Deep Talk ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างไร

คุณเคยรู้สึกว่า “ชอบ” และ “สบายใจ” ที่จะพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับใครสักคนหนึ่งบ้างหรือเปล่า? ใครสักคนที่ทำให้รู้สึกว่าเราสามารถเข้าถึงใจของเขาได้เวลาที่ได้สนทนากัน ในขณะที่เขาก็สามารถเข้าถึงใจเราด้วยเช่นกัน และยิ่งคุยกันได้ลึกซึ้งมากขึ้นเท่าไร เราก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่สามารถไปต่อได้อย่างสนิทสนมและแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิมอีก และทำให้เราอยากมีสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานกับคนผู้นี้

ปกติแล้ว เวลาที่เราได้คุยกับคนที่รู้จักกันและสนิทสนมกันประมาณหนึ่งแบบสั้น ๆ แค่ทักทายแล้วแยกย้าย มันแอบรู้สึกแปลก ๆ อยู่ไม่น้อยเลยว่าไหม รู้สึกได้ถึงความห้วนและแห้งเหือดในความสัมพันธ์ ทั้งที่เราคุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง แต่กลับทำได้เพียงพูดคุยแบบถามคำตอบคำ มันจึงมีความกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง ถ้าอย่างนั้น เราลองมาชวนเขาพูดคุยเชิงลึก แบบที่มีทั้งความหมายและมีแก่นสารดูบ้างไหม ด้วยลักษณะการพูดคุยที่เรียกว่า Deep Talk

Deep Talk คืออะไร

Deep Talk หรือ Meaningful Conversation หมายถึง การพูดคุยในเชิงลึกที่มีความหมายและมีสาระแก่นสาร โดยจะแตกต่างจาก Small Talk ซึ่งเป็นการชวนพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องสัพเหระสั้น ๆ เพื่อแสดงออกถึงมิตรภาพ ในขณะที่ Deep Talk จะเข้าถึงประเด็นเรื่องที่พูดคุยอย่างละเอียดและลึกมาก ๆ คู่สนทนามีความผูกพันทางอารมณ์ ปรากฏความไว้วางใจและความสนิทสนม รวมถึงทำให้เกิดความเข้าใจ และการเอาใจใส่ใจในความสัมพันธ์มากขึ้น จึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีความแนบแน่นและใกล้ชิดสนิทสนมกว่าเดิม

Deep Talk แม้ว่าจะเป็นการพูดคุยที่ “ลึกซึ้ง” แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องชวนกันคุยในหัวข้อที่เครียด ขึงขัง จริงจัง หรือมีเนื้อหาเชิงวิชาการอะไรแบบนั้น เพราะจริง ๆ แล้ว Deep Talk จะเป็นหัวข้ออะไรก็ได้ที่นำไปสู่การพูดคุยกันในเชิงลึกที่เค้นให้คู่สนทนาต้องขุดเอาข้อมูลทุกอย่างที่ตัวเองมีทั้งหมดออกมากาง แสดงอารมณ์ร่วมอย่างมีอรรถรส มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ประสบการณ์ รวมถึงการเปิดใจเปิดเผยตัวตนของตัวเองผ่านทัศนคติในการสนทนา หรือเอาเข้าจริง มันก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับ “เม้าท์มอย” กับเพื่อนเลย บรรยากาศแบบในวงเม้าท์มอยนี่แหละก็เป็น Deep Talk ได้ ทั้งที่ปกติเราก็คุยแต่เรื่องไม่ค่อยมีสาระกันมากกว่า ถูกไหม?

ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการ Deep Talk

ทักษะที่จะช่วยให้เรามี Deep Talk ได้ดีคือทักษะ Active Listening หรือ “ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ” ฟังที่ไม่ใช่แค่ฟัง แต่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการฟัง ฟังอย่างมีสมาธิ เพื่อให้สามารถรับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งวัจนภาษา อวัจนภาษา อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงความต้องการของผู้พูด ซึ่งมันจะมีเรื่องของการใส่ใจ การทวนประโยค และการสะท้อน

  • การใส่ใจ สิ่งสำคัญคือการสบตาและอวัจนภาษาที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่ และมีอารมณ์ร่วมไปกับเขา ใช้วัจนภาษาที่เน้นการโต้ตอบเป็นพัก ๆ
  • การทวนประโยค เวลาที่เรานั่งฟังอะไรนาน ๆ เป็นไปได้ที่เราจะเสียสมาธิ วิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราได้เรียกสติตัวเองกลับมา ไปพร้อม ๆ กับการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเรายังจดจ่ออยู่กับการสนทนา คือการทวนประโยค ทวนสิ่งที่เขาพูดมาอีกรอบ ช่วยให้เข้าถึงและลงรายละเอียดได้ลึกในเรื่องนั้น ๆ
  • การสะท้อน เป็นการสะท้อนทั้งความรู้สึกและประสบการณ์ของตนเอง หลังจากที่ได้รับฟังเรื่องราวจากอีกฝ่าย ให้คู่สนทนารู้ว่าเรามีความรู้สึกและมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่เขาพูด รวมถึงแชร์ประสบการณ์ของตนเองที่เคยมีจุดร่วมในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่าเราสามารถเข้าใจเรื่องราวของเขาได้อย่างถ่องแท้

ข้อดีของการพูดคุยแบบ Deep Talk

1. มีความผูกพันทางอารมณ์ หลาย ๆ คนน่าจะเคยมีใครสักคนที่เรารู้สึกว่าคุยกับเขาแล้วถูกคอ คุยกันได้เรื่อย ๆ แบบที่ไม่สะดุด มีความสนุกและได้อะไรเป็นข้อคิดเสมอหลังจากที่คุยกับเขา ซึ่งเราก็ชอบที่จะคุยกับเขาด้วย มันคือความผูกพันทางอารมณ์ที่ได้จากการแบ่งปันความคิด มุมมอง ความรู้สึก หรือแม้แต่บาดแผลในใจ มีส่วนให้คนทั้งคู่มีความผูกพันในระดับที่ลึก เข้าใจปัญหาของกันและกัน และสามารถให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนทางอารมณ์ให้แก่กันและกัน

2. ส่งเสริมให้เกิดความสนิทสนมและความไว้วางใจ คนเราไม่ได้พูดคุยกับใครแล้วจะรู้สึกสบายใจกับทุกคน บางคนเรารู้สึกว่าไม่สามารถที่จะเปิดใจ เปิดอกพูดคุยเรื่องส่วนตัวกับเขาได้ด้วยซ้ำ แต่จะมีแค่ไม่กี่คนที่เรารู้สึกว่าเราสามารถพูดคุยกับเขาได้ทุกเรื่องอย่างสบายใจจริง ๆ ก็เนื่องมาจากการได้เรียนรู้ทัศนคติของกันและกันในตอนที่พูดคุยนั่นเอง เราจะรู้ว่าทัศนคติของผู้ฟังแบบไหนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ให้กับเราได้ จนกระทั่งกล้าที่จะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว ค่านิยม ความเชื่อ หรือแม้แต่ความเปราะบางทางจิตใจให้กับพวกเขาฟัง

3. สร้างความเข้าใจและการเอาใจใส่ในความสัมพันธ์ เนื่องจากการพูดคุยแบบ Deep Talk สามารถทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้เข้าใจจริง ๆ และไม่ตัดสิน มันทำให้เราได้รู้จักว่าคู่สนทนาของเราเป็นคนแบบไหน พบเจออะไรมา ต้องการอะไร จึงนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดความเคารพและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

4. เปิดใจแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ไหน หากมีปัญหาที่ไม่เข้าใจกัน การเงียบไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่การเแปิดใจสื่อสารกันต่างหากที่จะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดกันได้ อย่างที่บอกว่า Deep Talk มันทำให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ง่ายขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเราได้ดีขึ้น ยอมที่จะฟังเรื่องราวจากคู่กรณีโดยไม่มีอคติได้ง่ายขึ้น จึงมีประโยชน์มากสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกัน กล้าที่จะพูดคุยประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ช่วยให้ทั้งคู่หาแนวทางในการจัดการความขัดแย้ง และความขุ่นเคืองใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5. การเติบโตไปด้วยกัน เนื่องจาก Deep Talk ช่วยกระชับความสัมพันธ์ มันสำรวจเป้าหมายในอนาคต แรงบันดาลใจ และค่านิยมของทั้งคู่ว่าตรงกันไหม สามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงกัน จะปรับจูนให้เข้ากันได้อย่างไรบ้าง

การสนทนาแบบ Deep Talk ช่วยกระชับความสัมพันธ์ได้อย่างไร

ปกติแล้ว “การสนทนา” เป็นช่องทางหนึ่งที่เรามักใช้ในการทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ซึ่งการสนทนาที่เราสามารถใช้เวลานานร่วมครึ่งชั่วโมงไปจนถึงหลายชั่วโมงได้นั้น มันย่อมเป็นการสนทนาที่ไม่ธรรมดา ถ้าให้พูดตรง ๆ ก็คือ มันเป็นการสนทนาที่ให้ความรู้สึกได้ว่า “จะคุยอะไรกันนักกันหนา” เพราะมันยากที่จะ “จบให้ลง” ยิ่งพูดคุยก็ยิ่งรับความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ พร้อม ๆ กันนั้น ยังด่ำดิ่งเข้าถึงประเด็นเรื่องที่พูดคุยได้อย่างละเอียดและลึกมาก ๆ ลึกจนทำให้บรรยายกาศในการพูดคุยกันมันไม่เหมือนกับการพูดคุยทั่วไป มันให้ความรู้สึกเหมือนการแบ่งปันบางอย่าง การได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกันผ่านความคิดรู้สึกเหมือนเชื่อมโยงกัน และรู้สึกว่าเข้าถึงใจของคู่สนทนาได้มาก ๆ

บรรยากาศที่ “เป็นกันเอง” “คุยถูกคอ” และ “เข้าถึงใจกัน” แบบนี้เองที่กลายเป็นพื้นที่ในการกระชับความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี การที่เราสามารถเข้าถึงใจของอีกฝ่ายได้นี้ ถูกเรียกว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของจิตใจอีกฝ่ายได้ แบบที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” แน่นอนว่าเมื่อคู่สนทนาสามารถเข้าถึงใจของกันและกันได้มากขึ้น มันเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม ซึ่งการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นจากการสนทนา ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ใดก็ตาม มันสามารถเชื่อมโยงไปถึง “ความสุข” ที่เพิ่มพูนขึ้นด้วย เพราะคนเรามักแสวงหาความหมายให้กับชีวิตของตัวเองอยู่ตลอด และ Deep Talk ก็สามารถช่วยเติมเต็มตรงจุดนี้ได้

ดังนั้น การสนทนาแบบ Deep Talk ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์ใดก็ตาม สามารถนำไปสู่กันขยับความสัมพันธ์ให้ได้รู้จักกันแบบแนบแน่นและสนิทใจกว่าเดิม มันมาจากการที่เราคุยกัน “ถูกคอ” และ “สนิทใจ” นั่นเอง ซึ่งหากเราสามารถคุยกับใครแบบลึกซึ้งจนรู้สึกถึงการถูกเติมเต็ม มันถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เราพบเจอจะสามารถทำให้เราพูดคุยกันในรูปแบบ Deep Talk ที่สามารถพาเราดำดิ่งไปกับการพูดคุยกันอย่างสบายใจและมีความสุขได้