Tonkit360 พูดคุยกับผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 กับข้อเท็จจริงที่คุณควรรู้

“การฉีดวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้นั้นประสิทธิภาพยังคงเหมือนเดิม เพราะไวรัสที่ระบาดในไทยยังเป็นสายพันธุ์เดิม ซึ่งทางออกของวิกฤตโควิด-19 คือให้ประชาชนทุกคนมีภูมิต้านทานโรคขึ้นมา แม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก ดังนั้น เมื่อประชาชนเข้ามารับวัคซีนเมื่อถึงคิวนั้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้ภายในสิ้นปี 2564ไทยจะพ้นวิกฤติโควิด-19”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ในงาน Smart living with COVID-19 “Saveทุกลมหายใจ พาคนไทยฝ่าวิกฤติโควิด 19” จัดโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ข้อมูลที่ถูกต้องคือการสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีน

การทำความเข้าใจกับคนทั่วไป เกี่ยวกับวัคซีนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การชักชวนและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้คนทั่วประเทศให้ความร่วมมือเพื่อไปฉีดวัคซีนน่าจะเป็นเรื่องยากกว่า เพราะในหลายประเทศที่มีการฉีดกันไปแล้วนั้น การขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อให้ไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานไวรัสโควิด-19 กลับกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ณ เวลานี้

ถ้าคุณลอง Search ใน Google จะพบว่าคำค้นที่พบบ่อยคือ “เมืองไทยฉีดวัคซีนไปจำนวนเท่าไรแล้ว” “มีวัคซีนยี่ห้อไหนบ้างในเมืองไทย” “จะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร” รวมไปถึง “ผลข้างเคียงวัคซีน โควิด19” ทั้งหมดเป็นคำค้นที่ถูกสืบหาใน Google บ่อยครั้ง และภาครัฐ ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่เข้าถึงได้ง่ายนัก ทำให้ข่าวลือ ข่าวลวง หรือ แม้แต่เรื่องประเภทที่ใครก็ไม่รู้เขียนขึ้นมา ถูกส่งต่อสร้างความเข้าใจผิดต่อคนจำนวนมาก

การหาข้อมูลที่ง่ายที่สุดในเวลานี้ คือการใช้ชุดข้อมูลจากการ Search ในกูเกิ้ล แค่ใช้ Keyword ว่า “COVID-19 vaccineThailand” หรือ โควิด-10 ประเทศไทย จะปรากฏชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด- 19 ในเมืองไทยทั้งหมด ที่ระบุถึงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ประมาณ 11.7ล้านคนทั่วประเทศ)  และกลุ่มโรคเฉพาะทาง ซึ่งคาดว่ามีจำนวนประมาณ 4.3  ล้านคน โดยกลุ่มนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มแรกในระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม2564

ความท้าทายของการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในเวลา 7 เดือน

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้นั้น เพื่อให้กลุ่มที่เสี่ยงสูงสุดมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น หากมีการติดเชื้อโควิด-19 ก็จะทำให้มีอาการที่ไม่หนักมาก และลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (2 พ.ค. 64) ระบุว่าเมืองไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.48 ล้านราย และครบ 2 โดสแล้ว 382,000 ราย คิดเป็น 0.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวเลขแล้วนับว่าช้ามาก ในขณะที่การแพร่ระบาดยังคงรุนแรงอยู่

การหาเหตุผลของความล่าช้าในการฉีดวัคซีน ณ เวลานี้ คงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรสักเท่าไร การหาวัคซีน เพื่อให้ได้ครบตามความต้องการและทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศเป็นเรื่องที่ต้องสนใจเป็นประการแรกมากกว่า ซึ่งตามรายงานนั้นทางรัฐบาลจัดซื้อวัคซีน 100 ล้านโดสเพื่อฉีดให้คนไทยจำนวน 50 ล้านคน โดยจะให้เสร็จสิ้นในสิ้นปี 2564

นั่นเท่ากับว่าทั้งประเทศเริ่มจากเดือนมิถุนายนจะต้องฉีดให้ได้ประมาณ 200,000 รายต่อวัน ขณะที่กรุงเทพมหานครเองประกาศออกมาแล้วว่าจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ลงทะเบียนให้ได้ 50,000 รายต่อวัน ซึ่งทั้งหมดนับว่าเป็นตัวเลขที่ท้าทายบุคลากรทางสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นอย่างมากในการที่จะชักชวนให้คนออกมาฉีดโควิด และจัดหาเจ้าหน้าที่ในการฉีดวัคซีนได้ตามจำนวนที่ตั้งเป้า

ภูเก็ตโมเดล ความสำเร็จของการฉีดวัคซีนที่รัฐและเอกชนร่วมมือกัน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะไม่มีข่าวดีให้คนไทยรู้สึกมีความหวังกันขึ้นมาเลย แต่พื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่างภูเก็ต ดูจะเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการควบคุมการระบาด รวมไปถึงสถิติการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ที่ทำให้ภูเก็ตในระลอกที่สามกลายเป็นเมืองที่ยังพอจะอยู่ได้อย่างผ่อนคลายมากกว่า 6 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม (อันหมายรวมถึงกรุงเทพมหานคร)

ความร่วมมือของคนภูเก็ตในการฉีดวัคซีน และสถิติการฉีดวัคซีนประมาณ 10,000 คนต่อวัน การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้ภูเก็ต กลายเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ไม่ใช่สีแดงเข้มเหมือนกับ 6 จังหวัดอย่าง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และเชียงใหม่

Tonkit360 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้ประกอบการที่อาศัยอยู่ในภูเก็ต รวมถึงได้ข้อมูลมาจากคุณหมอที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจากการได้พูดคุยนั้น ทำให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐต้องทำอย่างเร่งด่วนนั้น การใช้ต้นแบบในการทำงานอย่างภูเก็ตน่าจะได้ผลสูงสุด

ทุกคนอยากให้ภูเก็ตเป็นสถานที่ที่ทำให้คนมาเที่ยวรู้สึกปลอดภัย

“คุณพาฝัน มุสิกรัตน์ธำรง” เจ้าของกิจการ Wedding Planner ซึ่งให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการมาจัดงานแต่งงานที่ภูเก็ต และอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตมากว่า 20 ปี ได้เปิดเผยกับทีมงาน Tonkit360 ว่า

“การระบาดในรอบแรกนั้น ภูเก็ตได้รับผลกระทบหนักมาก อย่างกิจการของตนเองก็ได้รับผลกระทบ 100 เปอร์เซนต์ พอสถานการณ์รอบแรกคลี่คลาย คนในภูเก็ตก็ยังระมัดระวังกันอยู่มาก เพราะรายได้ของเกาะภูเก็ตเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์คือการท่องเที่ยว ทุกคนจึงอยากให้ภูเก็ตเป็นสถานที่ที่ทำให้คนมาเที่ยวรู้สึกปลอดภัย”

“เมื่อมีการประกาศฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 คนภูเก็ตส่วนใหญ่จึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งในส่วนของตนเองก็ได้ลงทะเบียนให้กับผู้ใหญ่ในบ้านด้วย ขณะที่พนักงานในบริษัทฝ่ายบุคคลจะทำหน้าที่จัดการให้”

เมื่อทีมงาน Tonkit360 ถามถึงความกังวลใจกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นหลังจาการฉีดวัคซีน คุณพาฝันได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ส่วนตัวมองว่ายาทุกประเภทก็มีผลข้างเคียงอยู่แล้ว และวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เวลาในการพัฒนาไม่นาน ย่อมต้องมีผลข้างเคียงอย่างแน่นอน ซึ่งการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ถ้าจะติดเชื้อไวรัส อาการก็จะได้ไม่หนักมาก และส่วนตัวก็ได้มีการหาข้อมูลประกอบมาแล้วจึงไปฉีดด้วยความสมัครใจ หลังจากฉีดครบทั้งสองโดสแล้ว ความรู้สึกหลังฉีดเหมือนกันคือปวดแขนและง่วงนอน ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก”

การฉีดวัคซีนที่ภูเก็ต มีการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน

ในส่วนของการบริหารจัดการในการฉีดวัคซีนนั้น คุณพาฝัน ในฐานะผู้ประกอบกิจการเล่าให้ฟังว่า “การบริหารจัดการในครั้งแรกอาจมีขลุกขลักบ้าง เพราะมีบางคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนแล้วจะมาฉีด แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับมือได้เป็นอย่างดี การฉีดแต่ละครั้งก็จะมีการสัมภาษณ์และวัดความดันก่อนที่จะได้ฉีด ขณะเดียวกันก็จะมีเอสเอ็มเอสไปแจ้งว่าคิวฉีดของคุณจะเป็นวันที่เท่าไร และไปฉีดที่ไหน ซึ่งการฉีดเข็มที่ 2 ทำได้ดีขึ้นเพราะตนเองไปรอเพียง 15 นาทีก็ได้ฉีดเรียบร้อย”

ทิ้งท้ายคุณพาฝันได้พูดถึงการให้ความร่วมมือของคนภูเก็ตในครั้งนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ตอนระลอกแรก ภูเก็ตเจอกับสถานการณ์ที่หนักมาก ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวอะไร แต่คนภูเก็ตต้องการให้ภาพของภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยวกลับมาให้เร็วที่สุด ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ดีและไม่ต้องการให้โควิด-19 มาทำลายภูเก็ตอีกแล้ว”

การสร้างความเชื่อมั่นและหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้คือสิ่งสำคัญ

ผู้ประกอบการในภูเก็ตอีกรายที่ทีม Tonkit360 ได้มีโอกาสพูดคุยด้วยเป็นเจ้าของธุรกิจรถขนส่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เช่นกัน ได้กล่าวถึงความร่วมมือของคนภูเก็ตในครั้งนี้ว่า

“รอบนี้ภูเก็ตมาอยู่ในกลุ่มสีแดงที่ไม่ใช่สีแดงเข้ม ทั้งที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเพราะคนในจังหวัดตระหนักเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นอย่างมาก เราไม่ได้รู้สึกว่ามันไกลตัวเราเลย ขณะเดียวกันการขอความร่วมมือในการฉีดวัคซีนก็เป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เขาจะให้ฝ่ายบุคคลเข้ามาจัดการลงทะเบียน และพาพนักงานไปฉีดวัคซีนโดยให้ความรู้เบื้องต้นกับพนักงานเป็นอย่างดี ขณะที่คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้และลงทะเบียนให้”

ทั้งนี้ แหล่งข่าวรายนี้ได้รับวัคซีนครบ 2 ครั้งแล้ว ได้กล่าวถึงความกังวลใจของคนที่ยังไม่ได้ฉีดและกลัวผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศ ณ เวลานี้ว่า “เอาเข้าจริงมีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อ อาจจะต้องหาความรู้กันเองด้วย อย่าเพิ่งไปรับข่าวสารทางโซเชียลมีเดียกันมาก ขณะเดียวกันก่อนที่จะฉีดก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจร่างกายก่อน พร้อมให้คำแนะนำถ้าเกิดผลข้างเคียง ตอนนี้การฉีดวัคซีนคือสิ่งที่ต้องร่วมกันทำเพื่อให้คนไทยผ่านจุดวิกฤตในครั้งนี้ให้ได้” 

อัตรามาตามนัดฉีดวัคซีนที่ภูเก็ตมาตามนัดเกือบ 100 เปอร์เซนต์ 

ขณะที่คุณหมอลลิตา ผู้ใช้แอคเคาท์ในทวิตเตอร์ว่า @Lalita_MD และเป็นคุณหมอที่ทำงานอยู่ในจังหวัดภูเก็ตด้วยเช่นกัน และมักโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการวัคซีนและการฉีดวัคซีนที่ภูเก็ตผ่านแอคเคาท์อยู่เป็นประจำ จนทำให้ทีมงาน Tonkit360 ต้อง Direct Message (DM) เพื่อไปขอข้อมูล ดังเช่นข้อมูลแรกคุณหมอลลิตา โพสต์ถึงการจัดบริหารจัดการในการฉีดวัคซีนว่า “แรก ๆ ฉีดวัคซีนจำนวนคนเยอะขนาดนั้นย่อมโกลาหลเป็นธรรมดา อย่าไปท้ออย่าไปด่า วันต่อ ๆ มาราบรื่นขึ้นมากเลยมีแต่เสียงชื่นชม อัตราการมาตามนัดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์”

จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการรับมือในการจัดการบริหารเพื่อฉีดวัคซีนนั้น ย่อมมีความวุ่นวายอยู่แล้วในช่วงเริ่มต้น และอัตราที่มาตามนัดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามที่คุณหมอโพสต์นั้น ทำให้เห็นว่าคนภูเก็ตให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คุณหมอลลิตายังเป็นคนแรกของโรงพยาบาลที่ฉีดวัคซีนโดยโพสตข้อความเอาไว้ว่า “เห็นเค้าเป็นโน่นเป็นนี่กันตอนฉีดวัคซีน นึกดูเราก็กล้ามากขอฉีดเป็นคนแรกของรพ. ลุ้นให้ผ่านไปได้ด้วยดี คนอื่นจะได้มีความมั่นใจมากขึ้น” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีน

และความมั่นใจของคนภูเก็ตต่อการบริหารจัดการ และการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งผลตามมาต่อจำนวนการฉีดวัคซีนต่อวันที่ภูเก็ตทำได้เป็นอย่างดี ดังที่คุณหมอลลิตาได้โพสต์เอาไว้ว่า “ภูเก็ตฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้เฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 คน”

ทั้งหมดนี้คือการทำความเข้าใจต่อสถาการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่สาม ซึ่งนับว่าเป็นรอบที่หนักที่สุดในเมืองไทย การสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในพื้นที่และได้รับวัคซีนแล้วของทีมงาน Tonkit360 ก็เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพอีกด้านของการบริหารจัดการที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน และให้เห็นภาพของการรับข้อมูลที่ถูกต้อง

ทีมงาน Tonkit360 เชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนในประเทศตกอยู่ในความกังวลใจที่จะต้องรับวัคซีน และหวาดกลัวต่อการแพร่ระบาดของไวรัส หากแต่การนั่งโทษกันไปมาไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

หนทางเดียวที่จะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ฉลองการเข้าสู่ปีพุทธศักราช 2565 ได้ คือสิ่งที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า “การฉีดวัคซีนก็เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีภูมิต้านทานโรคขึ้นมา แม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดความรุนแรง ของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก”