
หากยังจำกันได้ ช่วงเดือนนี้ของปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรเปิดให้ประชาชนลงประชามติ “เบรกซิต” (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เพื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปหรือไม่
ผลปรากฏว่า ประชาชนกว่า 30 ล้านคน คิดเป็น 71.8 เปอร์เซ็นต์ โหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู ด้วยคะแนนรวม 51.9 ต่อ 48.1 เปอร์เซ็นต์ (อังกฤษโหวตออกจากอียู 53.4 เปอร์เซ็นต์, เวลส์โหวตออก 52.5 เปอร์เซ็นต์, สกอตแลนด์โหวตออก 62 เปอร์เซ็นต์ และไอร์แลนด์เหนือโหวตออก 55.8 เปอร์เซ็นต์)
โดย เธเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ลงนามแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่อ โดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรปอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสมาชิกภาพของอียู ระบุไว้ว่า สถานภาพการเป็นสมาชิกจะสิ้นสุดภายใน 2 ปีนับจากวันที่ยื่นคำร้อง ซึ่งจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หรือมีเวลาอีก 2 ปี ก่อนจะหมดสถานภาพการเป็นสมาชิกอียู
แต่ยังไม่ทันไรก็มีกระแสออกมาแล้วว่า ประชาชนบางส่วนเริ่มรู้สึกผิดหวังกับการโหวตออกจากอียูของตัวเอง รวมถึงหวั่นใจว่าเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ชีวิตของพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากมายเพียงใด
ทั้งนี้ จากผลสำรวจความเห็นล่าสุด โดยสำนักโพล Survation พบว่า มีประชาชนถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องการให้มีการลงประชามติใหม่ และมีถึง 69 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการถอนตัวจากอียูแบบเบ็ดเสร็จ ที่เรียกว่า Hard Brexit อย่างที่เธเรซ่า เมย์ ต้องการ
โดยมีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับคำพูดของผู้นำประเทศที่ระบุว่า “การไม่เจรจาข้อตกลงใดๆ ดีกว่าการได้ข้อตกลงที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง”
ทั้งนี้ การถอนตัวแบบ Hard Brexit แทนที่จะเลือก Soft Brexit ซึ่งเป็นการออกจากอียูอย่างละมุนละม่อม โดยยอมโอนอ่อนตามเงื่อนไขของอียูนั้น หมายถึงสหราชอาณาจักรต้องออกจากตลาดเดียว หรือตลาดร่วมของยุโรป (Single Market) ที่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่สามารถครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายถอนตัวแบบ Hard Brexit ตามที่พรรคอนุรักษ์นิยมของเธเรซ่า เมย์ ชูไว้ในช่วงหาเสียง
นั่นหมายความว่า ครม.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมจากการจัดตั้งร่วมกับพรรคสหภาพประชาธิปไตย(DUP) ของไอร์แลนด์เหนือ อาจถูกกดดันให้ยอมรับการเจรจาออกจากอียูแบบ Soft Brexit ตามที่ภาคธุรกิจเอกชนพยายามรวมตัวเรียกร้องอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้