ทำความรู้จัก “ห้องสมุดคนตาบอด” คลังความรู้สำหรับคนที่มองไม่เห็น

ทุกวันนี้คุณอ่านหนังสือกันมากน้อยแค่ไหน? และจากคำกล่าวที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันหลายต่อหลายครั้ง คุณคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2023 คุณไม่ค่อยจะได้อ่านหนังสือ คิดคำนวณแล้วได้ไม่ถึง 8 บรรทัดจริง ๆ หรือแทบจะทนไม่ได้ที่ต้องอ่านอะไรยาว ๆ วันนี้ Tonkit360 กับบทสัมภาษณ์คนต้นคิด อยากเชิญชวนให้คุณผู้อ่านมาอ่านอะไรที่มันอาจจะยาวสักหน่อย แต่รับรองว่าคุณจะได้ข้อคิดอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนความคิดตัวเองได้ไม่มากก็น้อย บทสัมภาษณ์ในวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราว “การอ่านหนังสือของคนตาบอด” ใช่แล้ว “คนตาบอดอ่านหนังสือ” นี่คือแง่มุมที่คุณไม่เคยรู้ ถึงชีวิตของคนที่เขามองไม่เห็น ว่าพวกเขาสนใจที่จะอ่านหนังสือกันมากน้อยแค่ไหน ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถอ่านหนังสือเองได้ด้วยซ้ำ

รวมถึงแก้ไขความเข้าใจแบบผิด ๆ ที่ว่าอ่านหนังสือให้คนตาบอด ต้องอ่านนิทานกับธรรมะให้พวกเขาฟัง แต่เปล่าเลย เพราะคนตาบอดไม่ได้มีแต่เด็ก พวกเขาจำนวนมากเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องมีความรู้รอบด้านไปประกอบอาชีพ เพราะในโลกที่พวกเขามองไม่เห็นและอ่านหนังสือเองไม่ได้ แต่พวกเขายังต้องใช้ชีวิตต่อไป พวกเขาจึงต้องหวังพึ่ง “เสียง” จากคนตาดีที่อ่านหนังสือต่าง ๆ เพื่อเป็น “แสงสว่าง” ให้พวกเขาได้รับความรู้ในโลกกว้าง แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือที่พวกเขาจะ “อ่าน” ได้ กลับมีให้เข้าถึงแค่เพียงหยิบมือเท่านั้น คิดเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือที่คนตาดีเข้าถึงได้ แต่…มีคนตาดีหลายคนไม่ชอบอ่านหนังสือ แม้เพียงแคปชันสั้น ๆ 2 บรรทัดบางคนก็ไม่อ่าน!

บทสัมภาษณ์คนต้นคิดในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก “คุณอิ๊ก ชลทิพย์ ยิ้มย่อง” ผู้ดูแลระบบบริการข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอด ณ ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิคนตาบอดไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ห้องสมุดคนตาบอด” และ “การอ่านหนังสือของคนตาบอด” เพื่อให้คนตาดีได้เรียนรู้มุมมองการใช้ชีวิตของตาบอดที่คนตาดีอย่างเรา ๆ ไม่เคยรู้มาก่อนและไม่มีทางรู้ด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุให้คนตาดีไม่เข้าใจในสิ่งที่คนตาบอดต้องการ โดยบทสัมภาษณ์ในวันนี้จะแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับห้องสมุดของคนตาบอดก่อน แล้วในบทความต่อไป จะเป็นเรื่องราวของการเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอด

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิคนตาบอดไทย

จริง ๆ แล้วตัวของห้องสมุดคนตาบอดเนี่ย ก่อนหน้าที่ตอนที่ก่อตั้งขึ้นมาไม่ได้ใช้ชื่อนี้นะคะ แล้วก็เป็นห้องสมุดที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือกับประเทศเยอรมนี ห้องสมุดของเยอรมนีเขาให้เงินทุนมาก่อตั้ง โดยจะเป็นของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย แต่พอผ่านมาระยะหนึ่ง ก็มีการก่อตั้งมูลนิธิคนตาบอดไทยขึ้น โดยอยู่ในเครือของสมาคมคนตาบอด ซึ่งหน้าที่หลักของมูลนิธิคนตาบอดก็จะดูแลเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาของคนตาบอดค่ะ พัฒนาความรู้การศึกษาของคนตาบอดทั้งในระดับการเรียนการศึกษาในภาคบังคับ แล้วก็การศึกษาตลอดชีวิต จนทำให้คนตาบอดสามารถมีอาชีพได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของมูลนิธิคนตาบอดไทยค่ะ

โดยในส่วนห้องสมุดคนตาบอด จะอยู่ภายใต้มูลนิธิคนตาบอดไทย โดยมูลนิธิเองก็จะมีองค์กรอื่น ๆ ด้วยที่อยู่ภายใต้มูลนิธิ แล้วก็มีโรงเรียน เป็นโรงเรียนสอนคนตาบอด อยู่ที่ จ.แพร่ ชื่อโรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา ที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิคนตาบอดไทยเหมือนกัน แล้วก็อีกที่จะเป็นสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ตรงนี้เขาจะดูแลเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีให้กับคนตาบอด ทั้งคนที่เพิ่งมาตาบอดหรือว่าคนที่ตาบอดมาตั้งแต่แรก ก็จะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ไม้เท้า การใช้อักษรเบรลล์ หรือว่าการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ตโฟน อะไรแบบนี้ค่ะ

ในส่วนของห้องสมุดคนตาบอด หน้าที่หลักเลยก็คือเป็นเรื่องของการผลิตสื่อค่ะ ซึ่งสื่อที่เราผลิตเป็นสื่อเสียงที่เราเรียกว่า “หนังสือเดซี่ (DAISY: Digital Accessible Information System)” ในสมัยแรกของห้องสมุดจะเป็นการบันทึกแบบเทป เครื่องเทปสมัยโบราณที่ได้เงินสนับสนุนมาจากห้องสมุดทางเยอรมนีที่เขาให้งบเรามาในช่วงต้น

พอมาตอนหลัง มันก็มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ตามเทคโนโลยี ก็ปรับมาใช้เป็นคอมพิวเตอร์ในการบันทึก ตรงนี้ก็จะมีการไรต์ลงแผ่น หลังจากนั้นมาอีก พอเริ่มมีเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ เป็นแผ่นเราก็ไม่มีแล้ว แต่จะเป็นการให้บริการผ่านทางช่องทางออนไลน์ ทางโทรคมนาคม เป็นสายด่วยข่าวสาร 1414 ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “บริการข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอด” เรียกกันสั้น ๆ ว่า 1414 plus เป็นการรวมบริการทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดเอาไว้อยู่ในนี้ ก็จะมีรายละเอียดอีกค่ะว่ามันมีบริการอะไรบ้าง ซึ่งค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน

ส่วนงานอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกัน

ภายใต้มูลนิธิคนตาบอดไทย จะมี 3 ส่วนหลัก ๆ โดยมูลนิธิจะรับหน้าที่ในการดูแลทั้งหมด มีโรงเรียนสอนคนตาบอด จังหวัดแพร่ และสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ที่เหมือนจะแยกหน้าที่กันช่วยพัฒนาค่ะ แต่วัตถุประสงค์เดียวกัน คือมุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาให้กับคนตาบอด แล้วก็นำไปสู่การมีอาชีพ เพราะอย่างเรื่องนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ในทุกวันนี้มันก็เข้ามาช่วยคนตาบอดได้เยอะมากขึ้น

แล้วก็จะเป็นในส่วนของห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติเราเองที่เราจะรับจ้างผลิตพวกสื่อ หนังสือเสียง ตรงนี้ก็จะเป็นงานจ้างภายนอก ซึ่งก็แล้วแต่ เป็นภาครัฐบ้างหรือองค์กรทั่วไปบ้าง แต่หลัก ๆ จะเป็น NGO ที่เราบริหารจัดการเอง หาเงินเอง ระดมทุนเอง อะไรแบบนี้ค่ะ ส่วนองค์กรภายนอก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ CSR เรื่องของการทำโปรเจกต์ ที่จะเป็นแบบชั่วคราว แล้วก็มีการขอทุนของแต่ละองค์กรมา

หนังสือเสียงกับหนังสือเดซี่แตกต่างกันอย่างไร

ถ้าพวกหนังสือเสียงธรรมดา ส่วนใหญ่เขาก็จะอัดเป็น mp3 แบบเป็นไฟล์ยาว ๆ ค่ะ คือถ้าดีหน่อยเขาก็จะแบ่งเป็นบท คนฟังทั่วไปก็จะฟังไปเรื่อย เพราะมันจะแบบที่ฟังตามยูทูบที่เป็นไฟล์ยาว ๆ มาเลยค่ะ คนก็จะใช้วิธีปัดเป็นวินาทีเพื่อใช้กรอ แต่หนังสือเดซี่มันจะเป็นหนังสือที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างของหนังสือทั้งหมด ในเชิงเทคนิคก็จะเป็นการเอามาบวกรวมกันระหว่างเสียงและก็ตัวหนังสือ แล้วก็ตัวไฟล์ตัวหนึ่งที่มันจะเชื่อมโยงให้มันมองเห็นกัน ระหว่างเสียงกับตัวหนังสือ

คือหนังสือเดซี่จริง ๆ ของเราเป็นไปตามหลักขององค์กรเดซี่สากล หรือ DAISY Consortium ของต่างประเทศเลยค่ะ เป็นมาตรฐานทั่วโลกที่ประเทศอื่นเขาก็ใช้กัน เราก็นำตัวเทคโนโลยีตัวนี้แหละมาใช้ให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมันจะประกอบไปด้วยหนังสือเดซี่อยู่ประมาณ 6 ชนิด แต่ 2 ชนิดที่เรานำมาใช้อยู่ในห้องสมุด คือหนังสือเดซี่ชนิด Full Text กับหนังสือเดซี่แบบ NCC Only คือแบบที่เป็นใช้โปรแกรม OBI บันทึกทั่วไป คือมันจะมีหัวข้อให้อาสาคลิกแล้วก็กดอ่าน อันนี้เขาจะเรียกว่าเป็นหนังสือแบบ NCC Only

ส่วนอีกแบบที่เป็น Full Text เราจะไม่ค่อยได้ผลิตทั่วไป แต่จะรับเป็นงานจ้าง ตรงนี้จะประกอบไปด้วยตัวอักษรด้วย รูปภาพด้วย คือทุกอย่างที่เหมือนหนังสือคนตาดีเป๊ะเลยค่ะ แล้วควบคู่ไปกับเสียง เวลาอาสาอ่านมันจะไฮไลต์ตัวอักษรไปด้วยพร้อม ๆ กัน คนที่ไม่ใช่คนตาบอด อย่างพวก LD (บกพร่องทางการเรียนรู้) คนที่เขามีความบกพร่องทางด้านการเรียบเรียงตัวอักษรอะไรแบบนี้ เขาก็สามารถที่จะดูได้ หรือคนหูหนวกฟังเสียงไม่ได้ เขาก็สามารถที่จะมองตัวอักษรได้ อันนี้มันจะเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ทำให้คนทุกประเภทเข้าถึงได้ อันนี้จะเป็นอีกอันที่เราผลิตค่ะ

สำหรับหนังสือเดซี่ที่เราผลิตทุกวันนี้ มันจะแตกต่างจากหนังสือเสียง ก็คือในจุดที่หนังสือเสียงมันจะเป็นไฟล์ยาว ๆ ที่เป็น mp3 กดฟังยาวไปเลย แต่ว่าหนังสือเดซี่ที่เราผลิต จะมีหัวข้อกำกับว่าอันนี้เป็นหน้าปก ปกใน มีคำนำ มีสารบัญ มีบทที่ 1, 2, 3 แล้วสมมติวันนี้เราอยากฟังบทที่ 1 เราก็เข้าไปฟังเนื้อหาในบทที่ 1 เสียงจะถูกมาร์กไปด้วยประโยค ก็คือเขาสามารถที่จะเลื่อนฟังทีละประโยคตามวรรคตอนของหนังสือ เหมือนหนังสือเล่มนี้เขาเว้นวรรคตรงนี้ เขาย่อหน้าตรงนี้ คนตาบอดก็สามารถที่จะเลื่อนโดยใช้ฟังก์ชันที่เขาใช้งานกันในตัวที่เขาฟังหนังสือเหล่านี้ ก็สามารถที่จะเขยิบไปได้ หรือเขาอยากจะไปฟังหน้าที่ 20 ว่ามันมีเนื้อหาอะไร คนตาบอดก็จะสามารถเปิดหนังสือเดซี่เล่มนั้นของเขาได้ แล้วเขาก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้เหมือนกับคนตาดีเลยค่ะ

ความต่างก็คือ มันจะไม่ลำบากเหมือนไฟล์ mp3 ลองนึกภาพว่าถ้าเกิดมันเล่น ๆ ไป คนตาบอดก็ไม่รู้ว่ามันนาทีที่เท่าไร แล้วถ้าเราจะฟังย้อนต้องเลื่อนกลับไปแค่ไหน มันจึงค่อนข้างใช้งานยาก มันไม่สะดวกค่ะ

บริการของห้องสมุดคนตาบอดมีอะไรบ้าง

ห้องสมุดเราไม่ได้บันทึกเสียงผ่านแอปฯ อย่างเดียวค่ะ เรามีบันทึกด้วยโปรแกรม OBI ด้วย ก็คือติดตั้งลงคอมพิวเตอร์ หนังสือเดซี่ ที่เป็นตัวแอปฯ เราให้อาสาบันทึกเสียงเสร็จแล้ว เราก็จะนำเอางานของอาสาออกมา import เข้าโปรแกรม OBI ค่ะ เพื่อที่จะจัดให้อยู่ในรูปแบบหนังสือเดซี่เหมือนกัน เพราะว่าตัวเพลย์แบ็ก ตัวที่คนตาบอดจะเข้าไปฟังกัน มันรองรับมาตรฐานตรงนี้หมดเลย ก็คือรองรับมาตรฐาน ePUB แล้วก็มาตรฐาน DAISY

เราจะมีบริการ 5 บริการค่ะ คือหนึ่ง เราจะมีสายด่วนข่าวสารให้ความรู้ผ่านโทรศัพท์อัตโนมัติ ก็คือหมายเลย 1414 คนตาบอดที่ไม่มีสมาร์ตโฟน สามารถที่จะกดหมายเลขแล้วก็โทรเข้าไปฟังได้ เวลาที่เขาไปเลือกฟังหนังสือจากห้องสมุด สื่อต่าง ๆ ที่เขาต้องการ เขาไปเลือกหนังสือเล่มที่เขาต้องการ เขาก็สามารถที่จะกด 2 เลือกหัวข้อ กด 6 ไปหัวข้อถัดไป กด 4 เพื่อที่จะไปประโยคก่อนหน้า กด 6 ไปประโยคถัดไป กด 5 เพื่อหยุดและเล่น อะไรแบบนี้ เขาก็จะมีวิธีเล่นของเขา หรือว่าเขาจะกดสัญลักษณ์ตัวนี้เพื่อที่จะไปยังหน้าต่าง ๆ ของหนังสือ เขาจะใช้งานผ่านมือถือแบบปุ่มกดหรือสมาร์ตโฟนนี่แหละค่ะ ก็สามารถกดโทรไปได้

สอง เราก็จะมีแอปพลิเคชันอีกตัวหนึ่ง ชื่อว่า TAB2Read มันเป็นแอปฯ หลักที่คนตาบอดใช้งาน ซึ่งแอปฯ TAB2Read จะรวมหนังสือทุกอย่าง ทั้งที่ผลิตด้วยโปรแกรม OBI แล้วก็ทั้งที่อ่านผ่านแอปฯ ทั้งสองที่จะมารวมกันอยู่ในนี้ค่ะ ทั้งในสายด่วนแล้วก็ใน TAB2Read

สาม อันที่จริงมันเป็นวิทยุ วิทยุของเราจริง ๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับหนังสือเสียงหรอก แต่ว่าบางทีเราจะเอาพวกบทความที่ได้จาก Read for the Blind เอามาออกอากาศผ่านวิทยุ TAB Radio ค่ะ แล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สมาชิก คือในบริการหนึ่งกับสอง เราให้เฉพาะคนตาบอดที่เขามีบัตรคนพิการค่ะ แต่ว่าวิทยุ TAB Radio เนี่ย คนตาดีก็สามารถที่จะฟังได้ มันไม่ได้มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของหนังสือ

แล้วก็บริการที่สี่ ก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของเราเหมือนกันที่เราต้องทำ ก็คือเป็นบริการเสียงบรรยายภาพค่ะ พวก Auido Description ก็คือเหมือนแบบดูหนังดูละคร คนตาดีดูภาพแล้วเข้าใจ แต่คนตาบอดเนี่ย ถ้าในหนังหรือละครไม่มีเสียงพูด เขาจะไม่เห็นภาพ เขาก็ไม่รู้หรอกว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ตรงนี้มันก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องมาจัดการพวกเสียงบรรยายภาพต่าง ๆ ให้เขาได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อันนี้เลยเป็นอีกภารกิจของเรา

แล้วก็สุดท้าย บริการที่ห้าของเรา คือแอปฯ Read for the Blind ค่ะ พอฝั่งอาสาอ่านอัปโหลดเสียงเข้าไป คนตาบอดก็ล็อกอินเข้ามาฟังได้ทันที เราไม่สามารถที่จะไปคัดกรองได้ว่าอาสาที่ไหนอ่าน หรือเราจะไปคอมเมนต์อาสา เราจะไปแนะนำให้ปรับปรุงเนี่ยค่อนข้างยาก เพราะเนื่องจากใครก็โหลดได้ แล้วถ้าใครไม่ได้ติดตามเพจ Read for the Blind ก็จะไม่รู้ข้อมูลว่าเราต้องให้เช็กหนังสือนะ หรือว่าเราต้องให้ระวังตรงนี้ มันก็ค่อนข้างที่จะหาตัวอาสาลำบาก ดังนั้น บางทีอาจจะเห็นว่ามีคนลงทะเบียนเยอะ มีคนอ่านเยอะ แต่ถามว่าได้คุณภาพไหม ก็ค่อนข้างที่จะน้อย แต่เราก็คิดซะว่าแบบเหมือนเป็นด่านหน้าที่ทำให้คนรู้จักเรื่องของการอ่าน แล้วก็ค่อยมาเชิญชวนทีหลัง ถ้าสนใจอ่านลงคอมพิวเตอร์ก็ลองศึกษาโปรแกรม OBI ดูนะ อะไรแบบนี้ค่ะ

ที่ห้องสมุดฯ มีหนังสือเดซี่กี่ประเภท ประเภทไหนเป็นที่ต้องการสูง และคนตาบอดสามารถเข้าถึงหนังสือเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าเป็นหนังสือของที่ห้องสมุดเราเอง คนตาบอดเข้าถึงได้เต็มร้อยแน่ ๆ ค่ะ แต่ถ้าหมายถึงภาพรวมหนังสือทั่วโลกหรือทั่วประเทศที่มีเนี่ย การเข้าถึงค่อนข้างที่จะน้อย หนังสือของคนตาดีที่ผลิตออกมา เราเข้าถึงได้แค่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะว่าเป็นเล่มเข้าถึงไม่ได้แน่นอน แล้วก็หนังสือเสียงแบบที่เขาทำเป็นไฟล์มาหรือว่าที่ขายตามแอปฯ ที่มันต้องสมัครสมาชิก หรือว่าตามยูทูบ คือไม่ใช่คนตาบอดทุกคนที่ใช้เทคโนโลยีได้แล้วจะเข้าถึงได้ แล้วก็ตามแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เขาขาย บางทีคนตาบอดเข้าถึงไม่ได้ เพราะว่าเรื่องของการเข้าถึงแอปฯ การเขียนแอปฯ ของเขาที่มันไม่เหมาะกับคนตาบอด คนตาบอดเลยเขาถึงลำบาก ตรงนี้ก็เลยเหมือนถูกปิดกั้นไปด้วย

สำหรับหนังสือที่เรามีในห้องสมุดเอง ทุกวันนี้มันมีอยู่แค่ประมาณหมื่นกว่าเล่ม ทั้งที่เราทำมา 40 กว่าปีแล้วค่ะ พอเทียบแล้วปริมาณมันค่อนข้างที่จะน้อยมาก แล้วก็ปีหนึ่งเราผลิตได้ไม่ถึงพันเล่มด้วยซ้ำ ไหนจะอ่านบันทึก ไหนจะเน้นคุณภาพ ไหนจะอะไรต่ออะไร กว่าจะจบ 1 เล่มมันใช้เวลา เพราะว่าเราจะเน้นเรื่องการอ่านที่ถูกต้องมากกว่า ก่อนที่อาสาจะอ่านด้วย OBI หรืออ่านด้วย Read for the Blind ด้วยเสียงของบุคคลอะค่ะ เราจะผลิตแค่ครั้งเดียว คือมันเก็บนานค่ะ 10 ปี 20 ปีก็ยังคงอยู่ ถ้าเกิดว่าอ่านไม่ชัด อ่านไม่ดี อ่านติด อ่านตะกุกตะกัก เก็บไปนาน ๆ แล้วคนฟังเขาก็จะได้รับอะไรที่มันเป็นลักษณะแบบนี้ มันก็ไม่ค่อยดี

แล้วก็ถ้าถามว่าเพียงพอไหม จริง ๆ มันไม่เพียงพอเลย แล้วก็ไม่ครอบคลุมในทุก ๆ หมวด อย่างหนังสือในห้องสมุดเราเองอะค่ะ จะถูกจัดเก็บในรูปแบบดิวอี้ (Dewey) เหมือนห้องสมุดของคนตาดี ที่เขาจะมีแบ่งเป็นหมวดความรู้ทั่วไป หมวดปรัชญา จิตวิทยา หมวดวิทยาศาสตร์ หมวดประวัติศาสตร์ การเงินการลงทุน วรรณกรรม ก็คือแยกเป็นแบบนี้เหมือนกัน เหมือนคนตาดีเดินเข้าห้องสมุดแล้วเจอชั้นหนังสือต่าง ๆ มีหนังสือให้เลือกเยอะเลย อยากอ่านอะไรก็ไปหยิบออกมา แต่คนตาบอดเข้าไปปุ๊บ ชั้นนี้ว่าง ชั้นนี้ก็ไม่มี อันนี้นิยายหนังสือเพียบ เต็มไปหมด คือหนังสือมันค่อนข้างไม่หลากหลายเท่าไรค่ะ

ส่วนสาเหตุ หนึ่งเลยอาจจะเป็นเพราะว่าอาสาสมัครไม่มีความถนัด หรือว่าอาสาสมัครก็อยากจะนิยมเทไปอ่านอะไรที่มันยอดฮิตหรืออะไรที่มันบันเทิง ส่วนใหญ่ก็มักจะมองไปแนวนั้น หรือแม้กระทั่งที่เจอจากประสบการณ์ ก็คืออาสาคิดจะอ่านหนังสือให้คนตาบอดก็ต้องอ่านนิทาน หรือว่าคิดแค่ว่าคนตาบอดเป็นน้อง ๆ เด็ก ๆ หรืออยากอ่านแต่ธรรมะให้คนตาบอดฟัง สองอันนี้จะเจอบ่อยมาก ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วคนใช้บริการของเราเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย แล้วคนที่เด็ก ๆ หน่อยก็จะเป็นมัธยม เพราะว่าประถม ตามโรงเรียนสอนคนตาบอด เขาจะเน้นให้เด็กอ่านเบรลล์มากกว่าฟังเป็นเสียง เพราะว่าเขาจะต้องฝึกอ่านเขียนเหมือนคนตาดีอะค่ะ เขาก็ต้องอ่านเบรลล์ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวอ่านเบรลล์ไม่เป็น

ในบางครั้งที่เราเจออาสาที่เขามีความสามารถเฉพาะด้านจริง ๆ เรื่องการเงินการลงทุน ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ เราก็จะแนะนำเลยว่าอ่านแบบนี้ดีกว่า หรือแม้กระทั่งกฎหมายอย่างนี้ค่ะ ตอนนี้ก็มีอาสาบางท่านถนัดกฎหมาย ก็จะแนะนำให้อ่านหนังสือกฎหมาย ก็มาเติมเต็มให้ตรงนี้มันเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ตัวที่อ่านกันเยอะแล้วยอดฮิตก็อย่างที่บอกค่ะ พวกวรรณกรรม นวนิยาย อะไรแบบนี้ ก็จริง คนทุกคนไม่ว่าตาบอดตาดีชอบทั้งนั้นแหละค่ะอะไรที่บันเทิง การท่องเที่ยว หรือนิยายอะไรมันกำลังฮิต หรือมาทำเป็นละครแล้ว อย่างมาตาลดาที่กำลังดัง ห้องสมุดเรามีหนังสือมานานแล้ว ก่อนที่จะทำเป็นละครด้วยซ้ำ อย่างตรงนี้เราได้รับความอนุเคราะห์จากนักเขียนเลย ส่งมาให้ทุกเล่มเลย ที่เป็นนามปากกาของณัฐณราน่ะค่ะ ตรงนี้เราก็จะมีเป็นหนังสือเสียงก่อนเขา คนก็ชอบมาก

หนังสือที่ยังขาดก็จะเป็นอะไรพวกนี้แหละค่ะที่มันเฉพาะทาง อย่างแนววิทยาศาสตร์บ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง อย่างเรื่องของอาชีพ พวกสุขภาพ ก็มีอ่านมาบ้างแต่ก็ไม่ได้มากมาย แลวก็ที่แหว่ง ๆ จริง ๆ ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นหลักวิชาการนิดนึงค่ะ อย่างพวกวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา พวกนี้จริง ๆ คนตาบอดเขาก็ต้องใช้นะคะ เพราะเขาต้องเรียน เขาเรียนหลักสูตรการศึกษาเหมือนคนตาดีเลยค่ะ ต้องเรียนร่วม แล้วเขาก็มีหลากหลายอาชีพที่ต่างกัน คนตาบอดบางคนเป็นนักการเมือง บางคนเป็นครูบาอาจารย์ บางคนก็เรียนกฎหมาย ก็มีเหมือนกัน เขาก็ต้องการหนังสือประเภทเหล่านี้เพื่อที่จะช่วยเสริมความรู้ให้เขา ยิ่งที่เป็นครูเนี่ยต้องใช้เยอะเลย เพราะเวลาที่เขาต้องไปสอน เขาไม่มีโอกาสที่จะไปเดินหาหนังสือแล้วก็มาอ่านเอง ก็ต้องรออาสาอ่านให้เขาอยู่ดี เพื่อที่เขาจะได้มีอะไรในหัวเวลาไปสอนเด็ก หรือค้นคว้าหรือทำวิจัย

เพราะว่าทุกวันนี้โลกมันกว้างขึ้นค่ะ คนตาบอดเขาก็ต้องเรียน บางคนไปเรียนต่างประเทศเป็นด็อกเตอร์ก็มี เขาก็ยังขาดแคลนหนังสือที่จะไปเติมความรู้ของเขาในการไปประกอบอาชีพอะค่ะ ถ้าเกิดให้สรุปว่าประเภทไหนที่อยากได้หรืออยากให้อ่านกันให้มาก จริง ๆ ก็อยากเน้นทุกประเภท เอาคนที่สนใจจะอ่านเป็นหลักว่าเราชื่นชอบอะไร มีความสามารถทางด้านไหน เราก็เอาที่เรามีความสามารถอะค่ะ หยิบหนังสือมาสักเล่มหนึ่งมาอ่าน แล้วก็หนังสือเริ่มต้นยังไม่ต้องเล่มใหญ่ ยังไม่ต้องเลือกยากก็ได้ เอาเล่มอะไรก็ได้ที่คิดว่าอาสาแฮปปี้มาก อ่านแล้วมีความสุข เลือกอันนั้นมาก่อนค่ะ เพราะว่าเล่มแรก ไหนจะต้องเรียนรู้วิธีการออกเสียง วิธีใช้อุปกรณ์ ใช้คอม ใช้แอปฯ อะไรแบบนี้ แล้วไปเจอหนังสือที่ตัวเองไม่แฮปปี้ บางทีมันอึดอัด มันทำให้อ่านไม่จบอะค่ะ

แต่บางทีเราจะมีหนังสือเล่มที่คนตาบอดฝากไว้ แต่ว่าเราจะไม่ได้ให้อาสาเอากลับไปอ่านที่บ้าน แล้วก็ ณ ทุกวันนี้ที่ห้องสมุดเอง เราก็ยังไม่ได้รับอาสา walk-in คือในช่วงโควิดอะค่ะ เราปรับเป็นรูปแบบออนไลน์หมดเลย การอบรมเราก็ยังอบรมออนไลน์ แล้วตอนนี้คนให้ความสนใจกับเรื่องออนไลน์มาก คืออ่านที่บ้านทั้งคอมแล้วก็แอปฯ อะค่ะ แล้วก็ส่งมา ตอนนี้ต่อให้สภาพทุกอย่างมันกลับมาเหมือนเดิม แต่งานออนไลน์คือมันล้นมาก เพราะว่าเราจะคุมเข้มตั้งแต่ตอนการเลือก เลือกหนังสือมา อาสาต้องมีเล่มเอง แล้วก็พอเช็กเสร็จแล้ว ไม่ซ้ำ ก็จะต้องทดลองอ่าน ส่งตัวอย่างมาก่อน เจ้าหน้าที่ต้องมาฟังให้ทุกคน คือเสียเวลาค่ะ แต่ว่ามันจะทำให้งานเสร็จสมบูรณ์ออกมาแล้วมันใช้งานได้จริง มันได้คุณภาพจริง แล้วตัวอาสาเองจะได้ฝึก จะได้รู้ด้วยว่าเราบกพร่องตรงไหนนะ ต้องแก้ตรงไหน เวลาอ่านเล่มต่อ ๆ ไปมันก็จะง่ายขึ้น

ที่ให้เลือกเล่มที่ตัวเองชื่นชอบมาก่อน แล้วพอเล่มต่อ ๆ ไปก็สบายแล้ว จะไปอ่านอะไรที่มันยากขึ้นหรือยาวขึ้น หรือเป็นวรรณกรรมชุด ก็ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะมันคล่องแล้ว แล้วก็เราจะให้เฉพาะอาสาที่มีผลงานการอ่านด้วยคอมพิวเตอร์มาแล้วเกิน 2 เล่ม และมีการอ่านอย่างต่อเนื่อง เราจะส่งหนังสือให้ หนังสือของสมาชิกค่ะ ตรงนี้จะส่งได้ เพราะว่าถือว่าอาสาไม่หนีไปไหนแน่นอน แล้วก็มีผลงานให้เห็นมาแล้ว มันได้คุณภาพ ใช้งานได้จริง แต่ในตัวของแอปฯ เองเราจะไม่ได้ให้เลย เพราะว่ามันค่อนข้างกว้างมาก แล้วเราตามตัวอาสาลำบากมากค่ะ

แล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่เราโพสต์ไว้ที่เพจของห้องสมุดคนตาบอดค่ะ ตรงนั้นจะเป็นรายชื่อหนังสือที่คนตาบอดต้องการ ซึ่งเราก็ยังไม่มีเป็นตัวเล่มเหมือนกัน เป็นที่คนตาบอดเรียกร้องมา ถ้าเกิดอาสาอยากดูเป็นไกด์ไลน์ คิดอะไรไม่ออกจริง ๆ บางทีจองมาก็มีแล้ว ซ้ำ แล้วไม่รู้จะเอาอันไหน ก็จะส่งอันนั้นให้ดูเป็นไกด์ไลน์ว่าลองไปหาตามนี้แล้วก็จองอ่าน แต่ยังไงอาสาก็ต้องมีเป็นตัวเล่มที่อาสาอยู่ดี อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าที่บอกว่าเราส่งหนังสือของเราให้ อันนั้นเป็นกรณีที่อ่านมาแล้ว 2 เล่ม อ่านด้วยคอม แล้วก็ได้ผลงานที่ใช้งานได้จริง ๆ ตรงนั้นเราถึงจะส่งทางไปรษณีย์ไปให้ ก็จะมีอาสาประจำหลายท่านนะคะที่สมัยก่อนเขาเคยมาอ่านที่นี่ แต่ว่าตอนหลังเขาอ่านที่บ้านกันหมด เขาก็มารับหนังสือไป หรือว่าเราก็ส่งไปให้ทีละเยอะ ๆ แล้วเขาก็ส่งกลับมาให้เรา แบบนั้นก็มี แต่จะดูเป็นรายบุคคลไปน่ะค่ะ จะไม่ได้ให้ทุกคน

หนังสือหมวดหมู่ไหนที่คนตาบอดสนใจเป็นพิเศษ

วรรณกรรม นวนิยายค่ะ มันฮิตมาก ทั้งจีนทั้งไทย ทุกวันนี้บางทีมันแยกประเภทไม่ได้ด้วย นิยายวาย นิยายเกาหลี ที่มันแปลมาน่ะค่ะ พวกนี้ฮิตหมดเลย แนวบู๊แอ็กชัน สืบสวนสอบสวน แนวฆาตกรรม แนวผี อะไรแบบนี้ ชอบหมด ประเภทย้อนเวลา ย้อนอดีต หรือไปประวัติศาสตร์ หรืออิงประวัติศาสตร์ คนก็ชอบเยอะ อย่างประวัติศาสตร์บางทีมันจะเคร่งเครียดมาก แต่ถ้ามันมาในรูปแบบของวรรณกรรมมันก็จะลดความเครียดลง ทำให้สนุก เขาก็ชอบที่จะเรียนรู้จากตรงนี้

จริง ๆ หนังสือเรามีครบทุกหมวด แต่ว่าหนังสือมีมากน้อยไม่เท่ากันเท่านั้นเอง ที่มันน้อย ๆ ก็พวกวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรื่องการเมืองการปกครองก็อาจจะมีเยอะนิดนึง คือจริง ๆ มันค่อนข้างหลากหลายอะค่ะ เรายึดหลักตามของดิวอี้เลยว่ามันมีอะไรเราก็มีตามนั้น เรื่องของการศึกษา เทคโนโลยีก็น้อย เพราะเทคโนโลยีมันค่อนข้างอ่านยาก คนตาบอดที่เขามีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์มีเยอะค่ะ แต่เขาจะค่อนข้างลำบากมากที่จะหาสื่อพวกนี้ไปศึกษา เพราะว่าอย่างพวกโค้ดโปรแกรมเนี่ย ถ้าอาสาอ่านผิดตัวหนึ่ง มันพังทั้งโปรแกรม ก็เลยค่อนข้างลำบาก หรือว่านวัตกรรมมันไปเร็วอะค่ะ บางทีกว่าจะอ่านจบมันเปลี่ยนเทคโนโลยีไปแล้ว แล้วก็คนที่เขาต้องเรียนเกี่ยวกับพวกโครงสร้างร่างกายอะค่ะ ที่เขาจะไปเป็นหมอนวด พวกแพทย์แผนไทย เขาก็ต้องการรายละเอียดที่มันลึกซึ้ง หรือแม้กระทั่งโหราศาสตร์ พวกตำราพรหมชาติ จริง ๆ ก็มีหมดแล้วล่ะ แต่มันค่อนข้างผลิตยากเพราะว่าอ่านยาก แต่ว่าแนวนี้ก็จะเป็นยอดฮิต

พวกท่องเที่ยวคนตาบอดก็ชอบ บอกเลยค่ะว่าคนตาบอดชอบเที่ยว แต่ว่าในเมื่อเขาไม่สามารถที่จะเที่ยวในชีวิตจริงได้เต็มร้อย เขาก็ต้องฟังการเล่าเรื่องจากประสบการณ์เที่ยวของคนอื่น มันก็เลยเหมือนว่าพออ่านหนังสือมาก ๆ มันก็ไปสร้างแรงบันดาลใจให้เขาให้เขาอยากที่จะไปเที่ยวเองบ้าง มีคนตาบอดบางคนเขาก็รวมกลุ่มกันไปเที่ยวเฉพาะคนตาบอดกันเองนี่แหละค่ะ มันก็มาจากการอ่านนี่แหละที่ทำให้เขาเกิดพลัง เพราะรู้ว่าที่สถานที่นี้มันมีอะไรบ้าง ก็เลยอยากจะไปตามรอย อยากจะไปเที่ยวกันเอง ก็เดินทางไปกันเองก็มีเหมือนกัน แล้วก็มีหลายคนเหมือนกันที่พอได้อ่านพวกวรรณกรรมหรือแนวที่เขาชื่นชอบเยอะ ๆ เขาก็กลายเป็นนักเขียนเองก็มี เหมือนอ่านเยอะแล้วมันมีอะไรในหัวเยอะ เขาก็อยากถ่ายทอด

คือมันมีทุกหมวดก็จริง แต่มันก็แหว่ง ๆ อะค่ะ มันก็จะหนักไปทางอะไรที่มันเบา ๆ พวกบันเทิง จริง ๆ อย่างพวกหนังสือแบบบุคลิกภาพ หรือว่างานวิจัย หรือการแต่งตัว เรื่องความสวยความงาม จริง ๆ คนตาบอดก็ชอบเหมือนกัน เขาชอบแต่งหน้าแต่งตัว หรือว่าเทรนด์สีแบบนี้มันมา ทรงผมแบบนี้ แล้วก็พวกอาชีพ หมวดคหกรรมหรือเกษตรศาสตร์ การเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ การดูแลน้องหมาน้องแมว อะไรพวกนี้ คนตาบอดที่เขาทำการเกษตรก็มี เขาก็ต้องศึกษาค่ะ ดิน พืช จะปลูกดอกไม้มันต้องมีความรู้ว่าต้นแบบนี้ต้องใช้ดินอะไร รายละเอียดพวกนี้เป็นสิ่งที่เขายังขาดอยู่ค่อนข้างเยอะค่ะ ถ้าให้พูดจริง ๆ มันเยอะมากนะคะ ที่มันไม่หลากหลาย

เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับเรื่องราวในแง่มุมที่คนตาดีอาจไม่เคยทราบมาก่อน แม้ว่าคนตาบอดจะมองไม่เห็น อ่านหนังสือเองไม่ได้ แต่พวกเขาก็ไม่เคยลดละความพยายามที่จะเรียนรู้โลกที่เขาไม่เห็นเลยแม้แต่น้อย เพราะชีวิตของพวกเขายังต้องดำเนินต่อไปไม่ต่างจากที่คนตาดีอย่างเราเป็น พวกเขาต้องการความรู้เพื่อรู้จักโลกกว้าง พวกเขาต้องการใช้ชีวิต พวกเขาต้องประกอบอาชีพ และที่สำคัญ พวกเขาต้องเลี้ยงดูตัวเอง ดังนั้น โปรดอย่ามองว่าพวกเขาแตกต่างเพราะความพิการ พวกเขาเพียงแค่ที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดที่ว่า คนตาดีอย่างเรา ๆ สามารถแบ่งปันและเติมเต็มให้พวกเขาได้

ในสัปดาห์หน้า บทสัมภาษณ์คนต้นคิด จะนำเสนอในประเด็นของ “การอ่านหนังสือเสียงเดซี่ให้กับคนตาบอด” รวมไปถึงการใช้แอปพลิเคชัน Read for the Blind เพื่อเป็นอาสาสมัครในการอ่านหนังสือให้คนตาบอด จะต้องทำอย่างไร และต้องปฏิบัติตามกฎอะไรบ้าง ซึ่งหากใครที่อยากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้กับคนตาบอด เป็นส่วนหนึ่งในการมอบความรู้ให้กับเพื่อน ๆ ที่มองไม่เห็น สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า