ออมเงินอย่างไรในช่วงเศรษฐกิจหดตัว 

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานจากจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย ต่อจีดีพีอาจขยับสูงขึ้นไอยู่ในกรอบประมาณ 88-90% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย ย้อนหลังถึงปี 2546) เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการระบาดของ COVID-19 การประเมินดังกล่าวทำให้เห็นว่าการใช้เงินในช่วงเวลานี้ต้องคิดอย่างหนัก เพราะสภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวนั้นหมายถึง ตัวเลขการว่างงานจะตามมา

ขณะเดียวกันรายรับของมนุษย์เงินเดือนก็อาจจะลดลง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองให้กิจการอยู่รอด และด้วยวิกฤตแบบนี้ทำให้ผู้คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการออม ยิ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่า 77 ล้านบัญชี หรือกว่า 88% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด ที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ยิ่งทำให้ผู้คนในสังคมเห็นถึงความสำคัญในการมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉินมากขึ้น แต่ในช่วงเวลาแบบนี้หลายคนอาจจะมีข้อถกเถียงว่าจะออมเงินกันได้อย่างไรเพราะ เอาเป็นว่าถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังมีงานทำอยู่ หรือ เป็นฟรีแลนซ์ เรามีทางออกมาให้เพื่อให้คุณมีเงินออมได้ ในช่วงเวลาที่เรียกว่าเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจหดตัวแบบนี้

1. แบ่งเงินออม 500 – 1,000 บาททันทีที่ได้เงินเดือนหรือค่าจ้าง

หลายคนบอกว่าค่าใช้จ่ายตึงตัว จะเอาเงินที่ไหนมาออมได้ถ้าเช่นนั้นลองออมทีละน้อย ด้วยเงินจำนวน 500 – 1,000 บาทซึ่งปัจจุบันมีหลายธนาคารทีเปิดบัญชีเงินฝากประจำในลักษณะ 24 หรือ 36 เดือนโดยให้ฝากในจำนวนที่เท่ากัน เงินจำนวนเพียง 500 – 1,000 บาทเมื่อฝากครบกำหนด ถ้าเป็น 24 เดือนฝากเดือนละ 500 ก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ ประมาณ 12,000 บาท (ยังไม่ได้รวมดอกเบี้ย) และถ้าเป็น 1,000 บาทก็จะเพิ่มอีกเท่าเป็น 24,000 บาท (ยังไม่ได้รวมดอกเบี้ย) เงินฝากประจำแบบเท่ากันทุกเดือนที่ไม่ได้มีจำนวนมากจะทำให้คุณมีวินัยในการออม ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเกินไป และเมื่อเก็บได้ครบตามกำหนดคุณก็จะมีเงินเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้ทันที

2. ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นแล้วนำเงินส่วนนั้นไปเป็นเงินออม

ในช่วงเวลาเช่นนี้การทำ บัญชีค่าใช้จ่ายนั้นสำคัญมาก คำว่าค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นคืออะไรบ้าง เริ่มจากสมาชิกฟิตเนส ค่าใช้จ่ายรายเดือนในการดูภาพยนตร์แบบสตรีมมิ่ง แพคเกจโทรศัพท์ที่ควรปรับให้พอเหมาะกับการใช้งาน เมื่อสำรวจแล้วมีว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อลดลง จะไม่ได้มีผลกระทบใดกับตัวคุณ หรือ คุณสามารถทำอย่างอื่นทดแทนได้

เชื่อหรือไม่ว่าคุณจะมีเงินเหลืออย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ให้คณนำไปฝากประจำแบบเท่ากันทุกเดือนก็ได้หรือฝากออมทรัพย์ธรรมดาก็ได้ เมื่อได้เป็นก้อนใหญ่แล้วคุณจะเอาเงินไปลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อให้เงินนั้นงอกเงยก็ทำได้เช่นกัน

3. หารายได้พิเศษเพื่อนำเป็นเงินออม

หลายคนบอกว่าเงินเดือนตึงมากๆ ไม่สามารถหักได้เลยเรียกว่าเดือนชนเดือน ถ้าเป็นเช่นนั้นคุณต้องลุกขึ้นมาหารายได้พิเศษกันแล้ว และรายได้พิเศษนั้นไม่ได้มีแค่ทำขนมบราวนี่ขายอย่างเดียว แต่คุณสามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการรับทำงานพิเศษได้ เพราะไม่ว่าจะอาชีพไหนก็สามารถหางานพิเศษให้กับตนเองได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับความขวนขวายและความตั้งใจของคุณด้วย

การหางานพิเศษทำได้เงินเร็วที่สุดคือพนักงานตามร้านสะดวกซื้อที่สามารถเข้าเป็นกะได้และไม่กระทบกับงานประจำ หรือถ้ามีรถยนต์ส่วนตัว คุณสามารถที่จะขับหารายได้พิเศษได้ช่วงหลังเลิกงาน และวันหยุด เพราะเอาเข้าจริงทุกวันนี้การทำงานพิเศษแบบเบื้องต้น ทั้งส่งอาหาร เป็นรถรับจ้างส่งของ รถรับจ้างส่งคน เป็นงานที่ลุกขึ้นมาทำได้เลยไม่ต้องรอให้ใครให้โอกาส คุณต้องเป็นฝ่ายให้โอกาสตนเอง เมื่อคุณมีเงินเพิ่มจากรายได้ประจำ เงินส่วนนี้จะเป็นเงินออมที่ซึ่งเป็นเบาะไว้รองรับคุณในวันที่เกิดวิกฤตที่คุณคาดไม่ถึง

4. นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการปลดหนี้บัตรเครดิตเพื่อให้มีเงินออม

หลายคนบอกช่วงนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนก็ถูกลดอีก แล้วจะให้ปลดหนี้บัตรเครดิตได้อย่างไร คำตอบอยู่ต่อจากนี้ค่ะแต่คุณต้องเป็นลูกหนี้ชั้นดีของธนาคาร และไม่เคยมีประวัติผิดนัดชำระ เมื่อคุณไปขอใช้สิทธิในการพักชำระหนี้ค่าบ้าน คุณก็จะหยุดรายจ่ายก้อนใหญ่ในแต่ละเดือน และเงินจำนวนดังกล่าวที่ไม่ต้องส่งทำให้คุณมีเงินเหลือเพื่อให้ได้หายใจหายคออย่างน้อย อีก 6 – 12 เดือน

เงินจำนวนนี้คือการนำมาชำระบัตรเครดิตเสียให้เรียบร้อยด้วยการทำบัญชีหนี้ที่คุณมี และทยอยชำระจากบัตรที่มีหนี้น้อยที่สุดจนถึงมากที่สุด และงดการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตไปเลยในช่วงนี้ให้ใช้เงินสดเป็นหลัก แบบนี้จะทำให้ให้คุณปลดหนี้บัตรเครดิตได้เกือบหมด ส่วนภาระบ้านที่ต้องรับผิดชอบต่อ เมื่อพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ คุณก็ยังคงมีแรงส่งได้และยังมีเงินเหลือเก็บอีกด้วย เพราะหนี้บัตรเครดิตของคุณได้ถูกชำระไปหมดแล้วที่สำคัญช่วงเวลานี้ห้ามก่อหนี้โดยเด็ดขาด