ส่องเหตุผล ที่ทำให้คนกรุง เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัว

ทำไมคนกรุงต้องขับรถยนต์ออกมาให้รถติดมากขึ้นด้วย ทั้งที่ต่างรู้ดีว่า การจราจรในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะขยับไปเส้นไหน ก็เป็นอัมพาตจนไม่สามารถขยับไปไหนได้เหมือนกันหมด ทำให้กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเป็นเมืองรถติดที่สุดแห่งเอเชีย (ตามรายงานประเมินสภาพจราจรทั่วโลก หรือ Global Traffic Scorecard ประจำปี 2560 ของ INRIX)

แล้วเหตุใดบางคน จึงยอมตัดใจซื้อรถยนต์สักคัน เพื่อใช้เดินทางในเมืองกรุง แทนการโบกแท็กซี่ หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ถ้าอยากรู้ ลองมาดูปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อรถ เพื่อเอามาเผชิญปัญหาการจราจรบนท้องถนนกันค่ะ

ระบบขนส่งมวลชนไม่ครอบคลุม

ต้องยอมรับว่า “ระบบขนส่งมวลชน” ซึ่งเป็นบริการสาธารณะของเมืองกรุง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT, รถเมล์ (ที่บางเส้นทางมีเพียงไม่กี่สาย และไม่กี่คัน), รถตู้, เรือ, แท็กซี่ และบริการอื่น ๆ ยังไม่เพียงพอ และครอบคลุมตามความต้องการของผู้ใช้บริการ

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการที่เลือกพักอยู่ห่างจากใจกลางเมืองด้วยแล้ว ต้องทำใจเลยว่า พื้นที่ที่คุณอยู่อาจมีระบบขนส่งมวลชนให้เลือกใช้บริการน้อยลงไปด้วย อาทิ คุณพักอยู่แถวหนองจอก ตัวเลือกในการเดินทางของคุณจะมีเพียงรถตู้และรถเมล์บางสายเท่านั้น และจำนวนรถตู้หรือรถเมล์ที่วิ่งผ่านเส้นดังกล่าวก็อาจมีไม่มากนัก หากไม่อยากยืนรอนาน จำต้องเลือกใช้บริการรถแท็กซี่แทน แต่ต้องเจอค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ฉะนั้น การยอมขับรถไปทำงานเอง อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะช่วยลดขั้นตอนการเดินทางที่ต้องนั่งรถ 2-3 ต่อ และช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางอีกด้วย

ระบบขนส่งมวลชนช้า

อย่าคิดว่า การพักอาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนให้เลือกใช้บริการมากมาย จะช่วยให้การเดินทางไปทำงานหรือไปเรียนสะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากบางเส้นทางมีรถไม่พอ แถมคุณอาจต้องรอรถนานนับชั่วโมงก็ได้ หรือมีรถแต่ขึ้นไม่ได้ เพราะคนแน่นมาก

ยังไม่รวมกรณีที่ระบบขนส่งมวลชนยอดฮิต อย่างรถไฟฟ้า BTS เกิดขัดข้อง ถ้าเป็นเช่นนั้น รอลุ้นได้เลยว่า คุณจะไปถึงที่ทำงานทันไหม ยิ่งถ้าคุณต้องต่อรถอีกหลายต่อ เพราะไม่มีรถโดยสารวิ่งไปถึงที่ทำงาน จึงไม่แปลกที่สุดท้าย คุณจะเลือกขับรถไปทำงานเอง

มีความสะดวกสบายกว่า

ถ้าคุณตัดสินใจเลือกใช้บริการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำใจยอมรับให้ได้ คือ จำนวนเพื่อนร่วมทางในช่วงเวลาเร่งด่วน (ก่อนเข้างาน หรือหลังเลิกงาน) เพราะเวลาดังกล่าว คือ วินาทีแห่ง “การแย่งชิง” พื้นที่บนรถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT, รถเมล์ หรือรถตู้ เรียกว่า หากคุณขึ้นไปจับจองพื้นที่ไม่ทัน นั่นหมายความว่า คุณต้องเสียเวลารอขึ้นรถคันต่อไป แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่า รถคันถัดไปจะมีพื้นที่ว่างพอสำหรับคุณหรือไม่ และต้องใช้เวลานานเท่าใด แถมบางครั้ง รถโดยสารที่คุณขึ้นอาจไม่มีความพอดีเรื่องอุณหภูมิ เนื่องจากร้อนเพราะน้ำยาแอร์หมดหรือแอร์เย็นไป อาจทำให้การเดินทางของคุณกลายเป็นเรื่องทรมานได้

ยิ่งเข้าช่วงฤดูฝน การเดินทางของคุณยิ่งยากลำบากมากขึ้น ด้วยเวลาที่ฝนตกมักเป็นช่วงก่อนเข้างาน หรือหลังเลิกงาน และเป็นที่รู้กันดีว่า ฝนตกที่ใด การจราจรจุดนั้นจะเป็นอัมพาตนักกว่าเดิมหลายสิบเท่า อาทิ หากปกติคุณใช้เวลาเดินทางจากบริเวณตลาดนัดจตุจักรไปเซ็นทรัล ลาดพร้าว ประมาณ 10-30 นาที พอเจอฝนกระหน่ำ เวลาอาจขยับมาอยู่ที่ 1-2 ชั่วโมงก็ได้

เมื่อเปรียบเทียบแบบนี้ การใช้รถยนต์ส่วนตัว แม้ต้องติดอยู่บนท้องถนน แต่อย่างน้อย คุณได้นั่งอยู่บนรถที่มีแอร์เย็นฉ่ำ มีเพลงให้ฟัง และไม่ต้องไปยืนเบียดกับใคร ที่สำคัญถ้าคุณหิว (เพราะรถติดหนักมาก) จะโทรสั่งพิซซ่า หรือ KFC มาทานก็ได้

ความปลอดภัยติดลบ

หากคุณลองติดตามข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จะพบว่า อุบัติเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากรถโดยสารสาธารณะ อย่างรถเมล์ ที่มีข่าวอยู่บนสื่อแทบทุกเดือน และยิ่งถ้าใครเคยเจอประสบการณ์ตรง จากการเดินทางด้วยรถเมล์ที่ขับรถฉวัดเฉวียน แถมบางคัน นึกอยากจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่เลนขวาสุดก็ทำ (ถ้าไม่ลงอาจโดนทั้งคนขับและกระเป๋าบ่น) หรือรถเมล์บางคันก็ไม่ยอมจอดป้าย เพราะต้องการเร่งเครื่องหนีรถเมล์ที่ขับตามหลังมา แบบไม่สนว่า ป้ายนั้น มีผู้โดยสารต้องการลงหรือไม่

เมื่อเป็นแบบนี้ อย่าแปลกใจที่บางคนจะยอมตัดใจเป็นหนี้ระยะยาว ด้วยการซื้อรถยนต์เพื่อใช้ขับมาทำงานเอง เพราะอย่างน้อย คุณก็ไม่ต้องฝากชีวิตและความปลอดภัยในน้ำมือคนอื่น

มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว

เชื่อว่า ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้คนกรุงตัดสินใจซื้อรถยนต์ส่วนตัว อาจเพราะใช้รับ-ส่งลูก เลิกงานไม่เป็นเวลา หรือเป็นเซลล์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องเดินทางไปพบลูกค้าตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง เรียกว่า ต่างคนต่างมีเหตุผลมารองรับการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่แตกต่างกันออกไป

แต่เชื่อว่า เมื่อระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ครอบคลุมและเชื่อมต่อกันทั่วทั้งเมือง (ตรงเวลา/จอดตามป้าย/ขับขี่ปลอดภัย) หลายคนคงเปลี่ยนใจมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่าเดิม