“พ.ร.ก.คนต่างด้าว 2560” สะท้อนปัญหาคนไทยไม่ชอบอยู่ในระบบ!

ภาพจาก Pixabay

จากกรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ “พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560” อย่างเป็นทางการ เพื่อหวังลดปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยได้รับผลกระทบถูกนายจ้างลอยแพจำนวนมาก

ทั้งนี้ เป็นเพราะพระราชกำหนดดังกล่าว มีการเพิ่มโทษนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมายในอัตราค่าปรับที่สูงขึ้น หลังปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 -800,000 บาท ต่อการว่าจ้างคนต่างด้าว 1 คน  จากเดิมที่บทลงโทษเป็นแบบเหมารวม ไม่ได้เจาะจงเป็นรายบุคคล

ขณะที่โทษสำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ก็สูงขึ้นเช่นกัน โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือจำคุก 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่งผลให้หลังจากบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไปได้กว่า 1 สัปดาห์ มีแรงงานต่างด้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาทยอยเดินทางกลับประเทศจำนวนมากเกือบหมื่นคนแล้ว

สำหรับ พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นั้น เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 เข้าไว้ด้วยกันเป็นฉบับเดียว  เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งของนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าวไว้อย่างชัดเจน

โดยกระทรวงแรงงานเชื่อว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวจะส่งผลดีทั้งต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว  เพื่อให้การว่าจ้างคนต่างด้าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้คุณภาพ  อีกทั้งลูกจ้างเองก็ได้รับความคุ้มครอง และมีสิทธิ์ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม หากถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง รวมถึงสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและปัจจุบันทันด่วน ส่งผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง เพราะประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 1.5 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ประจำเดือนกันยายน 2559) และแรงงานส่วนใหญ่ ไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนพ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะมองว่าส่งผลในวงกว้าง และมีบทลงโทษสูงเกินไป อาทิ กลุ่มยางพาราภาคใต้ที่ต้องใช้แรงงานต่างชาติหลายหมื่นคนในภาคธุรกิจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลเตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เพื่อชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.ก.คนต่างด้าว 2560 ในบางมาตราออกไปอีก 120 วัน  ประกอบด้วย มาตรา 101 กรณีเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 เอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่รับอนุญาต และมาตรา 122 การรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน

ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้แรงงานต่างด้าวกลับไปขออนุญาตประเทศต้นทางอย่างถูกต้อง ซึ่งหากทุกอย่างเข้าสู่ระบบได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ก็จะทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งหมด รวมถึงส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ในสายตาต่างชาติที่จับตาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้วย