์เราเห็นประจักษ์ถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นและตระหนักได้ถึงการต้องลงมือทำอะไรสักอย่างมานานแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหา ผลักดันให้เป็นวาระสำคัญ รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ว่าแม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ด้วยจิตสำนึกและสองมือของเราเท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าเรานำองค์ความรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานมาบูรณาการเข้ากับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้ก็คงจะดีไม่น้อย

หากเป็นการท่องเที่ยวที่ใครหลาย ๆ คนชื่นชอบ จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถสนุกสนานและมีความสุขไปกับการท่องเที่ยว พร้อม ๆ กับการให้ความสำคัญเรื่องประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน การท่องเที่ยวลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งกลายเป็นกระแสท่องเที่ยวที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทว่าการมาของโควิด-19 ทำให้การรณรงค์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำมาก่อนหน้านี้แทบจะสูญสิ้น โดยเฉพาะเรื่องขยะ โรคระบาดทำให้แผนลดขยะไม่สามารถดำเนินการต่อได้สะดวกนัก เช่น ร้านกาแฟต่าง ๆ งดรับแก้วที่ลูกค้านำมาเอง ขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งมีได้ทั้งพลาสติกและโฟม รวมถึงขยะติดเชื้อทั้งหลายที่ปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากความพยายามป้องกันโรคและตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง และอื่น ๆ ที่สวนทางกับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งพวกเราก็เห็นแล้วว่ามันหนักหน่วงแค่ไหน

นั่นคือ โลกในยุคหลังโควิด-19 จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีแนวโน้มว่าคนจะให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะในช่วงของโรคระบาดเราล้วนร่วมกันทำลายโลกทางอ้อมโดยไม่ตั้งใจ จึงเกิดกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

ง่าย ๆ ก็คือว่าเวลาที่เราออกไปเที่ยว อะไรที่คนพอจะช่วยได้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ลดการใช้พลาสติก ลดการสร้างขยะ ปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดแอร์ให้เหมือนอยู่ที่บ้าน เลือกวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการเลือกที่พักที่มีนโยบายส่งเสริมการรักษ์โลกหรือมีใบรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืน เป็นต้น ก็มีแนวโน้มว่าคนจะพยายามช่วยทำอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับที่ Expedia บริษัทท่องเที่ยวของอเมริกา ที่เคยทำการวิจัยในเรื่องนี้ พบว่านักท่องจำนวนไม่น้อยที่ยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้การเดินทางของตนเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จริง ๆ แล้วการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการท่องเที่ยวที่สนองความต้องการของทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ คือเน้นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศของท้องถิ่น อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างพอดี ลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น รักษาและส่งเสริมความหลากหลายของธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

มีรายงานผลการสำรวจด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนประจำปี 2564 ของ Booking.com โดยรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของนักเดินทางกว่า 29,000 คนใน 30 ประเทศ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้นักเดินทางมุ่งมั่นที่จะเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวในวิถีที่ยั่งยืน ข้อมูลระบุว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของนักเดินทางชาวไทยเห็นว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนั้นสำคัญอย่างมาก โดยกว่า 78 เปอร์เซ็นต์เผยว่าผลกระทบครั้งนี้กระตุ้นให้พวกเขาเลือกที่จะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

สำหรับเว็บไซต์ของ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ได้พูดถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ว่าเป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว มีจุดประสงค์เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้คนรุ่นหลัง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปลูกจิตสำนึกให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการท่องเที่ยว ซึ่งก็มีทั้งนักท่องเที่ยว คนในท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังระบุว่าองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) มีหลักการเบื้องต้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 7 ข้อ ดังนี้

1. มีการดำเนินการจัดการภายใต้ขีดความสามารถของระบบธรรมชาติ ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และความต้องการของชุมชน

2. มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น

3. ให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว

4. เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากร และวิถีชีวิต

5. เน้นการออกแบบที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและใช้วัสดุในท้องถิ่น

6. เน้นการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนาระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ

7. เน้นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเป็นฐานการตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ