“วิวาห์ล่ม” เพราะสินสอดเจ้าปัญหา รักแท้หรือจะสู้อำนาจเงิน

เมื่อแรกรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน พอถึงวันวิวาห์น้ำที่ว่าหวานกลายเป็น “ยาขม” เพราะเงินค่าสินสอดไม่พอมาขอน้องแต่งงาน “พี่เลยจำเป็นต้องเทงานแต่ง รักมากนะแต่เงินไม่พอจริง ๆ พี่ขอโอกาสอีกครั้งได้ไหม” นอกเหนือจากเรื่องของหัวใจแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เงิน” มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่สุดต่อคู่รักหลายคู่เลยทีเดียว

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนแล้วก็ตาม “อำนาจเงิน” ก็ยังมีมากเสมอ ที่ผ่านมามีข่าวปรากฎเสมอว่าคู่รักหลายคู่ต้องมีปัญหาและเลิกรากันในวันแต่งงาน โดยหนึ่งในปัญหาที่ถูกยกมาอ้างว่าเป็นต้นเหตุคือ “เงินสินสอด” หาเงินไม่ได้ เงินสินสอดไม่พอ เป็นเหตุทำให้วิวาห์ล่มบ้าง เกิดเหตุทำร้ายร่างกายฝ่ายเจ้าบ่าวบ้าง ช้ำไปกว่านั้นคือ “เจ้าสาว” ที่ชะเง้อคอรอคอยเจ้าบ่าว ต้องกลายเป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อ ไร้วี่แววขันหมากมาขอแต่งงาน

ตามธรรมเนียมของไทยหากว่าใครจะแต่งงาน “สินสอด” ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาสำหรับบ่าวสาวสมัยนี้พอสมควร บางคนบอกน้อยไปก็ต้องไปหามาเพิ่มให้มันเยอะขึ้น คำถามก็คือสินสอดเป็นอุปสรรคของความรัก เป็นค่าอุ้มท้องเลี้ยงดูปูเสื่อที่ผ่านมาของพ่อแม่ หรือเป็นความเชื่อมั่นสำหรับชีวิตคู่ในอนาคตกันแน่? แล้วฝ่ายชายควรแก้ไขอย่างไรดี ไม่ให้รักครั้งนี้มีปัญหา Tonkit360 มีคำแนะนำมาบอก

“สินสอด” วัฒนธรรมหรือแค่โอ้อ้วด

หากกล่าวถึง “สินสอด” เป็นประเพณีของไทยที่ยึดหลักปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ บ้างก็ว่าเพื่อเลี้ยงดูฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาว บ้างก็ว่าเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมของฝ่ายพ่อแม่เจ้าสาวและขอบคุณที่ยอมยกลูกสาวให้ ส่วนจำนวนในการให้นั้นก็เป็นไปตามค่ายิยม ค่าของเงินในแต่ละยุคแต่ละสมัยแตกต่างกันไป “การแต่งงาน” เป็นเรื่องของสังคม ที่มองว่าการเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ต้องได้รับการแต่งงาน คนไหนไม่ได้แต่งงานจะถูกมองว่ามีปัญหา ไม่ดีพร้อม

ตราบใดก็ตามที่วัฒนธรรมไหนเป็นแบบนี้ ก็จะมีธรรมเนียมที่ว่าด้วยเรื่องสินสอดตามมาเสมอ การนำสิ่งของมีค่ามามอบให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนคุณค่าและตอบแทนการดูแลของครอบครัวฝ่ายหญิง ขณะที่อีกด้านเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดให้ความมั่นใจว่าฝ่ายหญิงจะได้รับการดูแลที่ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันบ่าวสาวสมัยใหม่ก็มีข้อโต้แย้งและมีปัญหาเรื่องสินสอดมากมาย ทั้งเรื่องการใช้เงินโดยไม่จำเป็น เป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางสังคมมากเกินไป ไปจนถึงเรื่องการวัดค่าผู้หญิงด้วยจำนวนเงิน จนกลายเป็นข้อถกเถียงไม่จบสิ้น

จริงอยู่ที่ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป ค่าของเงินก็มีสูงขึ้น หากเรามองกลับกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงาน การมีงานแต่งที่สมบูรณ์แบบ หรือดีที่สุดในชีวิตคู่เพียงครั้งหนึ่งในชีวิต “งานแต่ง” เปรียบเหมือนหน้าตา เปรียบเหมือนความมั่นคงของชีวิตคู่ “สินสอด” ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเงินที่นำมาใช้จ่ายในการจัดงานแทบทั้งสิ้น งานแต่งไม่ใช่ภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือการรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

แต่ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าคิดเช่นเดียวกัน นั่นคือการเรียกค่าสินสอดมากเกินไปเรียกได้ว่า ซื้อบ้าน ซื้อรถ ได้เลย แบบนี้เห็นทีฝ่ายเจ้าบ่าวก็คงไม่ไหวแน่ เหตุเพราะหน้าตาทางสังคม ต้องการโอ้อวดเพื่อนบ้าน ว่าลูกสาวได้สินสอดเยอะกว่าลูกสาวบ้านนั้นบ้านนี้ แต่ก็มีบางครอบครัวที่ไม่รับสินสอด หรือคืนสินสอดให้คู่บ่าวสาว แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมและค่านิยมของคนไทยคือ “ต้องมี” สินสอด เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้ผู้ใหญ่ เรียกว่าการแต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน จนขนาดมีธุรกิจการเช่าสินสอดขึ้นมาเลยทีเดียว

ขอเตือน! จ่ายทั้งทีต้องมีความชัดเจน

เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร ต่อให้รักกันมากแค่ไหน ก็แพ้อำนาจเงินอยู่ดี หากรักกันถึงขั้นตกลงขอแต่งงานแล้ว เรื่องเงินค่าสินสอด จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรกในการเจรจา ดังนั้นไม่ควรอายที่จะพูดทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย หากพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวมีตัวเลขในใจไว้อยู่แล้วควรบอกออกไปตรง ๆ ไม่ใช่บอกว่า “แล้วแต่ฝ่ายชายจะให้” และก็ต้องเผื่อใจสำหรับการต่อรองไว้ด้วย

ส่วนฝ่ายเจ้าบ่าวเองก็ต้องพิจารณาฐานะของตัวเองด้วยว่า สามารถให้ได้ตามที่ตกลงกันหรือไม่ หรือให้ได้เท่าไร ส่วนไหนพร้อมแล้วส่วนไหนยังติดขัด ต้องอธิบายให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าไปรับปากส่ง ๆ เพราะกลัวว่าท่านจะไม่ยกลูกสาวให้ แล้วก็ต้องมานั่งปวดหัววิ่งหาเงินจนเป็นหนี้ทีหลัง หรือเกิดเหตุหนีงานแต่ง ทำเจ้าสาวช้ำใจเพราะถูกเจ้าบ่าวเทงานแต่งตามที่เป็นข่าวกันอยู่ในปัจจุบัน

“ตั้งราคาเท่าไร” ให้สมฐานะและหน้าตา

เงินสินสอดควรเป็นตัวเลขอยู่ในขอบเขตที่ฝ่ายชายสามารถจ่ายไหว ควรพิจารณาทั้งหน้าที่การงานของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว รวมไปถึงพ่อแม่ของบ่าวสาวด้วย นอกจากนี้ควรมองไปถึงการศึกษาของฝ่ายเจ้าสาว การอบรมเลี้ยงดู เพื่อตีเป็นค่าสินสอดที่เหมาะสม อาจจะน้อยกว่านี้หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับครอบครัวทั้งสองฝ่ายว่าจะตกลงกัน แต่อย่าตั้งตามอารมณ์ ถ้าเรียกสูงเกินไป คุณจะแฮปปี้อยู่ฝ่ายเดียว ถึงแม้เขาจะจ่ายได้แต่อาจจะไม่แฮปปี้ สุดท้ายความสัมพันธ์ก็มีข้อแคลงใจ ดังนั้นสำหรับการเรียกสินสอด มันต้องเป็นความพอใจทั้งสองฝ่าย ถึงจะเกิดความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว อย่าให้ถึงกับเป็นสาเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้ง ถึงขั้นเลิกรากัน หรือต้องเทงานแต่งกันเลย

“เงินไม่พอ” เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนได้ไหม

ในกรณีตกลงกันแล้ว แต่เจ้าบ่าวบางคนไม่สะดวกเพิ่มเงินให้ หรือเงินที่มีอยู่ไม่พอต่อค่าสินสอด อาจตกลงเป็นสินทรัพย์แทนเงินสดก็ได้ เช่น รถ ที่ดิน แหวนเพชร เครื่องประดับ หรือพระเครื่องที่มีมูลค่า บางคนอาจสงสัยว่าขนาดเงินยังไม่ได้เลย แล้วอย่างอื่นที่ว่าจะมีได้อย่างไร คำตอบก็คือ สิ่งของนั้นทางฝั่งเจ้าบ่าวจะต้องมีอยู่แล้ว คล้าย ๆ เป็นสมบัติติดตัวประจำตระกูล สิ่งของที่ขอเปลี่ยนเพิ่มมานี้เป็นของมรดกตกทอด เป็นของมีมูลค่าและจิตใจ เพราะฉะนั้นคิดคำพูด ซ้อมพูดหน้ากระจกให้ดี แล้วตั้งสติขณะพูด รับรองว่าช่วยให้ผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้แน่นอน

รักกันมากแค่ไหน ต้องคิดและไตร่ตรองให้มาก

เรื่องสินสอดเป็นเรื่องใหญ่ ใครที่ตกลงกันได้ลงตัวก็สบายไป ส่วนใครที่เกิดปัญหาขึ้นมาก็ลองถามใจตัวเองดูว่า “คุณพร้อมจะแต่งแล้วจริงหรือ” จริงอยู่ที่ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เมื่อต้องจัดงานแต่งขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่าย หากเจอครอบครัวที่ตกลงกันได้ด้วยดีก็คงไม่เกิดปัญหาอะไร หากเจอครอบครัวที่เอาแต่ได้ ไม่ยอมอยู่ฝ่ายเดียว อาจต้องกลับมาคิดพิจารณาให้หนักว่า “พร้อมหรือยัง” หากคำตอบคือยัง ก็อาจมีการเจรณาเลื่อนออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

อย่าลืมว่าหลังจากนี้มันคืออนาคตการใช้ชีวิตคู่ การใช้ชีวิตครอบครัวของคุณทั้งสอง ฉะนั้นจึงต้องคิดเผื่อไปถึงอนาคตทางการเงินของคุณทั้งคู่ด้วย จะดีกว่าไหมที่จะรออีกนิดเพื่อให้ถึงเวลาที่พร้อมจริง ๆ เราเชื่อว่าคู่กันแล้วยังไงก็ไม่แคล้วกันหรอก

สังคมยุคใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปมากแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่อยากได้หน้า กลัวสังคมนินทา “เห็นไหมลูกสาวของฉันมีค่า และผู้ชายที่มาขอก็มีเงิน” สังคมไทยยังขาดกระบวนการช่วยให้ความเข้าใจในเรื่องนี้ มีแต่กระแสอนุรักษ์นิยมโชว์เงินสินสอดอยู่อย่างเดียว ส่วนคู่ที่เห็นว่าสินสอดไม่ใช่เรื่องจำเป็น ก็ไม่มีใครสนใจ หรือยกยอ มีแต่คำดูถูกและ คำนินทา ทำไมสังคมเราถึงกลายเป็นเช่นนี้