อย่าให้เรื่องในโลกเสมือนตามมาหลอนคุณในการใช้ชีวิตจริง

“จะโพสอะไรต้องระวังกันละนะ ตอนนี้บริษัทในไทยเวลจะรับคนเข้าทำงาน เห็นมีทีม HR ตามเช็ค Facebook กันหลายที่เลยว่าทัศนคติโอเคไหม” เป็นข้อความของคุณ @akadej ที่ผู้เขียนทวีตไปเมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นการทวีตต่อจากคุณ อดิสรณ์ พึ่งยา @jackie14AP มิตรสหายทางทวิตภพอีกท่านหนึ่ง…อ่อต้องบอกกันก่อนว่าโซเชียลมีเดียเดียวที่ผู้เขียนใช้อยู่ คือ ทวิตเตอร์ค่ะสนใจคุยกัน ก็ที่ @swamtys

กลับมาที่ข้อความข้างต้น ต้องบอกว่าสะดุดใจไม่น้อย เพราะการที่ HR หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทในเมืองไทยหันมาให้ความสนใจกับเฟซบุ๊ค หรือ โซเชียลมีเดียของพนักงานประจำ หรือ คนที่กำลังอยู่ระหว่างสัมภาษณ์งานเพื่อดูทัศนคติส่วนตัวนั้นน่าจะเป็นแนวทางในการเช็คประวัติสำหรับยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังครองเมือง

เห็นจะเป็นเพราะปัจจุบันใครต่อใครต่างก็ระบายอารมณ์ความรู้สึกผ่านเจ้าเครื่องมือสื่อสารตัวนี้ ที่นอกจากจะง่ายเพียงแค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้ว ยังเป็นการตอบสนองด้านมืดในการระบายอารมณ์ ได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงแล้วยังมีหลายคนยังเข้าใจผิดเรื่องของ โซเชียลมีเดีย กันไม่น้อย เพราะมักจะเข้าใจว่า หน้าเพจของตนเอง หรือ กลุ่มที่เชื่อว่าตั้งเป็นกลุ่มปิดนั้น เป็น “พื้นที่ส่วนบุคคล” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าลองได้ชื่อว่าเป็นสื่อแล้วไม่มีพื้นที่ส่วนบุคคล หรือ กลุ่มปิดใดๆ อย่างไรเสียเรื่องของคุณก็ยังเป็นเรื่องสาธารณะที่ใครๆก็เข้าถึงได้อยู่ดี

ยิ่งประเภทที่ชอบโพสต์การใช้ชีวิต หรือ แม้กระทั่งโพสต์สถานะความเป็นอยู่พร้อมกับแนวคิดที่ว่า “เรื่องนี้โลกต้องรู้” ต้องระวังให้หนัก เพราะในเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อประเภทนี้ได้ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนที่เข้าถึงหน้า เพจของเราจะเป็นคนประเภทใด

มีหลายครั้งที่เราได้เห็นข่าวคนที่ชอบใช้ชีวิตแบบ “ใช้เงินที่ตนเองไม่มี ไปซื้อของที่ตนเองไม่ได้ใช้ เอาไปอวดคนที่ตนเองไม่ได้รัก” แล้วสุดท้าย ก็ถูกโจรขึ้นบ้านบ้าง ได้รับความหมั่นไส้ทั้งจากเพื่อนร่วมงานบ้าง หรือ แม้กระทั่งเจ้าหนี้แคปหน้าจอเพื่อตามทวงเงิน

และประเภทที่น่าจะสร้างความเสียหายแก่ตนเองมากที่สุดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คือ พวกที่โพสต์ เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ต้องการเหน็บคนมาส่องให้เจ็บใจ หรือ แม้กระทั่งด่าเจ้านาย หรือ เพื่อนร่วมงานตนเองผ่านทาง โซเชียลมีเดีย ที่เผลอคิดไปเองว่า “พื้นที่ของฉัน ฉันจะทำอะไรก็ได้” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ (เสียงสูง) การโพสต์กระทบถึงบุคคลที่สามโดยนำเขามาประจานเพียงฝ่ายเดียว นับเป็นการสร้างความอับอาย ซึ่งปัจจุบันมีความผิดแล้วตามกฎหมาย

และนอกจากความผิดทางกฎหมายแล้ว ยังจะกลายเป็นความผิดที่ทำให้คุณต้องเผชิญหน้ากับการถูกติดสติ๊กเกอร์ที่หน้าผากว่า “เป็นพวกชอบว่าคนอื่นลับหลัง” ซึ่งของแบบนี้ ฝ่ายบุคคลหรือ HR คงไม่อยากจะรับเอาไว้ในองค์กร หรือ ถ้าอยู่ในองค์กร อยู่แล้วโอกาสที่จะโดนเพ่งเล็งมีอยู่สูง

ทีนี้ก็มีคำถามตามมาว่า “เมื่อใช้แล้วเกิดปัญหาเลิกใช้ไปเลยดีไหม” คำตอบคือ ไม่ต้องเลิกค่ะ เพราะนี่คือการสื่อสารของคนยุคใหม่ เพียงแต่คุณจะต้องมีสติ มากหน่อยเวลาโพสต์ ต้องคิดย้อนไปหน่อยว่าถ้าโพสต์แล้วจะไปกระทบใครเข้า และ ทำให้เขาส่งต่อสิ่งที่คุณโพสต์ไปถึงใครอีกไหม ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้แล้วจะบอกว่า “โนสน โนแคร์” ก็ของบอกต่ออีกนิดว่า เวลาพูดว่า “ไม่สน” นะมันง่ายค่ะ แต่เมื่อเกิดขึ้นจริงจะรับมือกับผลกระทบที่ตามมาได้แค่ไหน

อันที่จริงแล้วโซเชียลมีเดีย ก็ถือว่าเป็นหนึ่งสื่อที่เราได้เห็นเรื่องราวบนโลกใบนี้ได้เร็วขึ้น ได้กว้างขึ้น เพียงแต่ต้องใช้มันให้ถูกทาง “เพราะโลกหมุนรอบตัวเอง ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา” ใช้สื่อกันอย่างสร้างสรรค์ดีกว่าค่ะ ทำให้คนรอบข้างมีความสุขกับสิ่งที่เราโพสต์ ทำให้เขาสบายใจเมื่อได้เห็นฟีดเราในหน้าวอลล์ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนจริง ก็จะไม่ทำร้ายชีวิตในโลกแห่งความจริงอีกต่อไป