ทำไม “ดอกมะลิ” จึงเป็นสัญลักษณ์ของ “วันแม่”

ภาพจาก Pixabay

“วันแม่” เวียนมาบรรจบอีกครั้ง เพิ่อเป็นวันสำคัญที่ให้ลูก ๆ ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีรำลึกถึงมารดาผู้ให้กำเนิด จึงเป็นวันหยุดราชการให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว

ทุกคนรู้ดี ว่าดอกมะลิถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ แต่อาจไม่เคยรู้ที่มาที่ไปว่าทำไมต้องเป็นดอกมะลิ และเริ่มใช้ดอกมะลิกันมาตั้งแต่เมื่อไร Tonkit360 จะพาทุกคนไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน

ดอกมะลิ (Jasminum spp.) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum sambac Ait. จัดเป็นพืชในวงศ์ Oleaceae ซึ่งเป็นไม้พุ่ม เป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยมาช้านาน โดยมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจุบัน และที่สำคัญ ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของความดีและความบริสุทธิ์

ในประเทศไทยมีดอกมะลิอยู่หลายพันธุ์แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน ที่คุ้นเคยดีก็น่าจะเป็นมะลิลา และมะลิซ้อน โดยมีการกล่าวถึงในวรรณคดีไทยอยู่หลายเรื่อง

ในสมัยก่อน คนไทยมักจะปลูกต้นมะลิไว้ในบริเวณบ้าน อย่างมะลิลา ลักษณะต้นจะเป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ ดอกเป็นเม็ดป้อม ๆ แบบที่ใช้ร้อยพวงมาลัย เนื่องจากวิธีการขยายพันธุ์ไม่ยาก สามารถตอนกิ่งหรือปักชำกิ่งก็ขึ้นเป็นต้น เจริญเติบโตได้ดีในที่แจ้ง มีแดดจัด และออกดอกดกเกือบทั้งปี

คนไทยนิยมใช้ดอกมะลิลาที่ปลูกไว้ตามบ้าน ลอยในน้ำเพื่อใช้ล้างหน้า หรือนำไปลอยในน้ำเย็นสำหรับดื่มแก้กระหาย กลิ่นหอมชื่นใจ อีกทั้งยังสามารถนำมาลอยในน้ำเชื่อม น้ำหวานเพื่อแต่งกลิ่นขนมได้อีกด้วย

แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยเห็นน้ำลอยดอกมะลิ แต่ต้องเคยเห็นพวงมาลัยแน่นอน ซึ่งมะลิลาจะใช้ตั้งต้นในการร้อยพวงมาลัยแทบทุกรูปแบบ และพวงมาลัยดอกมะลิก็จะไว้สำหรับบูชาพระ หรือมอบให้กับผู้ที่เคารพ ดอกมะลิจึงถือเป็นดอกไม้มงคลที่ใช้ในกิจกรรมสำคัญที่เสริมสิริมงคล

ส่วนมะลิซ้อน เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกันกับมะลิลาแต่คนละพันธุ์ ขนาดพุ่มของต้นมะลิซ้อนจะใหญ่กว่าและสูงกว่ามะลิลา ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ประมาณ 2-3 ดอก ลักษณะของดอกจะมีกลีบดอกสีขาวซ้อนกันหลายชั้นคล้ายกับกุหลาบดอกเล็ก ๆ คนไทยนิยมปลูกมะลิซ้อนเป็นไม้ดอกไม้ประดับประจำบ้าน เพราะสามารถนำมาใช้ปักแจกันประดับบ้านหรือบูชาพระได้ แต่ไม่นำไปใช้ร้อยพวงมาลัย ซึ่งมะลิซ้อนนี่เองที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ดอกมะลิไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย แต่เป็นไม้หอมที่นำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่โบราณกาล ปลูกกันจนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของไทย จนเจริญงอกงามขยายพันธุ์อย่างกว้างขวาง

จะเห็นได้ว่า ดอกมะลิ ถือเป็นดอกไม้มงคลของสังคมไทยมาช้านาน โดยใช้บูชาพระและไหว้ผู้ที่เคารพ ด้วยสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมได้นานและไกล ออกดอกตลอดทั้งปี เป็นคุณสมบัติให้ดอกมะลิกลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ด้วยการเปรียบความรักของแม่เป็นดั่งดอกมะลิที่มีสีขาวบริสุทธิ์ เหมือนความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย เป็นความรักที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีพิษมีภัย มีแต่ความชุ่มชื่นใจดั่งความหอมของดอกมะลิ และยังใช้เป็นสื่อแทนความกตัญญูจากลูก ๆ

ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเอาวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ กำหนดโดยคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้วันแม่แห่งชาติเป็นวันที่แน่นอน จึงถือเอาวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เราจึงเริ่มใช้วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 และกำหนดให้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นวันแม่ของชาติไม่ใช่วันที่ 12 สิงหาคม แต่เคยถูกกำหนดใช้มาแล้ว 3 วัน

  • วันที่ 10 มีนาคม เป็นการจัดงานวันแม่แห่งชาติขึ้นครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2486 จัดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข ณ สวนอัมพร แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีต่อมางานวันแม่จึงถูกงดไป
  • วันที่ 15 เมษายน มติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 โดยพิจารณาและมอบหมายให้สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการจัดงานวันแม่ในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวาง แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบ ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
  • วันที่ 4 ตุลาคม สมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้พยายามจัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น

กิจกรรมในวันแม่แห่งชาติ จะมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่ของชาติ

คําขวัญวันแม่ 2563

ภาพจาก Facebook สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2563 ความว่า

“รักเอยรักลูก

แม่จึงปลูกคุณธรรมให้รักษา

รดความรักพรวนความดีมีเมตตา

ลูกเติบใหญ่แทนคุณค่าของแผ่นดิน”

ข้อมูลจาก : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, Facebook สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์