เปิดรายละเอียดทำพินัยกรรมที่อำเภอ “จ่ายน้อยสะดวกมาก” 

ทรัพย์สินเมื่อหามาได้แล้ว เวลาอยู่ก็มีปัญหาเวลาจากไปก็จะเป็นปัญหาสำหรับคนที่อยู่ หากไม่ได้มีการจัดการให้เรียบร้อยตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “พินัยกรรม” และเวลามีการพูดถึงพินัยกรรม หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องที่ไว้ทำตอนอายุมาก ๆ หรือรู้สึกว่าตนเองอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พินัยกรรม คือการวางแผนล่วงหน้า และสามารถจัดการด้วยตนเอง ซึ่งมีทั้งแบบที่ใช้ทนายความ และไม่ใช้ทนายความ แต่ไปจัดการเอกสารที่อำเภอ

ซึ่งรูปแบบของพินัยกรรมที่ดูจะเหมาะสมสำหรับคนทั่วไปและไม่ต้องเสียเงินจ้างทนายความ จะมีด้วยกันสามแบบคือ

1. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
2. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
3. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

ซึ่งพินัยกรรมทั้งสามประเภทนี้ จะมีฝ่ายปกครองที่อำเภอเข้าไปเกี่ยวข้อง และทำให้เอกสารจะได้รับการจัดเก็บและดำเนินการต่อโดยทายาทที่ชอบธรรม โดยพินัยกรรมทั้งสามประเภทซึ่งอำเภอ มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำนั้นมีรายละเอียดในการจัดการดังนี้

1. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

  • การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ไม่จำเป็นต้องทำในที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอเสมอไป ถ้าผู้ทำร้องขอจะทำนอกที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอก็ได้ เมื่อทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่มีความประสงค์จะขอรับเอาไปเก็บรักษาเองโดยทันทีแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอจัดเก็บรักษาพินัยกรรมนั้นไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอก็ได้
  • เมื่อความปรากฏว่าผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายแล้ว ผู้จัดการมรดกหรือผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรม หรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือผู้ซึ่งทำพินัยกรรมให้จะขอรับพินัยกรรมไปไว้ โดยแสดงหลักฐานการตายของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อสอบสวนเป็นที่พอใจแล้ว ให้นายอำเภอมอบพินัยกรรมนั้นให้ไป

สิ่งที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา
  • หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะทำพินัยกรรม
  • กรณีผู้ทำพินัยกรรมอายุเกิน 60 ปี หรือป่วยควรมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
  • พยานบุคคลอย่างน้อย 2 คน (ต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับทรัพย์สินในพินัยกรรม)
  • หลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)
  • ค่าธรรมเนียมกรณีทำในสำนักงานเขต 50 บาท คู่ฉบับ ๆ ละ 10 บาท 
  • กรณีทำนอกสำนักงานเขต 100 บาท คู่ฉบับ ๆ ละ 20 บาท

2. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ

  • บุคคลผู้เป็นทั้งใบ้และหูหนวก หรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับก็ได้ โดยให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้านายอำเภอ และพยานอย่างน้อย 2 คน ว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตน แทนการให้ถ้อยคำ
  • ถ้าผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับประสงค์ขอรับไปทันที ก็ให้นายอำเภอมอบให้ไปได้ โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อรับในสมุดทะเบียน

สิ่งที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • พินัยกรรมซึ่งใส่ซองปิดผนึกแล้ว
  • พยานบุคคล 2 คน
  • ค่าธรรมเนียมฉบับละ 20 บาท

3. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายหรือเวลามีโรคระบาดหรือสงคราม ซึ่งในพฤติการณ์เช่นนี้ ผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจหาเครื่องมือเครื่องเขียนได้ทันท่วงที หรือกว่าจะหาได้ก็ถึงตายเสียก่อน ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้

สิ่งที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • พยานบุคคล 2 คน

การตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก

สิ่งที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน 
  • พยานบุคคล 2 คน
  • ค่าธรรมเนียม 20 บาท กรณีฝากเก็บรักษาออกใบรับตามแบบ พ.ก.8 และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาท

การถอน การตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก

สิ่งที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หลักฐานการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก
  • พยานบุคคล 2 คน
  • ค่าธรรมเนียม 20 บาท กรณีฝากเก็บรักษาออกใบรับตามแบบ พ.ก.8 และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาท

การสละมรดก

สิ่งที่ต้องใช้

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • กรณีเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ต้องมีหลักฐาน คือ
    • หลักฐานของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์
    • คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
  • หลักฐานการเสียชีวิตของเจ้ามรดก
  • พยานบุคคล 2 คน
  • ค่าธรรมเนียม 20 บาท กรณีฝากเก็บรักษาออกใบรับตามแบบ พ.ก.8 และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาท

ที่มา : สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง