หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดระบบ หมอพร้อม เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกวัน เวลา และโรงพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนด้วยตนเอง และกำลังเตรียมเปิดให้มีการฉีดวัคซีนแบบ Walk in ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากจำเป็นต้องปรับแผนการกระจายวัคซีน ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าก่อนที่จะไปฉีดวัคซีนนั้นต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
เฟซบุ๊กแฟนเพจของกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เผยแพร่ข้อแนะนำ เรื่อง การเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยก่อนที่จะไปฉีด มีข้อควรรู้ทั้งหมด 3 เรื่อง คือ
1. เตรียมร่างกายให้พร้อม
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่าอดนอน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ
- ต้องไม่มีไข้หรือมีอาการเจ็บป่วย
- งดออกกำลังกายหนัก ในช่วงสองวันก่อนและหลังฉีด
2. เรื่องที่ต้องบอกหมอ
- แจ้งว่ามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่
- แจ้งประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน
- การตั้งครรภ์
- ข้อมูลอื่น ๆ ที่แพทย์ควรทราบเพื่อพิจารณา (และเรื่องที่ตัวเองสงสัยว่าตัวเองฉีดได้ไหม)
3. ข้อปฏิบัติอื่น ๆ
- อย่าลืมบัตรประชาชน
- ตรวจสอบวัน-เวลา และโรงพยาบาลที่นัดฉีด
- รักษามาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง พกเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ
- วันที่ฉีด ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 500 มิลลิลิตร – 1 ลิตร (ซีซีและมิลลิลิตร ปริมาตรเท่ากัน)
- ให้ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด หลังฉีดสองวัน ใช้แขนที่ฉีดให้น้อยที่สุด และพยายามอย่างเกร็งหรือยกของหนัก
- หลังฉีดเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งกลับบ้าน ให้รอสังเกตอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้ก่อน 30 นาที
- หลังจากฉีดวัคซีน หากมีไข้หรือปวดเมื่อยมากจนทนไม่ได้ สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ได้ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แต่ให้เว้นระยะเวลา 6 ชั่วโมง
- ห้ามกินยาแก้ปวดพวกประเภท Brufen, Arcoxia และ Celebrex อย่างเด็ดขาด
ใครบ้างที่ “ยังไม่ควร” ไปฉีด
แม้ว่าหลาย ๆ คนยังมีความกังวลเรื่องประสิทธิภาพและควาปลอดภัยของวัคซีน แต่ก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนไว้จะดีกว่า เพราะว่าการฉีดวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสในการเสียชีวิตลงด้วย ฉะนั้น การฉีดวัคซีนจึงมีประโยชน์มากกว่า
แต่กระนั้น ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน (ยังไม่ควรฉีดไม่ได้แปลว่าฉีดไม่ได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด) นั่นก็คือ ผู้ป่วย “โรคภูมิแพ้” เนื่องจากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ร่างกายจะต่อต้านสิ่งแปลกปลอมได้ไวและรุนแรงกว่าคนปกติ หากเกิดมีผลข้างเคียงหรือเกิดอาการแพ้ก็จะรุนแรงกว่าคนปกติ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีน จึงต้องแจ้งและปรึกษาแพทย์ก่อน และหากฉีดได้ จะต้องสังเกตอาการหลังฉีดของตัวเองอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีนเช่นกัน จนกว่าแพทย์จะอนุญาต คือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต โรคปอด ฯลฯ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด คีโม ยากดภูมิต้านทาน หรือกำลังเข้ารับการรักษาด้วยยาบางชนิด (อาจต้องหยุดยาบางชนิดก่อนฉีดวัคซีน) หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร รวมถึงผู้หญิงที่ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้มีอาการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีน