ฉากสุดท้าย ไม่ไร้ทางเลือก

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เพื่อนสนิทของผมซึ่งเคยไปเช่าห้องอยู่ด้วยกันที่อังกฤษเดินทางกลับมาเยี่ยมเมืองไทยเป็นเวลา 3 สัปดาห์ นับว่าเป็นการหลบพายุหิมะที่เข้าโจมตีกรุงลอนดอนได้อย่างพอเหมาะพอเจาะจริงๆ

สมัยโน้นตอนที่เลือดหนุ่มรักการผจญภัยยังพลุ่งพล่าน ผมไปอยู่กับเพื่อนคนนี้แถวๆ Warm Holt Road ในย่านตะวันตกของกรุงลอนดอน เราเรียนกันไป ทำงานร้านอาหารไทยด้วย ว่างก็ไปดูบอล เป็นชีวิตวัยรุ่นที่มีความสุขที่สุด จำได้ว่าบ้านที่ผมอยู่นั้นใกล้ๆสนาม ลอฟตัส โร้ด ของทีม “ทหารเสือราชินี” ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส เรียกว่าเดินไปชมการแข่งขันไม่ไกลเกิน 10 นาที

กลับมาวันนี้เพื่อนผมมาแจ้งข่าวร้ายว่าสามีเจ้าของบ้านที่เคยให้เช่าเสียชีวิตชีวิตแล้ว สร้างความปั่นป่วนให้กับชีวิตเพื่อนผมคนนี้ยิ่งนัก

ผมยังจำได้ว่าชายผู้นี้เป็นคนแก่ใจดีมาจากเวลส์ มีสำเนียงพูดที่เวลช์มากๆ มากจนจะสื่อสารกันทีต้องรวบรวมสมาธิตั้งใจฟัง กว่าจะถอดสร้อยร้อยความได้สักคำสองคำให้พอรู้เรื่อง แต่แกเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ว่าพวกเราจะเสียงดัง กลับดึก หรือพาเพื่อนมาปาร์ตี้ที่บ้าน ไม่เคยมีสักครั้งที่จะขึ้นมาปริปากบ่น

สุดท้ายคุณลุงคนนี้เสียชีวิตด้วยวัยชราตามอายุขัย แต่ที่น่าเศร้าใจคือคนที่ยังอยู่คือภรรยาของแกครับ คู่นี้อยู่กันมา 53 ปีเท่านั้น ผมว่าเขาเจอกันเกือบทุกวัน แต่ถึงวันนี้มีคนหนึ่งต้องจากไป

เพื่อนผมบอกว่าครอบครัวนี้มีทั้งลูกสาวและลูกชาย แต่ล้วนแต่งงานแต่งการมีครอบครัวกระจายกันอยู่ไปหมด ตามการใช้ชีวิตของสังคมตะวันตก สุดท้ายคุณแม่วัยชราก็ต้องอยู่คนเดียว ตอนนี้เพื่อนผมก็เลยมีหน้าที่เพิ่มเติมคือพอกลับมาบ้านก็ต้องคอยดู คอยเช็คอาการว่าหญิงชราผู้นี้เป็นอย่างไรบ้าง

เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า หลายครั้งที่เห็นแกนั่งหงอยเหงาอยู่คนเดียว เพราะไม่รู้จะคุยกับใคร เหมือนรอให้สามีกลับมา ผมฟังแล้วก็เศร้าพลอยหดหู่ไปด้วย แต่ทำไงได้ครับ มันเป็นสัจธรรมของชีวิต ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างแล้วหล่ะครับ ว่าจะช่วยบรรเทาความเหงาความเศร้าของแกให้มันน้อยลงไปได้อย่างไร

ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจเพื่อนไปว่า ถ้ามีเวลาก็ลงไปคุยกับแกเถิด กลัวว่าแกจะซึมเศร้าหรืออยู่ไม่ได้ หรือแม้แต่คิดสั้น

เล่าเรื่องนี้เพื่อสะท้อนกลับมาที่สถานการณ์บ้านเรา ที่ถึงแม้จะมีความเป็นสังคมเดี่ยวน้อยกว่าชาวตะวันตก แต่เมืองไทยเองก็กำลังจะกลายเป็นสังคมของคนสูงอายุในเร็ววันนี้เช่นกัน

การเตรียมตัวให้คนในวัยหลังเกษียณเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรจะต้องมีการวางแผนกันเสียให้ดีตั้งแต่วันนี้ทั้งในระดับครอบครัวและในระดับรัฐเลยทีเดียว ไม่งั้นก็จะเกิดปัญหาสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาครับ

รัฐควรจะเป็นสื่อกลางหรือจัดหาตำแหน่งงานที่คนสูงอายุพอทำได้ เพื่อให้คนเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบ จะได้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าหรือการยืดเกษียณอายุเป็น 65 เพราะทุกวันนี้บางคน 60 แล้วยังดูกระฉับบกระเฉงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยังมีอีกตั้งมากมาย ประสบการณ์และความรู้ก็ยังมีค่าต่อสังคม ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไปให้เสียเปล่า

รวมทั้งการเตรียมที่พักสำหรับรองรับผู้สูงอายุที่มีคุณภาพให้มากๆ จะได้มีสังคมอยู่รวมกับคนในวัยเดียวกัน มีเพื่อนคุย มีความสุข

คนเราเกิดมากว่าจะโตจนชราไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นพลเมืองทำงานเสียภาษีให้ประเทศชาติหลายปีดีดัก ตอนแก่จะลงโรง ขอชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพมีทางเลือก เรียกว่าส่งกันให้ดีๆหน่อยจะได้มั้ยล่ะ ?