การบริจาคโลหิตถือเป็นการทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะเลือดที่บริจาคไปนั้น สามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ ทั้งผู้ที่เสียเลือดจากอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยที่ต้องการเลือดอย่างเร่งด่วน
แม้ว่าคุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต ไม่ได้มีข้อจำกัดมากมาย เพียงมีอายุตั้งแต่ 17 ปี มีน้ำหนักตัว 45 กิโลกรัมขึ้นไป และมีสุขภาพแข็งแรง ก็สามารถบริจาคเลือดได้แล้ว แต่ปัจจุบันคลังเลือดสำรองตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยก็ยังคงไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนหนึ่งที่เลือดขาดแคลนเป็นเพราะบางคนยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการบริจาคเลือดนั่นเอง
หากไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตหรือไม่ Tonkit360 รวบรวมข้อมูลผิด ๆ พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องมาไว้ที่นี่แล้ว
บริจาคเลือดใช้เวลานาน เสียเวลา!
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าบริจาคเลือดแต่ละครั้งมีความยุ่งยาก ใช้เวลานาน จึงไม่อยากเสียเวลา แต่รู้หรือไม่ว่าขั้นตอนในการเจาะเก็บโลหิตแต่ละครั้งนั้น ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที
หากนับตั้งแต่ขั้นตอนการกรอกแบบฟอร์มผู้บริจาคโลหิต ซักประวัติ ตรวจความเข้มข้นของเลือด ไปจนถึงการเจาะเก็บเลือด และนั่งพักหลังจากบริจาคเลือดก่อนเดินทางกลับบ้าน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถือว่าคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพราะการบริจาคเลือด 1 ครั้ง สามารถช่วยต่อชีวิตให้ผู้อื่นได้มากถึง 3 คนเลยทีเดียว!
กลัวบริจาคเลือดแล้วจะติดเชื้อกลับมา
หลายคนกลัวว่าการบริจาคเลือดอาจทำให้ตัวเองเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้ตัวโดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถวางใจได้ เพราะทุกขั้นตอนของการเจาะเลือดต้องใช้เทคนิคที่ทำให้ปราศจากเชื้อ ขณะที่อุปกรณ์ซึ่งใช้สำหรับเจาะโลหิตล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เข็มและถุงบรรจุโลหิตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าผู้บริจาคโลหิตจะไม่ได้รับเชื้อเอชไอวีจากการบริจาคเลือดแต่อย่างใด
ส่วนผู้ที่กังวลว่าการบริจาคเลือดอาจจะส่งผลแทรกซ้อนในระยะยาวได้หรือไม่นั้น ข้อมูลจากสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทยระบุว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน โดยไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาว ในทางกลับกัน ยังพบด้วยว่าผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีอายุยืนกว่า และมีโอกาสเกิดโรคหัวใจหรือมะเร็งต่ำกว่าประชากรทั่วไป
กลัวเลือดไม่พอ เพราะบริจาคไปแล้วปีนี้
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าตนเองสามารถบริจาคเลือดได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น หากจะไปบริจาคอีกก็กลัวว่าจะมีเลือดไม่เพียงพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายจะผลิตเลือดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเลือดในร่างกายของเราจะคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว
โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยระบุว่าสามารถบริจาคเลือดได้ทุก ๆ 3 เดือน รวมเป็น 4 ครั้งต่อปี แต่สามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้ทุกเดือน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริจาคโลหิต ขณะที่ในสหรัฐอเมริกานั้น สภากาชาดสหรัฐอเมริการะบุว่าสามารถบริจาคเลือดได้ทุก 8 สัปดาห์ หรือ 56 สัปดาห์ ส่วนการบริจาคเกล็ดเลือดนั้น สามารถบริจาคได้ทุก 2 สัปดาห์
เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนบริจาคเลือด
เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคเลือดแล้ว หากใครมีคุณสมบัติที่เข้าเกณฑ์ ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเดินทางไปบริจาคเลือด โดยสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย มีข้อแนะนำไว้ดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้อย่างเต็มที่ปริมาณ 3-4 แก้ว
- ควรรับประทานอาหารตามมื้ออาหารปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ก่อนบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
สำหรับสถานที่รับบริจาคโลหิต มีดังนี้
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม บางแค
- เดอะมอลล์สาขาบางแค บางกะปิ งามวงศ์วาน
- ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม
- บ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)
- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง
- สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
ข้อมูล : สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย / ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย / blooddrivesafety.com / giveapint.org