จะเกิดอะไรขึ้น หาก “เน็ตฟลิกซ์” จำกัดการเปิดตี้หารในไทย

จะเรียกว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ใช้งานสายเปิดตี้ของ Netflix (เน็ตฟลิกซ์) ที่ลงทุนสมัครแพ็กเกจพรีเมียมก็ว่าได้ คนที่ยอมจ่ายราคาแพ็กเกจใหญ่เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง แล้วแชร์บัญชีกัน ทำให้มีผู้ใช้งานหลายคน “ลงขัน” กันซื้อแพ็กเกจใหญ่นั้นเพื่อแชร์รหัสผ่านกัน เพราะค่าบริการแพ็กเกจใหญ่ที่ว่า พอนำมาหารกันแล้วถือว่าประหยัดค่าใช้จ่ายต่อคนได้มากโข แต่ ณ เวลานี้ เน็ตฟลิกซ์ กำลังเริ่มจะออกข้อบังคับจริงจังสำหรับผู้สมัครในแต่ละแพ็กเกจ ว่าการใช้งานร่วมกันจะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้น

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ใช้งานเน็ตฟลิกซ์จากต่างประเทศรายหนึ่งพบว่าเน็ตฟลิกซ์ ได้ส่งข้อความแจ้งเตือนว่า “If you don’t live with the owner of this account, you need your own account to keep watching.” หรือ “ถ้าคุณไม่ได้อาศัยอยู่กับเจ้าของบัญชีเน็ตฟลิกซ์นี้ คุณต้องสร้างบัญชีเป็นของตัวเองเพื่อดูต่อ” ซึ่งหากต้องการเข้าใช้งาน จะต้องทำการยืนยันด้วยรหัสที่จะส่งไปทางอีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์เจ้าของแอคเคาท์ที่ลงทะเบียนไว้

ย้อนกลับไปมองที่การหารกันใช้งานของผู้ใช้งานเน็ตฟลิกซ์กันเสียหน่อย ส่วนใหญ่น่าจะใช้ระบบหาร 4 คน (สูงสุดต่อบัญชี) แล้วสร้างโปรไฟล์ของแต่ละคนขึ้นมาเพื่อที่นำไปใช้ของใครของมัน อันที่จริงเน็ตฟลิกซ์ตั้งกฎนี้ไว้แต่แรกแล้ว แค่ยังไม่เคยบังคับใช้จริงจัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันส่งผลกระทบต่อผู้ที่ใช้งานในลักษณะนี้ (ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎ) ประมาณว่าก็จ่ายเงินแล้ว จะแชร์ใช้อย่างไรก็ได้ แต่ทำไมต้องจำกัดการแชร์กับคนอื่น แล้วบังคับเฉพาะคนที่อยู่บ้านเดียวกัน

นั่นแปลว่า หากเน็ตฟลิกซ์ตรวจพบว่ามีคนพยายามใช้บัญชีโดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ คนพวกนั้นจะถูกขอให้ยืนยันตัวตนผ่านรหัสอีเมล หรือข้อความบนมือถือ ถ้าไม่สามารถยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชีภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ไม่สามารถเข้าใช้บริการเน็ตฟลิกซ์ได้ และจะถูกกดดันให้สร้างบัญชีของตนเองขึ้นมาแทน ตามกฎการใช้งานที่ว่า “สำหรับการใช้งานส่วนตัว ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ และห้ามแชร์กับบุคคลอื่นนอกเหนือจากครอบครัว”

คนจะหันไปหาเว็บเถื่อนดู

ทุกคนรู้ดีว่าการดูหนังดูซีรีส์ในเว็บเถื่อนนั้นมันผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถึงการลักไก่แชร์รหัสกันอย่างทุกวันนี้จะดูเป็นคนขี้โกง แต่ก็ถือว่าอุดหนุนของถูกลิขสิทธิ์ แบบที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากโข จากแพ็กเกจใหญ่ราคาเต็มที่ต้องจ่ายคนเดียว พอหาร 4 ก็จะจ่ายจริงคนละไม่กี่บาท (แถมบางคนก็ยังหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย) จุดนี้นี่เองที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์สูญเสียรายได้มหาศาล เพราะถึงเน็ตฟลิกซ์จะได้ค่าสมาชิกรายเดือนทุกเดือน แต่จำนวนคนที่ใช้งานจริงนั้นมากกว่าจำนวนคนที่ต้องจ่ายเงิน อย่างน้อย ๆ ก็ 4 เท่าตัว

เมื่อเน็ตฟลิกซ์หันมาเข้มงวดกับการจำกัดการแชร์รหัสผ่านแบบนี้ ผู้ใช้งานหลายคนไม่ยอมเสียแพงกว่าที่ตนเองเคยจ่ายอยู่แล้ว เพราะเน็ตฟลิกซ์ก็พยายามกดดันให้คนกลุ่มนั้นสมัครบัญชีผู้ใช้งานขึ้นมาใหม่ ในเมื่อเขาไม่ยอมจ่ายอะไรที่แพงกว่า ก็จะหันไปหาสิ่งที่ราคาเท่ากัน ถูกกว่า หรือฟรีไปเลย ซึ่งถ้าพูดถึงของฟรีแล้ว เว็บเถื่อนก็ตอบโจทย์ที่สุด นั่นจะทำให้ยอดผู้สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีจิตสำนึกในเรื่องลิขสิทธิ์

ไม้ง้อ หันไปหาเจ้าอื่นแทนก็ได้

สมรภูมิแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในเวลานี้เรียกได้ว่าแข่งขันกันดุเดือดมาก สตรีมมิ่งแต่ละเจ้าพยายามสรรหาคอนเทนต์น่าสนใจ คอนเทนต์แปลก ๆ คอนเทนต์ที่กำลังเป็นกระแส มาเสิร์ฟลูกค้าเพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ใช้งาน หรือแม้แต่การสร้างคอนเทนต์ใหม่ขึ้นมาเอง เพราะรายการที่มีความเฉพาะตัวนี้จะมีจุดเด่น ซึ่งสามารถจูงใจให้คนเข้าไปสมัครสมาชิกได้

แม้ว่าวิธีการที่เน็ตฟลิกซ์กำลังทดสอบอยู่นี้ อาจไม่ช่วยป้องกันการแชร์รหัสผ่านได้ทั้งหมด เพราะมันเพียงแต่เพิ่มความน่ารำคาญและความลำบากในการเข้าใช้งาน หากจะยังโกงกันจริง ๆ แค่ติดต่อเจ้าของบัญชีเพื่อขอรหัสยืนยันตัวตน ส่วนเจ้าของบัญชีก็แค่ส่งรหัสผ่านที่เพื่อนขอไปให้ มันก็ไม่ยากเท่าไรนัก แต่ที่น่าห่วงคือถ้าเขารู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะหนีไปใช้สตรีมมิ่งเจ้าอื่นที่ไม่วุ่นวาย ไม่เรื่องมาก ตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นแบบนี้

นั่นหมายความว่า เน็ตฟลิกซ์อาจต้องหามาตรการมารองรับให้ดี ๆ คนที่หนีไปดูเว็บเถื่อนก็คงห้ามไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคน แต่ลูกค้าบางรายที่มองว่ามันยุ่งยาก น่ารำคาญ ก็จะพากันหนีไปหาที่อื่นดูก็เป็นได้ ยิ่งถ้าคุณภาพใกล้เคียงกัน ราคาไม่ต่างกันมาก แต่ไม่ยุ่งยากน้อยกว่าเยอะ ย่อมขายได้อยู่แล้ว เพราะในโลกที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกตัวเลือกที่มากขนาดนี้ ก็ไม่แปลก ที่ทุกคนจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (ซึ่งอาจไม่ใช่ถูกต้องที่สุด) ให้กับตนเอง