หน้าที่ของสื่อไม่ใช่การเติม​ “ความกลัว” ให้กับสังคม

หนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า “Wolf Hall” โดยนักเขียนหญิงชาวอังกฤษ ฮิลารี่ย์ แมนเทล นั้นเป็นนวนิยายที่เล่าถึงความรุ่งเรืองของ โธมัส ครอมเวลล์ ผู้มีอำนาจล้นพ้นในศาลอังกฤษ ซึ่งอยู่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1500-1535 ที่มีพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ครองบัลลังก์ และในนิยายเรื่องนี้ ฮิลารี่ย์​ได้เขียนถึงความน่ากลัวเมื่อความเป็นจริง ถูกแทนที่ด้วยความลวง เอาไว้ว่า

“เมื่อปราศจากความจริง ผู้คนจะเริ่มหลอกหลอนตนเอง และในช่องว่างตรงนั้นเราสามารถใส่ความกลัว เรื่องเกินจริง หรือความปรารถนาที่ผู้คนอยากให้เป็นเข้าไปได้”

สิ่งที่ ฮิลารี่ย์ เขียนเอาไว้ข้างต้น ไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้แม้แต่น้อย เมื่อโลกแห่งความคิดเห็นพยายามจะทำให้ความคิดเห็นเป็นความจริง จนทำให้ผู้คนไม่รู้แล้วว่าความจริงที่แท้คืออะไร พวกเขากลับถูกเติมด้วยความหวาดกลัวโดยไม่มีข้อเท็จจริงของความหวาดกลัวนั้นมารองรับ ได้รับข้อมูลที่เรียกว่าเป็นเรื่องแฟนตาซี หรือเรื่องเกินจริงจากคนที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้า แต่บอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่บางส่วนก็เติมปรารถนาของตนเองที่อยากให้เป็นเข้าไปในความจริง จนทำให้ความจริงที่ควรจะเป็นกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น

สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ ศบค. ออกประกาศความเข้มงวดและแบ่งเขตพื้นที่ที่เข้มงวดที่สุด หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่สามกลายเป็นการระบาดรอบใหญ่ที่สุด แน่นอนว่าในสภาวะที่ที่เรียกว่าอลหม่านฝุ่นตลบแบบนี้ สิ่งที่สังคมและผู้คนชอบทำกัน คือการ “หาแพะรับบาป” เพราะการได้กล่าวหาใครสักคนหรือโทษใครสักคน จะทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น แม้ว่าสภาวการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งหา “แพะรับบาป” แต่เป็นการให้ความร่วมมือเพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลายเสียมากกว่า

แต่เท่าที่เห็นนั้น หลายคนที่เรียกตนเองว่าเป็นนักสื่อสารมวลชน ยังคงไหลไปตามมหาสมุทรของข้อมูล คอยเติมเรื่องเกินจริง ความกลัว และความปรารถนาของผู้คนลงไปบนพื้นที่สื่อของตนเอง มีสักกี่รายกันที่พูดถึงจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว มีสักกี่รายกันที่พูดถึงผลข้างเคียงของวัคซีนโดยบอกความจริงของอาการข้างเคียงให้ชัดเจน มากกว่าพาดหัวข่าวที่น่ากลัวจนทำให้คนไม่กล้าไปฉีด มีสักกี่รายที่พูดถึงความจริงของวัคซีนแต่ละชนิดในความจริง จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง มากกว่าการ Copy & Paste มาจากข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทยา

หน้าที่ของภาครัฐและเอกชนในเวลาแบบนี้คือหาทางออกเรื่องการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ในขณะที่หน้าที่ของสื่อสารมวลชนในเวลานี้ คือลดความแตกตื่นของสังคมให้ได้มากที่สุด และเครื่องมือเดียวที่จะลดความแตกตื่นของสังคมได้ดีที่สุดคือการนำเสนอความจริงที่ไม่แต่งเติม ความจริงที่ทำให้คนในสังคมได้เห็นทั้งข้อดีข้อเสียของการใช้วัคซีน เพื่อที่จะนำไปตัดสินใจและใคร่ครวญถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

แม้ว่าหลายคนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามจะใส่ความกลัว หรือเรื่องเกินจริงเข้ามาในเวลานี้โดยมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง เราคงต้องวางเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน แต่หันมาสนใจและช่วยกัน ในการส่งต่อข้อมูลเพื่อทำให้คนในสังคมหันมาสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกัน การนำเสนอหรือส่งต่อความกลัวให้กับสังคมนั้นไม่ใช่หน้าที่ของคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อสมควรจะทำ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวใหญ่หรือเพจข่าวเล็ก ๆ

ณ วันนี้เรามาอยู่ในจุดที่ทุกคนในประเทศต้องมองไปที่จุดหมายเดียวกันคือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และภูมิคุ้มกันนั้นจะเกิดขึ้นได้คือการให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน โดยที่มีความรู้ความเข้าใจจากสื่อเป็นพื้นฐานความรู้ แต่ถ้าเรายังหมั่นเติมความกลัว หรือเรื่องราวเกินจริงเข้าสู่สังคมทุกวัน ไม่แน่ว่าปลายปี 2564 เราอาจไม่ได้ฉลองการเข้าสู่พุทธศักราชใหม่ เหมือนดั่งเช่นในปีที่แล้วก็เป็นได้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ