“เทศกาลกินเจ” เวียนกลับมาอีกครั้งแล้วในปีนี้ โดยจะเริ่มในวันที่ 17 -25 ต.ค. ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่หลายคนเลือกงดรับประทานเนื้อสัตว์ตลอดระยะเวลา 9 วัน เพื่อเป็นการสร้างกุศลให้กับตัวเองด้วยการไม่เบียดเบียนสัตว์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามักจะมีการถกเถียงมาโดยตลอดว่า กินเจได้บุญจริงหรือ และบ่อยครั้งก็กลายเป็นวิวาทะระหว่างคนที่กินเจ กับคนที่ไม่กินเจด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
อันที่จริงแล้ว การกินเจ ไม่ได้หมายถึงการงดกินเนื้อสัตว์แต่เพียงอย่างเดียว แต่คำว่า “เจ” มีที่มาจากคำว่า “ไจ” ในภาษาจีน ซึ่งตามหลักพุทธศาสนาฝ่ายนิกายมหายาน หมายถึง “อุโบสถศีล” หรือการรักษาศีล 8
โดยในจำนวนศีล 8 ข้อ นอกจากเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ก็ยังเว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล คือหลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ เพิ่มเข้ามาด้วย จึงเป็นที่มาของการถือศีลกินเจที่เราได้ยินกันบ่อยๆ
แต่วิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน อาจไม่เอื้อให้ทุกคนปฏิบัติตามศีล 8 ได้ หลายคนจึงเลือกที่จะเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์แทนในช่วงเทศกาลกินเจ
ส่วนข้อถกเถียงที่มักได้ยินบ่อยๆ เมื่อถึงเทศกาลกินเจ นั่นคือ เหตุใดยังต้องกินอาหารที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ ในเมื่อคิดจะเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ แล้วอย่างนี้จะได้บุญจริงหรือ
ทั้งนี้ ตามหลักพุทธศาสนานั้น การตัดสินว่าสิ่งใดจะเป็นบุญหรือบาป อยู่ที่ “เจตนา” เป็นสำคัญ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ” (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นแหละคือกรรม) นั่นหมายความว่า กรรมหรือการกระทำขึ้นอยู่กับเจตนา
ส่วนการกินเนื้อสัตว์ในทางพุทธศาสนาจะถือเป็นบาปหรือไม่นั้น ให้ดูว่าผิดไปจากศีลข้อแรก “ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ” เว้นจากการฆ่าสัตว์หรือไม่
โดยศีลข้อนี้จะขาดต่อเมื่อล่วงพร้อมด้วยองค์ 5 คือ 1. ปาโณ สัตว์มีชีวิต 2. ปาณสญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต 3. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า 4. อุปกฺกโม เพียรเพื่อจะฆ่า และ 5. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น หากมีองค์ประกอบครบทั้ง 5 จึงเรียกว่าเป็นการผิดศีลเว้นจากการฆ่าสัตว์
ดังนั้น ข้อถกเถียงที่ว่า กินเจจะได้บุญมากกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์หรือไม่ จึงอาจสรุปได้ง่ายๆ ว่าทุกอย่างย่อมอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ เพราะหากไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ตบยุงที่มากัดตายคามือ ก็คงจะได้บาปมากกว่าได้บุญอยู่ดี!