ขอบคุณและขอขมา “น้ำ” แบบง่าย ๆ ที่เริ่มได้จากตัวเองและทำได้ทุกวัน

ลอยกระทงเพิ่งผ่านพ้นไป หลังจากผ่านค่ำคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองมา สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ได้รายงานข้อมูลจำนวนกระทงที่เก็บได้ในกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ว่ามีจำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เก็บได้ 403,203 ใบ ถึง 169,367 ใบ หรือเพิ่มขึ้นมา 42% และถ้าหากดูประเภทกระทงที่จัดเก็บได้นั้น พบว่าเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือ 95.7% และกระทงโฟม 24,516 ใบ หรือ 4.3% ในส่วนนี้พบข้อมูลที่น่าสนใจจากเมื่อปีก่อนด้วย คือ จำนวนกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้มีสัดส่วนลดลงจาก 96.5% เหลือ 95.7% ในขณะที่ส่วนสัดส่วนของกระทงโฟมกลับเพิ่มขึ้นจาก 3.5% เป็น 4.3% ทั้งที่มีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลข้างต้น อาจทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าตกลงเราลอยกระทงเพื่ออะไรกันแน่ ที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจเกี่ยวกับการลอยกระทง คือ ลอยเพื่อบูชา ขอบคุณ และขอขมาพระแม่คงคา (พระแม่คงคาก็เป็นความเชื่อในศาสนาฮินดู) ที่ทำให้เรามีน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงการทำเกษตรกรรม ในขณะที่หลาย ๆ คนก็มีส่วนในการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำอีกต่างหาก และแม้ว่าบางคนจะลอยเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อย่างการลอยเคราะห์ ลอยทุกข์โศกอะไรก็ว่าไป แต่สุดท้าย การลอยกระทงก็ทำให้ใครหลายคนตั้งคำถาม ว่าการนำเอากระทงที่พอปล่อยลงน้ำปุ๊บก็กลายเป็นขยะปั๊บไปลอยน้ำแบบนี้ เป็นการบูชาหรือขอขมาพระแม่คงคาที่ถูกต้องจริงหรือ ไหนจะเดือดร้อนคนที่ต้องเก็บขยะเหล่านี้ขึ้นจากแหล่งน้ำอีก

ลอยกระทงเป็นประเพณีที่ดีงามก็จริง การจัดงานลอยกระทงก็มีส่วนช่วยให้พ่อค้าแม่ขายสามารถขายของกันได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ออกไปเที่ยวเล่นสนุกสนานบ้าง เพียงแต่การปฏิบัติหลายอย่างอาจจะดูย้อนแย้งกับวัตถุประสงค์ของประเพณีไปสักหน่อย เพราะสิ่งที่เราปฏิบัติกันในการลอยกระทงดูจะเป็นการทำลายแหล่งน้ำและเพิ่มปริมาณขยะเสียมากกว่า แม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องวัสดุในการทำกระทงที่ขอเป็นวัสดุธรรมชาติ งดกระทงโฟม หรือแม้แต่กระทงขนมปัง/โคนไอศกรีม ที่ตามหลักวิทยาศาสตร์มีผลทำให้น้ำเน่าเสีย สนับสนุนเป็นกระทงน้ำแข็งที่ใช้เวลาสลายหายไปเพียงราว ๆ 1 ชั่วโมงเท่านั้น หรือการมีแพลตฟอร์มสำหรับการลอยกระทงออนไลน์ก็ตาม ก็แทบไม่ได้ผล

ถ้าอย่างนั้น จะพอมีวิธีไหนที่เราจะสามารถทำแล้วบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการขอบคุณธรรมชาติที่ทำให้เรามีแหล่งน้ำใช้เพื่อกิจการต่าง ๆ และรู้สึกผิดเรื่องที่ทำให้แหล่งน้ำสกปรก รวมถึงเป็นความตั้งใจที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ วิธีที่ดูแล้วน่าจะเวิร์กกว่าการเอาขยะไปลอยน้ำเพิ่ม ธรรมชาติได้ประโยชน์ และไม่ต้องเดือดร้อนคนอื่นไปลุยน้ำเหม็น ๆ ยามมืดค่ำ หรือกลางแดดจ้าในเช้าวันถัดมา เพื่อตามเก็บขยะเหล่านั้นได้บ้าง

การใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

นี่คือหัวใจของการเห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำที่แท้จริง อาจเป็นเพราะทุกวันนี้เรามีน้ำสะอาดไว้สำหรับใช้กินใช้อาบในชีวิตประจำวันแบบที่ไม่เดือดร้อน เลยไม่เห็นประโยชน์ว่าเราจะต้องประหยัดน้ำไปทำไม เว้นเสียแต่ว่าเริ่มมีปัญหาเรื่องค่าน้ำแพง แต่จริง ๆ เราสามารถมีใจที่จะประหยัดน้ำได้ แม้ว่าตัวเองจะไม่เคยลำบากเรื่องไม่มีน้ำสะอาดใช้มาก่อน ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงน้ำสะอาดแบบที่ใครหลายคนกล้าเปิดน้ำทิ้งไปเปล่า ๆ ตอนแปรงฟัน ไม่จำเป็นต้องมองไปไกลถึงทวีปแอฟริกา คนในประเทศเดียวกันนี่แหละ ตามพื้นที่ต่างจังหวัดหลายแห่งไม่มีน้ำประปาด้วยซ้ำ แถมตอนหน้าแล้ง แหล่งน้ำธรรมชาติก็ไม่มีให้ใช้ น้ำทุกหยดมีคุณค่าสำหรับคนกลุ่มนี้ จึงต้องใช้ประหยัดที่สุด

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่สิ้นเปลือง

หากการเห็นคุณค่าของการประหยัดน้ำนั้นยากเกินไป หรือไม่เห็นประโยชน์ว่าต้องทำไปทำไม ก็อาจจะหันกลับมาพิจารณาจากค่าน้ำดูก็ได้ ว่าถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่สิ้นเปลืองได้ ก็จะช่วยให้เราใช้น้ำน้อยลง มีผลต่อค่าน้ำที่ลดลงด้วย แม้ว่าจะประหยัดลงแค่บาทหรือสองบาท หรือต่อให้ประหยัดแค่สลึงเดียว แต่ถ้าทำกันอย่างต่อเนื่องและทำกันหลาย ๆ คน ย่อมเห็นผลภาพรวมแน่นอน ฉะนั้น แค่เริ่มจากพฤติกรรมในบ้าน อย่างหมั่นตรวจสอบและอุดจุดรั่วไหลของน้ำในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ปิดฝักบัวระหว่างถูตัว ใช้ภาชนะรองน้ำเวลาแปรงฟัน ล้างผัก ผลไม้ หรือถ้วยชามในอ่างไม่ใช่การเปิดน้ำผ่าน หรือการนำน้ำที่ใช้ยังไม่ได้สกปรกอะไรไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นต้น

ขยะหรือสิ่งปฏิกูลกับแหล่งน้ำ มันไม่ใช่ของคู่กัน

การช่วยกันรักษาแหล่งน้ำลำคลองให้ใสสะอาดนั้น บางทีวิธีที่ง่ายที่สุดอาจเป็นแค่การที่เราไม่ทิ้งสิ่งแปลกปลอมอะไรลงไปในน้ำเท่านั้นเอง ทิ้งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการโยนทิ้งลงไปตรง ๆ ในแหล่งน้ำ แต่การเทน้ำมันใช้แล้วลงท่อระบายน้ำ หรือหย่อนเปลือกลูกอมลงไปตามรูท่อเพราะหาถังขยะไม่เจอ นี่ก็นับว่าใช่เหมือนกัน เพราะในที่สุดสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ก็จะถูกผลักออกจากท่อไปโผล่ที่แหล่งน้ำที่ไหนสักที่ แม้แต่การทิ้งขยะบนพื้นถนน หากฝนตกขยะก็จะไหลไปตามแรงน้ำที่ซัดหาท่อเพื่อไหลลง ขยะใหญ่ผ่านไม่ได้ก็อุดตันท่อทำให้น้ำเอ่อท่วมไม่ระบายลงไป ส่วนขยะเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือสิ่งสกปรกอื่นก็หลุดลอดไหลลงไปตามท่อก่อนจะไปโผล่ที่แหล่งน้ำ อันที่จริง ข้อนี้เป็นกฎหมายด้วยซ้ำไป