เปิดคุณสมบัติ “อาสาสมัคร” ทดสอบวัคซีน COVID-19

ภาพจาก freepik.com

อย่างที่ทราบกันว่าศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ซึ่งผลการทดสอบวัคซีนในลิงเข็มที่ 2 ได้ผลดี หลังจากได้ทดลองกับหนูไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ทางศูนย์วิจัยเตรียมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ต่อไป

ทั้งนี้ วัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อ COVID-19 บางส่วน ซึ่งเมื่อฉีดเข้าร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีน เพื่อไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ที่ต่อสู้กับไวรัสได้

โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ คาดว่าจะเริ่มเปิดรับอาสาสมัครอายุ 18-60 ปี ในช่วงเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากวัคซีน CU-Cov19 ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และจะต้องผ่านมติกรรมการจริยธรรมของคณะแพทยศาสตร์ก่อนนำไปทดสอบจริงด้วย ก่อนจะนำมาทดลองกับมนุษย์ในไตรมาส 4/2563 ต่อไป

ขณะที่ในต่างประเทศก็เริ่มมีการทดสอบวัคซีนในมนุษย์เช่นกัน พร้อมทั้งเปิดรับอาสาสมัครที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการด้วย ซึ่งผู้ที่จะมาเป็นอาสาสมัครได้นั้นใช่ว่าจะเป็นกันได้ทุกคน

ใครบ้างที่ไม่สามารถเป็นอาสาสมัครได้?

นอกจากสุขภาพจะต้องแข็งแรง มีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครจะต้องไม่มีคุณสมบัติที่ขัดต่อการทดสอบด้วย ซึ่งจากเกณฑ์ของ NHS หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ ระบุไว้อย่างละเอียด ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่่ตั้งใจจะมีบุตรในช่วงดังกล่าว รวมถึงผู้ที่ต้องให้นมบุตรในช่วงของการทดสอบวัคซีนด้วย
  • ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ที่ป่วยติดเชื้อ COVID-19 อย่างรุนแรง
  • ผู้ที่เคยผ่านการทดสอบวัคซีนไวรัส Adenovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และตา
  • ผู้ที่ร่างกายอ้วนเกินไป หรือผอมเกินไป (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน)
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากต่อสัปดาห์
  • ผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
  • ผู้ที่ปัญหาเลือดออกผิดปกติ
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้อย่างรุนแรง
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหอบ หรือมีอาการป่วยรุนแรงมาเป็นเวลานาน

อาสาสมัครในไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

สำหรับในประเทศไทยนั้นขั้นตอนการวิจัยการทดลองวัคซีนในคนนั้นจะมีประมาณ 18-20 ชนิด โดยศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ระบุว่าจะแบ่งกลุ่มอายุผู้ทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 75 คน คือ กลุ่มอายุ 18-60 ปี และกลุ่มมากกว่า 60 ปี

โดยศ.นพ.เกียรติ  ระบุว่ากลุ่มแรกอายุ 18-60 ปี จะเริ่มให้วัคซีนจากโดสต่ำสุด10 ไมโครกรัม หากไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ไม่บวมหรือไม่มีไข้ จะเริ่มทดลองที่ระดับ 30 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม

หากเป็นไปตามแผน กลุ่มแรกจะทดสอบเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะทำการทดสอบกับอาสาสมัครอีก 500-1,000 คน ส่วนกลุ่มอายุ 60-80 ปี เป็นกลุ่มที่จะได้รับการทดสอบหลังจากยืนยันเรื่องความปลอดภัยจากการทดสอบกลุ่มแรกแล้ว

ข้อมูล : สภากาชาดไทยcovid19vaccinetrial.co.uk