101 แมนฯยูไนเต็ด (51): เรื่องน่าทึ่งเกี่ยวกับพื้นสนามของ “โรงละครแห่งความฝัน”

สนามดี ทีมก็เล่นดีตาม เรื่องนี้ถือว่ามีมูลอยู่พอสมควรครับ และแน่นอนว่า สนามของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เองก็ต้องมีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวในวันนี้ ผมจะเล่าถึงเทคโนโลยี และระบบพื้นสนามต่างๆ ที่ทางสโมสรได้ใช้เพื่อคงสภาพสนามให้ “สวยงาม” และดูดีตลอดฤดูกาลกันว่า ทีมงานสนาม หรือ groundstaff นั้นเขาต้องทำงานกันหนักแค่ไหนบ้าง

ใช้หญ้าอะไร?

พื้นสนามของ “โอลด์ แทรฟฟอร์ด” (ภาพจาก tonkit360.com)

หญ้าของพื้นสนามที่นี่ ไม่ใช่ของปกตินะครับ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะสนามกีฬาหลายๆที่ โดยเฉพาะในอังกฤษ ก็จะใช้ระบบนี้เหมือนกัน ซึ่งระบบนี้มีชื่อว่า Desso GrassMasters จากประเทศเบลเยี่ยมครับ โดย 97 เปอร์เซ็นต์จะเป็นหญ้าแท้ที่ปลูกขึ้นใหม่หลังจากซีซั่นจบลงตอนเดือนมิถุนายน เพื่อให้หญ้าได้เจริญเติบโตทันซีซั่นใหม่ที่จะเริ่มในช่วงเดือนสิงหาคม (บางทีอาจจะก่อนด้วย เพราะจะมีเกมกระชับมิตรก่อน) ส่วนอีก 3 เปอร์เซ็นต์จะเป็น “ไนล่อนไฟเบอร์” ที่จะยึดหญ้าเหล่านี้เข้ากัน เพื่อไม่ให้พื้นสนามเกิดการฉีกขาด โดยตัวไฟเบอร์นี้จะมีการเปลี่ยนทุก 10 ซีซั่น ซึ่งทาง “ผีแดง” ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบนี้เมื่อปี 2013 หลังจากที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ลาออกไป

เครื่องฉายแสงอาทิตย์เทียม (ภาพจาก tonkit360.com)

การดูแลพื้นสนามนั้น จะใช้เครื่องฉายแสงอาทิตย์เทียมด้วยนะครับ โดยจะเน้นตรงกลางสนาม และหน้าประตู เนื่องจากส่วนตรงนี้จะมีผู้เล่นยืนบ่อย และหญ้าอาจจะ “ตาย” ได้ครับ ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวด้วยแล้ว พระอาทิตย์จะตกเร็วกว่าปกติพอสมควร ทีมงานจึงจะใช้เครื่องนี้เกือบทุกวัน โดยจะเก็บก่อนวันแข่งประมาณ 1 วัน

ฉีดสาร “สีขาวๆ” ด้วย

ภาพจาก tonkit360.com

ถ้าใครเคยมีโอกาสได้ไปสนามในวันที่ไม่มีการแข่ง ก็อาจจะเคยได้กลิ่นคล้ายๆกับ “กระเทียม” อบอวนอยู่ในสนาม บางคนอาจจะทนไม่ได้ บางคนอาจจะชอบ แต่ต้นตอของกลิ่นนี้คือสารที่ทางสโมสรนั้นใช้ เพื่อให้หญ้าเจริญเติบโต และเป็นการฆ่าหรือกันแมลงไปในตัวด้วย โดยจะมีรถแทร็กเตอร์ที่ใช้โรยสารนี้ รูปร่างจะเหมือน “ฟอง” สีขาวๆครับ

สู้หิมะ และน้ำท่วมได้ด้วยนะ

นอกจากนี้ ระบบเทคโนโลยี ที่สนามในระดับสูงสุดของอังกฤษมีกันแทบจะทุกทีม ก็คือระบบการระบายน้ำ และการละลายหิมะ ซึ่งการระบายน้ำนั้น พื้นสนามของ “โอลด์ แทรฟฟอร์ด” จะมีพื้นสนามที่ลาดเอียง (ไม่ต้องห่วงครับ เพราะมันไม่มีผลต่อการแข่งขันเลย) ซึ่งจะสังเกตได้จากจุดเริ่มเขี่ยบอล ที่พื้นสนามจะดู “สูง” กว่าจุดอื่นๆนิดหน่อย ซึ่งการทำแบบนี้ จะช่วยให้การระบายน้ำนั้นง่ายขึ้น และไม่เกิดอาการ “น้ำท่วม” หรือ เกิด “แอ่งน้ำ” บนพื้นสนามครับ ส่วนเรื่องหิมะนั้น ใต้พื้นสนามจะมีท่อน้ำไล่ไปทั้งพื้นสนามเลยครับ โดยถ้าเกิดมีหิมะเกาะพื้นสนาม ก็จะเปิดน้ำร้อนใต้สนาม เพื่อให้หิมะละลายออกไป นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมฟุตบอลอังกฤษ โดยเฉพาะทีมใหญ่ๆ ถึงสามารถทำการแข่งขันได้ โดยไม่ต้องกลัวพื้นสนามแข็งตัว

นอกจากนี้ การดูแลเอาใจใส่เรื่องพื้นสนามของทีมงาน groundstaff นั้นก็ถือว่าต้องยกย่องให้ เพราะพวกเขาทำงานกันอย่างหนัก โดยจะเข้ามาดูแลพื้นสนามกันเกือบทุกวันเพื่อให้สนามอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แถมการทำงานหนักนี้ ก็ทำให้ทีมงานได้รับการชื่นชม และรับรางวัลสนามยอดเยี่ยมจากทางพรีเมียร์ลีกอีกด้วย (ร่วมกับอาร์เซน่อล แต่เวลาไปเล่า อาจจะไม่ต้องเล่าถึงว่าอาร์เซน่อลได้ก็ได้นะ)

แต่…ถ้าสภาพอากาศมันแย่จริงๆ เหมือนช่วงหนึ่งที่เมืองแมนเชสเตอร์เจอพายุอย่างหนัก และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ต้องยกเลิกเกมยุโรปไป อันนี้ก็เกินกว่าที่เทคโนโลยี หรือการเตรียมการของสโมสรจะช่วยได้ล่ะครับ เพราะแม้ว่าสนามจะพร้อม แต่ความปลอดภัยของแฟนๆ และนักเตะที่ต้องเดินทางมาชมเกมก็สำคัญเหมือนกัน

ในตอนหน้าเรายังไม่หนีไปไกลครับ เพราะผมมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับจุดใกล้ๆกับ “พื้นสนาม” มาฝากกัน แต่จะเป็นจุดไหน ก็ต้องกลับมาติดตามกันต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ

“101 เรื่องลึกแต่ไม่ลับ” แมนฯยูไนเต็ด คือ เรื่องที่เจาะลึกของสโมสร “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่เคยร่วมงานกับสโมสรแห่งนี้เป็นเวลากว่าปีครึ่ง โดยนำเสนอเป็นประจำทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ไปจนกว่าจะครบ 101 เรื่อง

ส่วนใครที่พลาดตอนอื่นๆของ “101 เรื่องลึกแต่ไม่ลับ” แมนฯยูไนเต็ดไป สามารถเข้าไปย้อนอ่านกันได้ที่ https://tonkit360.com/tag/101-เรื่องลึกไม่ลับ