จิตวิทยาการตลาด กับกลุ่ม FOMO “คนกลัวตกเทรนด์”

นี่ ๆ เธอได้ฟังเพลงนี้หรึอยัง? เธอได้ดูคลิปนี้หรือเปล่า? เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ หลายคนต้องได้เจอกับตัวเองมาบ้าง และถ้าคำตอบคือ “ไม่เห็นรู้เรื่องเลย” คุณก็จะกลายเป็นคนที่ “ตกข่าว” ในสายตาของเพื่อน ๆ ไปในทันที

ทั้งนี้ เป็นเพราะธรรมชาติของมนุษย์ล้วนต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ต้องการรู้ความเป็นไปของสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อจะได้คุยกับคนอื่นเขารู้เรื่อง และกลายมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญในปัจจุบัน

หากใครต้องการให้แบรนด์ของตนเองเป็นที่พูดถึงในสังคม ก็จำเป็นต้องเข้าถึงกลุ่มคนจำพวก “FOMO” ให้ได้ เพราะนี่คือกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้แบรนด์ปังหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้

กลุ่ม FOMO คือใคร

FOMO ย่อมาจาก Fear Of Missing Out ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกกลัวว่าตนเองจะพลาดหรือตกกระแสอะไรไป ซึ่งมักจะมี “โซเชียลมีเดีย” มาเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น จากการที่เห็นโพสต์ของคนอื่น แต่คุณไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย

จากผลสำรวจของ mylife.com พบว่ากว่าครึ่ง (56 เปอร์เซ็นต์) ของคนที่เล่นโซเชียลมีเดียล้วนมีประสบการณ์ FOMO ด้วยกันทั้งนั้น โดยพวกเขายอมรับว่ากลัวจะตกข่าวหรือพลาดเรื่องสำคัญ ๆ ไป ถ้าไม่ติดตามสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ใน Generation Y หรือ Millennials

Generation Y คือกลุ่ม FOMO

คนที่มีประสบการณ์ FOMO มักจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใน Generation Y หรือคนที่เกิดในปี 2524-2539 ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปีนั่นเอง ซึ่งผลสำรวจจาก Evenbrite.com ระบุว่ามีจำนวนมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์!

โดย Evenbrite ถึงกับเปรียบเปรยอาการ FOMO ของคนเจนวายว่า ไม่ได้เป็นแค่ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่คือ “โรคระบาด” เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เจนวายจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการทำการตลาดที่แบรนด์ต่าง ๆ ต้องการ เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองหรือจับจ่ายใช้สอยได้ง่าย

โดยปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เจนวายเกิดอาการ FOMO ได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เรื่องท่องเที่ยว (59 เปอร์เซ็นต์) งานอีเวนท์หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ (56 เปอร์เซ็นต์) และอาหาร (29 เปอร์เซ็นต์)

FOMO ส่งผลกระทบอย่างไร?

จากผลสำรวจโดย Citizens Relation บริษัทด้านประชาสัมพันธ์ของแคนาดา พบว่า FOMO ส่งผลต่อการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนได้โดยจำแนกได้ดังนี้

  • 39 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเกิดความรู้สึกอิจฉา อยากมีอยากได้กับเขาบ้าง
  • 30 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าอิจฉาจนไม่อยากให้คนอื่นมีหรือได้สิ่งนั้น
  • 20 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเศร้าหรือผิดหวัง เพราะตนเองไม่ได้มีสิ่งนั้นเหมือนคนอื่น

นั่นหมายความว่า การทำการตลาดใด ๆ โดยเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนก็จำเป็นต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนด้วยเช่นกัน

จิตวิทยาในการทำการตลาดกับกลุ่ม FOMO

วิธีการที่มักจะได้ผลในการทำการตลาดกับกลุ่มคนที่เป็น FOMO คือ การยื่นข้อเสนอโดยมีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา หากไม่รีบตัดสินใจในช่วงเวลาที่ระบุไว้ก็อาจจะพลาดโอกาสดี ๆ นั้นไปได้

ขณะที่การกระตุ้นด้วยการโชว์ให้เห็นว่ามีคนซื้อสินค้าชิ้นนั้นไปมากน้อยเพียงใด หรือมีคนกำลังดูสินค้าชิ้นนี้พร้อมกับเราอยู่กี่คน ก็เป็นกลยุทธ์ที่เล่นกับจิตวิทยาด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นว่ามีคนสนใจเยอะ และเหลือจำนวนสินค้าเพียงเล็กน้อย ก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะกลัวว่าจะซื้อหรือจองไม่ทันคนอื่น ๆ

นอกจากนี้ การยื่นข้อเสนอสุดพิเศษที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคก็ใช้ได้ผลเช่นกัน อาทิ ส่งสินค้าฟรีโดยไม่คิดค่าบริการเฉพาะวันนี้เท่านั้น! หรือ รับส่วนลดสุดพิเศษ 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ 100 คนแรกที่สั่งสินค้าตอนนี้!

กลยุทธ์เหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าไม่ควรพลาดข้อเสนอดี ๆ แบบนี้ไป และยังกระตุ้นให้กลุ่ม FOMO หมั่นเช็กในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาด้วย เพราะไม่อยากให้คำว่า “รู้อย่างนี้” เกิดขึ้นกับตัวเอง!

อ้างอิงข้อมูล : businessinsider.com /sleeknote.com / strategyonline.ca