“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ข้อความดังกล่าวก็ยังเป็นจริงเช่นนี้เสมอมา เพราะไม่ว่าเราจะร่ำรวยเงินทอง หรือประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ มาอย่างสวยงามขนาดไหน มีความสมบูรณ์พร้อมด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่อยากจะมี แต่หากต้องมีชีวิตอยู่เป็นคนที่ขี้โรค ความเจ็บป่วยรุมเร้ารุงรังร่างกาย สามวันดีสี่วันไข้ จะทำอะไรก็ลำบากเพราะกายหยาบไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงจะทำไหว เราก็พูดได้ไม่เต็มปากนักหรอกว่าชีวิตมีความสุข
ดังนั้น เรื่องของสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ เพราะแค่เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี เราก็จะสามารถพาตัวเองไปหาความสุขจากที่ไหนก็ได้ แต่การจะเป็นคนมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เราต้องขวนขวายสร้างมันขึ้นมาเอง นี่จึงเป็น 8 ปัจจัยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ที่ถ้าเราทำได้ตามนี้ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บไปได้อีกขั้น
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เรื่องของโภชนาการ การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบหลัก 5 หมู่ เป็นเรื่องที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาเห็นจะได้ เพราะฉะนั้น เราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าการกินอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นและมันก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีกับตัวเราเอง ถึงกระนั้น หลายคนก็ไม่ได้กินอาหารที่ดีต่อร่างกายทุกวัน และบางคนก็หาได้สนใจด้วยซ้ำ โดยมักจะเลือกกินอาหารตามใจชอบ หรืออาหารที่เน้นที่ความเร่ง ความด่วนแทน ทั้งที่รู้ว่าเป็นโทษต่อร่างกายแต่ก็ชอบกิน หลายคนจึงเลือกกินอาหารแปรรูป อาหารขยะ และอาหารที่มีเกลือและน้ำตาลสูง ไม่เพียงเท่านั้น ยังไม่กินผักและผลไม้อีกต่างหาก พฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการจึงเป็นสาเหตุของโรคพื้นฐานหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน อื่น ๆ
สาเหตุสำคัญที่ว่าทำไมเราจึงควรที่จะหันมาใส่ใจกับพฤติกรรมการกินให้มากขึ้น เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะ ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามโภชนาการ เพราะอาหารที่เรากินเข้าไปจะแปรสภาพเป็นสารอาหารประเภทต่าง ๆ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ จากนั้นสารอาหารเหล่านี้จะถูกส่งไปทำหน้าที่เสริมสร้างและบำรุงร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันโรค หากขาดสารอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะแสดงออกว่าขาดสารอาหารประเภทนั้น ๆ รวมถึงทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าที่ควร และอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บด้วย
2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
ร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จึงควรให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำมากเป็นพิเศษ ซึ่งสูตรที่ใช้กันอย่างเป็นสากลคือ 8×8 นั่นคือ ดื่มน้ำปริมาณ 8 ออนซ์ให้ได้ 8 แก้วในทุกวัน ซึ่งจะเท่ากับปริมาณ 2 ลิตร หรือ 2,000 มิลลิลิตรนั่นเอง แต่จริง ๆ แล้ว หากนับรวมน้ำที่มาจากเครื่องดื่มอื่น ๆ และอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบด้วย จะต้องดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้นด้วย เพราะ 20 เปอร์เซ็นต์ของของเหลวที่เราบริโภคเข้าไปมักมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ นั่นเอง โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับเพศชายอยู่ที่ 15.5 แก้ว (3.7 ลิตร) และเพศหญิงอยู่ที่ 11.5 แก้ว (2.7 ลิตร)
ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดหรือบอกเราได้ว่า ดื่มน้ำในแต่ละวันเพียงพอแล้วหรือยัง คือ ให้สังเกตสีของ “สีของปัสสาวะ” หากดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ สีของปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อนๆ แต่ถ้าปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม นั่นหมายความว่า เราดื่มน้ำน้อยเกินไป นอกจากนี้ อาการเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ และไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ก็เป็นสัญญาณเตือนด้วยเช่นกันว่าร่างกายอยู่ในสภาวะที่เริ่มขาดน้ำแล้ว เพราะฉะนั้นควรจะหากระบอกน้ำไว้ติดตัวเสมอ เพื่อดื่มให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวัง คือ การดื่มน้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ “น้ำเป็นพิษ” ได้ ซึ่งจะทำให้โซเดียมในเลือดต่ำกว่าระดับปกติ และมีน้ำส่วนเกินคั่งค้างอยู่ในร่างกายมากเกินกว่าที่จะขับออก
3. การออกกำลังกาย
ทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายนั้นดีต่อร่างกาย ถือเป็นพฤติกรรมด้านบวกที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ประโยชน์ของการออกกำลังกายสามารถสรุปได้สั้น ๆ ว่า “ถ้าคุณเครียดหรือกำลังรู้สึกแย่ จงไปออกกำลังกาย ไปออกแรง ใช้ร่างกายปลดปล่อยพลังออกมา จะทำให้รู้สึกดีขึ้น” นั่นจึงทำให้ใครหลายคนก็คิดอยากที่จะเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างจริงจังดูบ้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะอยากลดน้ำหนัก ลดความอ้วน อยากแข็งแรง อยากสุขภาพดี อยากผ่อนคลายความเครียด ถึงกระนั้น แค่ความคิด ๆ ในหัวมันก็คงดูเหมือนง่าย แต่พอลงมือทำจริง ๆ ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอเหมือน ๆ กันก็คือ ยากที่จะบังคับให้ตนเองลุกไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
วางแผนออกกำลังกายอย่างจริงจัง เป็นเรื่องของการลงทุนเวลาที่จะใช้ในการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายให้ได้ผลและทำให้มีสุขภาพที่ดี ต้องหมั่นปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักใช้เวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ในการไปออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเข้าฟิตเนส ไปวิ่งตามสวนสาธารณะ เตะฟุตบอล ตีแบด หรือว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบและความถนัด และถ้าอยากให้กิจกรรมการออกกำลังกายกลายเป็นนิสัยที่เราคุ้นเคยและรักการออกกำลังกาย ก็อาจจะต้องพึ่งเทคนิคบางอย่างในการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่สามารถลุกขึ้นมาออกกำลังกายแบบที่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของชีวิต
4. การพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การนอน เป็นการพักผ่อนที่ร่างกายต้องการมากที่สุด ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเพศไหนวัยไหนก็ตาม การนอนหลับจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถชี้วัดได้ว่าสุขภาพร่างกายของเราจะดีหรือจะแย่ คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ทั้งนอนหลับยาก นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ตื่นมากลางดึกบ่อย ๆ หรือตื่นมาแล้วนอนต่อไม่ได้ จะรู้ดีว่าการนอนนั้นเป็นความทุกข์ทรมานมากแค่ไหน และมันก็ไม่จบอยู่แค่ความทุกข์ทรมานใจที่ข่มตาหลับไม่ได้ แต่มันทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกต่างหาก นอกจากนี้ พฤติกรรมการนอนที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการง่วงซึม และง่วงนอนตอนกลางวันได้ด้วย
ระยะเวลาการนอนที่ดี
5. การผ่อนคลายอารมณ์เพื่อไม่ให้ตนเองเครียด
ความเครียด เป็นตัวการหลักของปัญหาสุขภาพแทบจะทุกอย่าง ปัญหาคือบางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่ เลยไม่รู้ที่จะหาทางปล่อยวางมันยังไง แล้วทำไมความเครียดถึงส่งผลต่อร่างกาย คำตอบคือ เมื่อร่างกายของคุณต้องต่อสู้กับความรับผิดชอบที่หนักหน่วง หรือมีเรื่องราวในชีวิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลง หัวใจของคุณจะเต้นเร็วขึ้น ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะหลั่งมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเครียด โดยคอร์ติซอลจะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการสูบฉีดเลือด ทำให้เลือดและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น สมองและร่างกายเราจึงอยู่ในภาวะตื่นตัว ถ้าสามารถรับมือและผ่านมันไปได้อย่างไร้ปัญหา ลักษณะดังกล่าวไม่ได้ทำให้สุขภาพของคุณแย่ลง
แต่เพราะว่าบางคนไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ เมื่อความเครียดสะสมนาน ๆ เข้า จึงส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและสภาพร่างกายตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดหัวบ่อยและค่อนข้างที่จะปวดรุนแรง มีอาการนอนไม่หลับ ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ รวมถึงเพิ่มโอกาสที่จะทำให้คุณมีอาการจิตตกรุนแรงขึ้น หากเริ่มจัดการกับความรู้สึกเศร้าและหดหู่ได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะลุกลามไปจนถึงเกิดเป็นอาการของโรคซึมเศร้าได้เลย ถึงตอนนั้นทุกอย่างจะสายเกินแก้ เพราะร่างกายของคุณจะยากที่จะหาวิธีผ่อนคลายได้เอง ต้องปรึกษาแพทย์ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ตัวเองมีความเครียดเรื้อรังยาวนาน ควรรีบหาวิธีบำบัดความเครียด
6. อย่าละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี
ร่างกายของเราน่ะถูกใช้งานอยู่ทุกวัน ๆ หนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่คน โดยเฉพาะคนวัยทำงานนี่แหละ มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ใช้ร่างกายอย่างหนักมาโดยตลอด เพราะคิดว่าตอนนี้อายุยังน้อย ร่างกายยังไหว ฉันยังแข็งแรงดี ไม่น่าจะเป็นอะไรง่าย ๆ บอกเลยว่าเป็นความคิดของการใช้ชีวิตที่ประมาทมาก คนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้มักจะไม่ได้ใช้ร่างกายตามใจชอบแค่ปีหรือสองปี แต่สะสมเป็นระยะเวลานานหลายปีทีเดียว พอยิ่งมีอายุมากขึ้น ความสึกหรอของอวัยวะต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นตาม ประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเองของร่างกายก็ลดลง ร่างกายเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นตามไปด้วย ทีนี้แหละที่จะเริ่มโอดโอยกับการใช้ร่างกายเปลืองช่วงหนุ่มสาว
ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ “การตรวจสุขภาพประจำปี” มีความสำคัญและจำเป็น เพราะเป็นการค้นหาความเสี่ยงและความเสื่อมของร่างกายในเบื้องต้น ถ้าหากตรวจพบความผิดปกตินั้นได้เร็ว ก็จะสามารถตรวจเพิ่มเติม ป้องกัน และรักษาได้แทบจะทันที โรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังนั้น พบเร็ว รักษาไว โอกาสหายเป็นปกติก็ย่อมมากกว่า โอกาสที่จะมีอายุยืนขึ้นก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยคิดที่จะตรวจสุขภาพประจำปี รู้อีกทีคือตอนที่โรคแสดงอาการ โดนโรคร้ายกัดกินไปครึ่งตัวแล้ว แทบจะรักษาอะไรไม่ได้ กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้แม้แต่กับคนที่ตอนหนุ่มสาวดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี ฉะนั้น พวกที่ใช้ร่างกายสมบุกสมบันไม่ดูแลรักษาความเสี่ยงก็สูงขึ้นตาม จึงต้องรีบรู้ให้ได้โดยเร็ว
7. หลีกเลี่ยง/ลด/เลิก พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี
เลิกได้ควรรีบเลิกนะ สารพัดพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายเอาเสียเลยน่ะ มีแค่ตัวเราเองเท่านั้นแหละที่จะจัดการกับนิสัยไม่ดีเหล่านี้ได้ เพราะพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีที่เราทำมันทุกวันเช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกันจนเป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัว วันหนึ่งมันอาจกลายเป็นสิ่งที่ฆ่าเราให้ตายทางอ้อมได้เลย ซึ่งอันที่จริงแล้วค่อนข้างเชื่อได้เลยว่าเราต่างรู้ดีอยู่แล้วว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไหนที่ไม่ดีต่อสุขภาพของตนเอง ทั้งนิสัยการกิน การดื่ม การขยับเขยื้อนร่างกาย แบบที่รู้ว่าการกินของทอด ของมัน ๆ มากเกินไปทำให้อ้วน แต่มันอร่อยก็เลยเลิกกินไม่ได้ ดื่มน้ำอัดลมทุกวันได้รับน้ำตาลมหาศาล หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เมาหัวราน้ำเสมอ ตับยังดีอยู่หรือเปล่า
สุขภาพถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตคนเราแล้ว ไม่เช่นนั้นเขาจะมีคำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” งั้นเหรอ ที่เรายังใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติสุขก็เพราะว่าร่างกายเรายังแข็งแรงดี แต่ถ้าวันหนึ่งเราล้มป่วยและกลับมาใช้ชีวิตแบบที่เคยไม่ได้อีกต่อไปขึ้นมา จะมานึกเสียดายในเวลานั้นมันก็สายไปแล้ว ยิ่งกับคนธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง ยิ่งต้องพยายามดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุด ง่ายที่สุดก็คือการพยายามลด ละ เลิกพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีต่าง ๆ เพราะถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อขึ้นมา มันต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งต่อให้มีสวัสดิการจากทางภาครัฐก็ลำบากอยู่ดี ลุกไปหาเงินปกติก็ทำไม่ได้ แค่จะใช้ชีวิตแบบเดิมเหมือนที่เคยยังเป็นไปไม่ได้เลย
8. ประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรง ทำไว้ไม่เสียหาย
แค่ได้ยินว่า “ทำประกัน” หลายคนก็ถึงกับเบ้หน้าร้องยี้แล้ว ปฏิกิริยาตรงนี้อาจเกิดจากความเชื่อผิด ๆ หรือมีอคติบางอย่างที่เกิดจากการเข้าใจผิดในเรื่องของการทำประกัน รวมไปถึงความรำคาญจากประสบการณ์ที่เคยโดนตื๊อขายประกันด้วยส่วนหนึ่ง และบางคนมองว่าการทำประกันเป็นเรื่องไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือย ทำแล้วเสียเงินเปล่า จ่ายเบี้ยไปแล้วไม่ได้เงินคืนถ้าไม่เคลม ทำเรื่องเคลมยากรอนาน ขั้นตอนยุ่งยาก ฯลฯ สารพัดเหตุผล อันที่จริง มันก็อยู่ที่ว่าเราเลือกทำประกันแบบไหนกับเจ้าไหนด้วย รวมถึงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่ารายได้เฉลี่ยของคนส่วนหนึ่งไม่เพียงพอที่จะแบ่งมาจ่ายค่าเบี้ยประกัน (ซึ่งแต่ละเดือนก็ไม่ใช่ถูก ๆ) แค่ใช้กินใช้อยู่ยังยากที่จะพอกินพอใช้ตลอดเดือนเลย
แต่ตรงจุดนี้ แนะนำว่าถ้าการเงินไม่ขัดสน หรือไม่เดือดร้อนที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกเดือน ลองมองพวกประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรงไว้ก็ไม่เสียหาย ศึกษากรมธรรม์และบริษัทประกันที่ตอบโจทย์กับเรามากที่สุด รวมถึงอาจลองสอบถามหารูปแบบการจ่ายเบี้ยประกันต่อเดือนในราคาที่ถูกที่สุดดูก่อนก็ได้ เพราะร่างกายของคนเรามันซับซ้อน การป่วยเป็นโรคร้ายมักจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หลายคนดูปกติแข็งแรงดีมาโดยตลอด แต่กลับป่วยโรคร้ายในระยะสุดท้ายโดยไม่รู้ตัว การซื้อประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรง จึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของค่ารักษาพยาบาลที่อาจคาดไม่ถึง มันจึงกลายเป็นพื้นฐานความมั่นคงในชีวิตได้