สำคัญ! การวางแผนครอบครัวในยุคหนี้ครัวเรือนพุ่ง

ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ เป็นช่วงวัยที่มนุษย์ทั่วไปจะมีการสร้างครอบครัวเพื่อดำรงเผ่าพันธ์ุของตนเอง สิ่งที่ตามมาหลังจากมีความคิดที่จะสร้างครอบครัวก็คือ “การวางแผนครอบครัว” โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงการวางแผนครอบครัว คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องของ “การคุมกำเนิด” แต่จริง ๆ แล้ว การวางแผนครอบครัวมันมีความหมายกว้างกว่านี้มาก เพราะมันยังหมายรวมถึง “การวางแผนมีลูก” ด้วย ซึ่งถ้าคู่รักเข้าใจเรื่องของการวางแผนครอบครัว ก็จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคอรบครัวให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ข้อมูลจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระบุถึงองค์ประกอบของการวางแผนครอบครัว ดังนี้

  1. การเลือกคู่ครอง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจุดเริ่มต้นของการมีครอบครัวที่ดี
  2. การเตรียมความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยและอาชีพ ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญของคู่รัก จึงต้องตกลงกันก่อนแต่งงานว่าจะอยู่อาศัยที่ใด ส่วนอาชีพนั้นควรเป็นอาชีพที่มั่นคงมีรายได้แน่นอน เพียงพอที่จะดูแลครอบครัวได้
  3. การแต่งงานเป็นประเพณีที่แสดงถึงการประกาศให้สังคมรับรู้ว่าคู่รักจะใช้ชีวิตร่วมกัน
  4. การปรับตัวเข้าหากัน เมื่ออยู่ร่วมกันการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ การที่คู่รักรู้จัก “การเสียสละ” จะช่วยพัฒนาความรักที่มีต่อกันให้ยืนยาวตลอดไป
  5. การเงิน คู่รักจำเป็นต้องตกลงกันให้ได้และวางแผนการใช้เงินให้เหมาะสมกับสภาพของตนเอง
  6. การวางแผนมีบุตรและการเว้นช่วงการมีบุตร คือการเตรียมความพร้อมสำหรับมีบุตร เรื่องสุขภาพและการเตรียมร่างกายของคู่รัก ต้องการจะมีบุตรกี่คนและเว้นระยะห่างกันนานแค่ไหน วิธีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการคุมกำเนิด การวางแผนการเงิน และการวางอนาคตบุตร ตลอดจนการเว้นช่วงการมีบุตร เพื่อให้ผู้เป็นแม่ได้พื้นฟูสุขภาพร่างกายก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ที่สำคัญก็คือไม่ควรมีบุตรเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือถี่เกินไป จะทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่นแก่ลูกได้อย่างทั่วถึง
  7. การเตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดี เพื่อให้บุตรเติบโตมาเป็นคนดี มีคุณภาพ และมีความสุข ผู้ที่เป็นพ่อแม่จะต้องต้องเตรียมตัวที่จะปฏิบัติตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีกับบุตรโดยประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดี มีหลักการในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงและการอบรมแก้ไขบุตรให้ดีต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการมีครอบครัว ไว้ 4 ประเด็น

  1. จะคิดและตัดสินใจเรื่องนี้เมื่อไรดี คำตอบคือเร็วที่สุด เมื่อประเมินแล้วว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้น่าจะยาวไกล ถึงขั้นสร้างครอบครัวด้วยกัน ซึ่งทั้งคู่ต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ตรงกัน และที่สำคัญต้องเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย
  2. สุขภาพดีของว่าที่คุณพ่อคุณแม่เมื่อตัดสินใจจะมีลูก ทั้งคู่ควรตรวจร่างกาย เพื่อเช็กประวัติทางการแพทย์ ผู้หญิงควรเสริมกรดโฟลิก โดยกินล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือน ต่อเนื่องจนอายุครรภ์ 3 เดือน ตามหลักทางการแพทย์ อายุของผู้หญิงที่เหมาะสมสำหรับการมีลูกอยู่ในช่วง 20-35 ปี
  3. วางแผนการเงิน-การงาน ค่าใช้จ่ายทั้งระยะสั้นและระยะยาวเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมตัว การทำงานเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ตั้งแต่ระหว่างที่ท้องแก่ขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงหยุดพักหลังคลอด
  4. อย่ามีลูกเพื่อแก้ปัญหาครอบครัว/ความสัมพันธ์ ความคิดความเชื่อที่ว่าการมีลูกจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีขึ้นเพราะมี “โซ่ทองคล้องใจ” ใครคิดแบบนี้ขอให้คิดใหม่ เพราะหากมีฝ่ายที่รู้สึกไม่พร้อมจะทำให้เกิดปัญหาใหม่ได้

หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ต้องวางแผนครอบครัวให้รัดกุมขึ้น

ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย “หนี้ครัวเรือน” หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยหรือเพื่อประกอบธุรกิจ โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่ ธปท. เก็บข้อมูลได้ จึงไม่รวมหนี้นอกระบบ ดังนั้น หนี้ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ทำธุรกิจ หรือแม้แต่หนี้บัตรเครดิตที่เกิดขึ้น ก็นับรวมเป็นหนี้ครัวเรือนทั้งสิ้น

โดยทั่วไปแล้วหนี้ครัวเรือนหากอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อย่าง การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร จะเป็นการช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะครัวเรือนนำเงินที่กู้ยืมไปประกอบธุรกิจต่าง ๆ ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ แต่หากหนี้ครัวเรือนมีมากจนไม่สอดคล้องกับรายได้เป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) และส่งผลต่อสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ

ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่ติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ในระดับ 86.8 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แม้จะลดลงจากระดับสูงสุดที่ 90.1 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการลดลงจากตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวหนี้ของคนไทยที่ลดลงแต่อย่างใด ถือว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขยับเพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากระดับ 59.3 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 86.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในไตรมาส3/2565

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ หากไม่ได้เร่งแก้ไขอะไรเลย หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2570 ยังจะอยู่ระดับ 84 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) กำหนดอัตราสูงสุดไว้ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้เกิดการฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการใช้จ่าย และยังจะกระทบเสถียรภาพของสถาบันการเงิน หากหนี้ครัวเรือนกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก ทั้งยังนำมาซึ่งการก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม สุขภาพจิต และอาชญากรรม

สอดคล้องกับ ข้อมูลจาก ม.หอการค้าไทย เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องหนี้ครัวเรือนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยพบว่า จำนวนหนี้สินของครัวเรือนไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทย สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 89.3 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท หนี้ในระบบ 78.9 เปอร์เซ็นต์ และหนี้นอกระบบ 21.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ ม.หอการค้าไทย ได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550

ถ้าถามว่าหนี้ครัวเรือนของของคนไทยนั้นเป็นปัญหาอย่างไร พูดง่าย ๆ ก็คือมันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ เพราะภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชากรไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะต้องแบกหนี้ที่ตนเองก่อไว้ และไม่สามารถออกจากวังวนหนี้ได้ ฉะนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัญหาเศรษฐกิจจากจุดเล็กที่สุดในสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจในระดับประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจากสถิติตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย มีข้อสังเกตว่าคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้จำนวนมากและนานขึ้น แม้แต่วัยเกษียณอายุก็ยังมีหนี้สูง สะท้อนถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย

เงินไม่พร้อม ชีวิตต้องสร้างหนี้ ไม่ขอมีลูก

ต้องยอมรับว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนตระหนักถึง “การมีลูกเมื่อพร้อม” เพราะการมีลูกในขณะที่เศรษฐกิจแย่ ค่าครองชีพสูง ค่าแรงไม่ขึ้น และสภาพสังคมแบบในปัจจุบัน มันมี “ราคามันแพง” เกินไป มีค่าใช้จ่ายมากมายสำหรับการมีลูก เรื่องของค่านิยม ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิต ที่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งคนในยุคนี้มีความคิดไปในทิศทางเดียวกันว่าการมีลูกคือภาระ และการเลี้ยงลูกคือค่าใช้จ่ายราคาแพง เพราะถ้าจะเลี้ยงลูกจริง ๆ ก็ต้องมีคุณภาพมากที่สุดทั้งด้านความเป็นอยู่และการศึกษา และเนื่องด้วยการมีลูกจะทำให้การใช้ชีวิตส่วนตัวหายไป จึงไม่คิดเรื่องการมีลูกจนกว่าความลงตัวในการใช้ชีวิตจะเข้าที่เข้าทางกว่าที่เป็นอยู่

การทำให้เด็กที่เกิดใหม่กลายเป็นเด็กที่มีคุณภาพนอกเหนือไปจากความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา เพื่อให้เด็กที่เติบโตมามีคุณภาพมากพอ การมีลูกจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวางแผนเป็นอย่างดี อีกทั้งปัจจัยทางด้านสังคมที่มีการแข่งขันสูง การบูลลี่ ปัญหาอาชญากรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ มีความคิดว่าหากคิดจะมีลูกก็จะต้องเลี้ยงลูกให้เป็นเลิศไม่น้อยหน้าคนอื่น จะต้องหาสังคมดี ๆ มีคุณภาพให้อยู่ ลำพังการอบรมสั่งสอนจากบ้านอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะเด็กอยู่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน ซึ่งการเลี้ยงจะแบบมีคุณภาพขนาดนั้นมันต้องใช้เงิน!

นอกจากนี้ “พร้อม” นอกเหนือจากเรื่องเงินที่ต้องพร้อม ยังมีเรื่องของวุฒิภาวะของคู่แต่งงานที่ต้องกลายสถานะเป็นพ่อแม่ ความรับผิดชอบต่อหนึ่งชีวิตที่เกิดใหม่ด้วย หลายครอบครัวจึงชะลอการมีลูก มีลูกยาก บางครอบครัวมีลูกน้อยลง หรือไม่ต้องการมีลูกเลย ในทางกลับกัน ประชากรเกิดใหม่ที่ประเทศไทยได้อาจจะเป็นเด็กด้อยคุณภาพที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่พร้อม ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือสภาพเศรษฐกิจ

พูดง่าย ๆ ก็คือ คนยุคนี้มองว่าถ้าคิดจะมีลูก ก็ต้องมีทุนทรัพย์ที่มากพอที่จะเลี้ยงให้เติบโตเป็นประชากรคุณภาพ โดยต้นทุนการมีลูกมันมหาศาลในสังคมยุคนี้ แต่ถ้าเงินไม่พร้อมแล้วมีลูก ก็จะเกิดการต้องกู้หนี้ยืมสินไม่จบไม่สิ้น เพราะกว่าจะเลี้ยงลูกคนหนึ่งให้โตจนเลี้ยงตัวเองได้มันไม่ใช่แค่ปีสองปี ซึ่งถ้าต้องเริ่มเป็นหนี้จากการมีลูก มันก็จะเป็นวังวนที่ต้องเป็นหนี้วนไปเรื่อย ๆ หนี้ครัวเรือนของหลาย ๆ ครอบครัวก็เริ่มมาจากจุดนี้ ถ้าคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เริ่มเป็นหนี้เพื่อจะเลี้ยงลูกให้โตสักคน มันย่อมส่งผลลัพธ์ความไม่พร้อมไปให้ตัวเด็กได้รับรู้ด้วย เด็กหลายคนรู้สึกไม่ดีที่พ่อแม่ไม่วางแผนครอบครัวก่อนมีลูก กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดในครอบครัวต่อเนื่องไปด้วย

เพราะการเป็นพ่อแม่คนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องเสียสละอะไรหลายอย่างในชีวิตเพื่อแลกกับการเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เวลา อิสระที่จะใช้ชีวิตของตนเองให้มีสนุกสนานและมีความสุข รวมถึงความกลัวต่อสภาพสังคมที่เด็กจะเกิดมาล้วนเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ ถ้าจะทำให้เด็กคนหนึ่งลืมตาดูโลก และเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แทบจะไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะอยู่รอดปลอดภัยได้จนสิ้นอายุขัย มันมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้มากเกินไป และความอยู่ยากที่พวกเขาประสบพบเจอมาเอง พวกเขาไม่อยากให้ลูกหลานตัวเองต้องแบกรับภาระหนักอึ้งเช่นเดียวกัน พวกเขารู้ดีว่าเด็กก็ไม่อยากเกิดมาเจออะไรแบบนี้ การวางแผนครอบครัวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง มันส่งผลกระทบถึงกันหมด