การอ่านหนังสือ เปรียบเสมือนการเปิดประตูไปสู่โลกกว้าง ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ และได้ไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน การปลูกฝังให้ลูกหลานมีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเปิดประตูไปสู่ความสำเร็จได้จากความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการอ่าน ซึ่งนี่คือสิ่งที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยปรารถนา
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตกลายเป็นอุปกรณ์ที่เด็กถือติดมือมากกว่าหนังสือ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำกิจกรรมผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเสพคอนเทนต์วิดีโอต่าง ๆ เล่นเกม หรืออะไรต่าง ๆ ซึ่งการที่เด็กใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากจนเกินไป อาจทำให้ลูกมีภาวะสมาธิสั้นและมีพัฒนาการล่าช้าได้ ซึ่งถ้าไม่อยากให้บุตรหลานของตัวเองไปถึงจุดวิกฤติเช่นนั้น ก็ควรจะเปิดโลกของการเรียนรู้ของลูกด้วย “การอ่านหนังสือ” ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กได้ดีที่สุด การอ่านนิทานให้ลูกฟังคือจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะทำอย่างไรได้อีกบ้างเพื่อให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ และติดไปจนโต
ทำให้เด็กเริ่มสนใจหนังสือด้วยหนังสือภาพ
หนังสือที่มีตัวหนังสือเยอะ ๆ อาจไม่เหมาะในการจูงใจให้เด็กอยากอ่านหนังสือ พ่อแม่จึงควรเริ่มต้นให้ลูกสนใจหนังสือด้วยหนังสือที่มีภาพประกอบโดดเด่นจะดีกว่า ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ น่าตื่นเต้น ให้เด็กอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ เสริมสร้างจินตนาการ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ฝึกการตีความจากรูปภาพ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น พ่อแม่อาจอ่านให้ฟัง ชี้ชวนให้ดูรูปภาพแล้วจินตนาการตาม หรืออาจสอดแทรกเนื้อหาอื่น ๆ เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากรู้จนต้องไปหาคำตอบจากการอ่านหนังสือเล่มอื่น เมื่อพ่อแม่เริ่มรู้แล้วว่าลูกชอบอ่านหนังสือประเภทไหน หรือสนใจอยากรู้เกี่ยวกับอะไรเป็นพิเศษ ก็สนับสนุนด้วยการหาหนังสือเรื่องที่ลูกชอบมาให้ได้เลย
ชักชวนให้อ่านสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น ทุกที่ที่มีตัวหนังสือ พ่อแม่สามารถชักชวนให้ลูกอ่านได้หมดทุกอย่างเลย พวกข้อความต่าง ๆ ที่พบเจอได้รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น ฉลากบนบรรจุภัณฑ์อาหาร คำแนะนำในการใช้สิ่งของเครื่องใช้ ถ้าพิจารณาแล้วว่าลูกน่าจะอ่านออกและคำศัพท์ต่าง ๆ ไม่ยากจนเกินไป อาจใช้วิธีให้ลูกอ่านให้ฟัง หรือเวลาออกไปเที่ยวนอกบ้านก็ชี้ชวนกันอ่านป้ายบอกทาง ป้ายโฆษณา โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ป้ายชื่อร้านค้าข้างทาง ทุกอย่างสามารถอ่านได้หมด ลูกจะรู้สึกเหมือนเป็นเกมที่น่าสนุก เพิ่มความตื่นตัวและความกระตือรือร้นที่จะเจอสิ่งใหม่ ๆ เมื่อพวกเขาเจอป้าย พวกเขาจะอ่านโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังฝึกนิสัยช่างสังเกตสิ่งรอบตัวให้กับลูกได้ด้วย
เป็นนักอ่านให้ลูกเห็น
พื้นฐานของการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้วก็คือ อยากให้เด็กเป็นแบบไหน ผู้ใหญ่นี่แหละที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้พวกเขาเห็นก่อน เพราะครอบครัวคือเบ้าหลอมสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กรักการอ่าน พ่อแม่ก็ต้องเป็นนักอ่านให้ลูกเห็นก่อนเช่นกัน ถ้าลูกเห็นพ่อแม่เป็นนักอ่านตัวยง พวกเขาจะเริ่มสนใจและอ่านหนังสือตาม แต่ถ้าพวกเขาเห็นพ่อแม่มัวแต่จดจ่อเล่นโซเชียลมีเดียหรือเกมมือถือทั้งวัน ก็คงยากที่จะบอกให้ลูกซึ่งเห็นพ่อแม่ทำแบบนี้ให้เห็นจนชินตาเกิดนิสัยรักการอ่านขึ้นมาได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นนักอ่านให้ลูกเห็นก่อน จากนั้นค่อย ๆ ชี้ชวนให้ลูกมาลองอ่านหนังสือด้วย ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับครอบครัว
ทำให้การอ่านหนังสือเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน
การอ่านจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวลูกไปจนโตได้ พ่อแม่จำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้อ่านหนังสือเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่จะต้องอ่านให้ได้เยอะ ๆ ใน 1 วัน เพียงแค่สร้างความต่อเนื่องด้วยการหยิบมาอ่านทุกวันก็พอ จะเป็นช่วงเวลาไหนก็ได้ตามแต่สะดวก โดยให้พูดคุยตกลงกันว่าอ่านขั้นต่ำเท่านั้นเท่านี้ แล้วมาพูดคุยกันว่าที่อ่านไปนั้นได้อะไรกลับมาบ้าง ซึ่งเมื่อลูกได้อ่านหนังสือจนเคยชิน มันก็จะติดเป็นนิสัย และกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันไปโดยอัตโนมัติที่จะต้องหยิบหนังสือมาอ่านโดยที่ไม่ต้องบังคับแต่อย่างใด นอกจากนี้ ควรสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกได้อยู่กับหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการมีตู้หรือชั้นหนังสือในบ้าน ก็จะเพิ่มโอกาสให้ลูกได้อ่านหนังสือมากขึ้นด้วย
ชวนพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกอ่าน
จริง ๆ แล้ว มันคือการติดตามผลอย่างแยบคายว่าลูกอ่านหนังสือได้แค่ไหน ซึ่งแค่พ่อแม่เปิดประเด็นถาม ลูกก็พร้อมที่จะเล่าให้ฟังอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ ที่อยากจะเล่าเรื่องตื่นเต้นที่ตัวเองเจอมาให้พ่อแม่ฟัง ยิ่งกับพ่อแม่ที่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ลูกจะไว้ใจ และคุ้นเคยกับการเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พ่อแม่ฟัง อย่างไรก็ตาม พ่อแม่จะต้องใจเย็น เปิดกว้างทางความคิด รับฟังและทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกเล่าให้ฟังโดยไม่ตัดสิน การชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกอ่าน เด็กจะได้ทบทวนสิ่งที่ตัวเองอ่าน ได้ทำความเข้าใจว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่อ่านบ้าง และถ้าพ่อแม่ถาม เด็กจะได้ฝึกกระบวนการคิดด้วย จะช่วยให้ลูกรักการอ่านมากขึ้น เพราะมีอะไรน่าตื่นเต้นรออยู่