กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ VS กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เหมือนกัน-ต่างกันอย่างไร?

เมื่ออยู่ในช่วงวัยที่ต้องคิดถึงการเกษียณจากการทำงาน การมีเงินทุนไว้รองรับชีวิตวัยเกษียณจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม ดังนั้น หากมีเงินก้อนเก็บไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิต ก็จะช่วยให้รู้สึกอุ่นใจได้มากขึ้น

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือยามฉุกเฉิน คือการออมเงินผ่าน “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” และ “กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ” แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าทั้งสองกองทุนนี้เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และด้วยชื่อเรียกที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดความสับสนอยู่พอสมควร แม้ว่าจะเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาวเหมือนกันก็ตาม

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” คืออะไร?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Provident Fund (PVD) ซึ่งเป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว กรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีอย่างไร?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทุบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง ซึ่งเงินสะสมของลูกจ้างนั้นดำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2-15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน หากเลือกอัตราเงินสะสมสูงสุดที่สามารถเลือกได้  นายจ้างก็จะต้องจ่ายเงินสมทบให้มากขึ้นตามไปด้วย

โดยในระหว่างที่เงินของเราอยู่ในกองทุน บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะนำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน

“กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ” คืออะไร?

กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Retirement Mutual Fund (RMF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ คล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข. /Government Pension Fund) ของข้าราชการ

กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพดีอย่างไร?

ผลตอบแทนของกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีให้เลือกหลากหลายตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน อาทิ RMF ตราสารหนี้, RMF ตราสารทุน, RMF แบบผสม และ RMF ที่ลงทุนในต่างประเทศ

ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงสามารถเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนใน RMF ได้มากกว่าเงินออมทรัพย์ในธนาคาร และสามารถจัดสรรเงินเพื่อซื้อ RMF ต่างชนิดกันได้ เปรียบได้กับการจัดพอร์ตขนาดย่อม เพื่อเตรียมไว้สำหรับการเกษียณนั่นเอง

ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก PVD 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือเป็นสวัสดิการที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งการเป็นสมาชิกกองทุน PVD จะช่วยให้มีวินัยในการออมเพื่อเกษียณอย่างต่อเนื่อง  เมื่อออกจากงาน (ในวัยเกษียณ) ก็จะมีเงินก้อนไว้ใช่จ่าย และมีหลักประกันทางการเงินให้แก่ครอบครัว

โดยกองทุนดังกล่าวมีมืออาชีพมาช่วยบริหารเงินออมให้กับเรา ขณะเดียวกันเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้ก็เปรียบได้กับการได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนด้วย รวมถึงยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำมาหักลดหย่อนภาษีด้วย

ประโยชน์จากการซื้อกองทุน RMF

กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นอกจากจะเป็นการออมเงินก้อนเพื่อไว้ใช้จ่ายยามเกษียณแล้ว หากผู้ลงทุนปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยกัน 2 ทาง

  • เงินลงทุนในกองทุน RMF สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมเข้ากับเงินกองทุน PVD , กบข.  และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
  • กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่ถ้าลงทุนเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้ หรือเกิน 5 แสนบาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วมีกำไร จะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (นับเฉพาะเงินลงทุนส่วนเกิน) ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน RMF ผู้ลงทุนจำเป็นต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณหรือไม่ และพร้อมที่จะลงทุนระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขการลงทุนระบุไว้ชัดเจนว่าต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน

นอกจากนี้ การขายคืนหน่วยลงทุนจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย