เน็ตไอดอลที่แท้ทรู

ภาพจาก pixabay.com

ถ้าพูดถึงเน็ตไอดอลสมัยก่อน เราจะนึกถึงสาวสวยน่ารัก ขวัญใจหนุ่มๆ อย่าง โฟร์ ศกลรัตน์, เบเบ้ ธันย์ชนก,
เต้ย จรินทร์พร หรือบอลลูน พินทุ์สุดา ลองนึกภาพดูว่าสมัยนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม แต่สาวๆ เน็ตไอดอลก็ดังมาก จากเว็บไซต์อย่าง เว็บเด็กดี หรือแมกกาซีนวัยรุ่น

ปัจจุบัน ภาพของเน็ตไอดอล เปลี่ยนไปมากจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ด้วยช่องทางสื่อสารที่หลากหลายขึ้น ทำให้ภาพของเน็ตไอดอลในทุกวันนี้เปลี่ยนไปราวกับว่าใครๆ ก็เป็นเน็ตไอดอลได้ เพียงแค่หน้าตาสวยหล่อ ผู้หญิงต้องหน้าอกใหญ่ ผิวขาวตามสเปคชายไทย โพสต์ภาพที่ถ่ายจากกล้องฟรุ้งฟริ้ง มีจำนวนคนติดตามในเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรมที่มากพอ สุดท้ายคงหนีไม่พ้น ขายครีม ขายยาลดน้ำหนัก รวมถึงการรับรีวิวสินค้าต่างๆ

แต่ถ้าหากรักที่จะแจ้งเกิด กับการเป็นเน็ตไอดอลในยุคนี้ ต้องเลือกการเปิดเผยตัวตนของตัวเองก่อนว่าจะแสดงตัวตนในแง่ไหน และพร้อมรับ Feedback ที่จะตามมาหรือไม่ ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นทั้งด้านดีและไม่ดี แม้ในปัจจุบัน
คำว่า “เน็ตไอดอล” จะกลายเป็นคำที่ใช้เรียกใครก็ได้ที่มีกระแสอยู่ในโลกโซเซียล แต่เราสามารถเลือกปฏิบัติได้ว่าอยากดังในทางที่เสื่อมเสีย หรืออยากให้คนในสังคมยอมรับตัวเราในทางที่ดีมากกว่า

ดังเช่น เน็ตไอดอลแนวใหม่ที่มีกระแสฮือฮาจากโลกโซเซียล เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง โพสต์ภาพของ “น้องจูน” รปภ.สาวสุดน่ารัก ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ทำให้มีคนต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นชื่นชมเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชน ไม่ดูถูกอาชีพ ไม่หมิ่นเงินน้อย และนี่แหละคือ “เน็ตไอดอลที่แท้ทรู”

ซึ่งก่อนหน้านี้ หากจำกันได้ที่มีการโพสต์ การแชร์ภาพจากชาวเน็ตในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับวัยรุ่นที่รับทำงานพิเศษต่างๆ เช่น ส่งพิซซ่า เด็กปั๊มน้ำมัน แม่ค้าส้มตำ รวมถึงกระเป๋ารถเมล์ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนหน้าตาดีทั้งสิ้น ทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็น “เน็ตไอดอล” ในชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว เพราะนอกจากพวกเขาจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว งานที่พวกเขาทำยังสุจริตอีกด้วย

อย่างไรก็ตามนิยามของเน็ตไอดอลในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการสร้างตัวตนบนโซเซียลให้เป็นที่รู้จัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือมารยาทที่ดีในการใช้สื่อส่งเสริมแบบอย่างที่ดี ทำให้วัยรุ่นแยกแยะแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมได้อย่างเข้าใจง่ายขึ้นนั่นเอง