เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แอคเคาน์ทวิตเตอร์ทางการที่ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)” ได้โพสต์เตือนผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “จุดจบของถั่งเช่าในประเทศจีน ถั่งเช่าไม่ใช่อาหารเสริม” โดยอ้างว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของจีน ได้ถอดถั่งเช่าออกจากบัญชีอาหารเสริม ระบุว่าถั่งเช่าไม่ใช่อาหารเสริม แต่มันคือยา!!!
หากอ่านเจอในแว่บแรกอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้คิดวิเคราะห์ให้รอบคอบว่ามันต่างกันอย่างไร แต่ถ้าหากอ้างอิงตามกฎหมายของประเทศไทย จะสามารถนิยาม “ยา” และ “อาหารเสริม” ได้ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (อ้างอิงจากกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ยา คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์
ส่วนอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2548 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ อยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารตามปกติ (conventional foods) สําหรับผู้บริโภคที่คาดหวังประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพ
นั่นหมายความว่า “ยา” กับ “อาหารเสริม” มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันชัดเจน ในเมื่อวัตถุประสงค์ของการกินยานั้นเพื่อรักษาโรค แต่อาหารเสริมคืออาหารที่กินนอกเหนือจากอาหารปกติ โดยคาดหวังประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น หากเป็น “ยา” จึงไม่ใช่สิ่งที่จะกินได้พร่ำเพรื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
ในเมื่อถั่งเช่าจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกินได้ตามใจชอบเพราะคิดว่าสมุนไพรจะไม่เป็นอันตราย บทความนี้ Tonkit360 จะพยายามอธิบายถึงถั่งเช่าให้เข้าใจง่าย ๆ ตามแหล่งอ้างอิงที่เป็นภาษาจีน และจะพยายามไม่ใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจยาก นอกเหนือจากการระบุสารประกอบที่มีอยู่ในถั่งเช่า
ทำความรู้จักกับถั่งเช่าให้ดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และธิดารัตย์ จันทร์ตอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายไว้ว่า ถั่งเช่า หรือตังถั่งเช่า หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า หญ้าหนอน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hepialus armoricanus Oberthiir ยาสมุนไพรชนิดนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน คือ ตัวหนอนของผีเสื้อ บนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec.
หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อย ๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง
หรือให้เข้าใจง่ายกว่านั้น ถั่งเช่า เกิดจากเชื้อราที่เจริญเติบโตบนซากหนอน มีสรรพคุณเชิงเภสัชสมุนไพรหลายประการ สามารถบริโภคได้ หากบริโภคอย่างถูกวิธี ไม่กินเยอะเกินไป ไม่ใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้ รวมถึงผู้ป่วยบางโรค และยังมีข้อควรระวังชัดเจนในการใช้ถั่งเช่ารักษาผู้ป่วยด้วย
ถั่งเช่า ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีนในเรื่องของกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต
องค์ประกอบทางเคมีของถั่งเช่า
ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่าง ๆ ( Vit E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม)
สรรพคุณของถั่งเช่า
ข้อมูลจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เคยได้สอบถามข้อมูลเรื่องถั่งเช่าจากแพทย์แผนจีน (แพทย์จีน ธนภัทร จินตกุล หัวหน้าสถานพยาบาลวิทยาลัยการแพทย์ทางเลือก ม.ราชภัฏจันทรเกษม) และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (นายแพทย์ มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก) ระบุว่าถั่งเช่าถูกจัดไว้ในตำรายาจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงของจีน แม้แต่ตำรายาฉบับสากลของรัฐบาลจีน และกระทรวงสาธารณสุขของจีนก็มีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของจีนก็ระบุไว้เช่นกันว่า ถั่งเช่าไม่ใช่อาหารเสริมที่ประชาชนจะสามารถหาซื้อกินเองหรือกินได้ทุกวัน เนื่องจากพบว่าถั่งเช่าแท้ ๆ มีส่วนผสมของสารตกค้างบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือสารประเภท Arsenic หรือที่รู้จักกันในนามสารหนู โดยมีค่าสูงเกินมาตรฐาน ถ้ากินต่อเนื่องไปนาน ๆ อย่างการกินเป็นอาหารหรือเป็นอาหารเสริมตามที่มีการกล่าวอ้างว่าบำรุงสุขภาพร่างกาย เพราะเมื่อสะสมในร่างกายจะมีความเป็นพิษเกิดขึ้น
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ถั่งเช่าไม่ใช่ยาหลอกหรือยาลวงแต่ประการใด ถั่งเช่ายังคงมีสรรพคุณทางยาที่ใช้เพื่อรักษาโรค แต่ถูกถอนออกจากบัญชีอาหาร ซึ่งก็คือไม่ใช่สิ่งที่กินได้ทั่วไปเหมือนอาหาร
ถั่งเช่าเป็นยา
ส่วนสรรพคุณทางยาของถั่งเช่าที่บันทึกไว้ในตำราจีนเล่มต่าง ๆ ถั่งเช่าสามารถบำรุงไต เสริมสมรรถภาพทางเพศ บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว บำรุงปอด แก้อาการไอเรื้อรัง ไอหอบ ไอวัณโรค ไอเป็นเลือด ซึ่งสรรพคุณเหล่านี้มีงานวิจัยชัดเจน
ส่วนสรรพคุณในการต้านมะเร็งตามที่มีการโฆษณานั้น งานวิจัยเก่าพบว่าในถั่งเช่ามีสาร Cordycepin ที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง แต่ในเอกสารวิจัยยุคใหม่กลับไม่ปรากฏสารชนิดนี้ในถั่งเช่า เพราะฉะนั้น คุณสมบัติในการต้านมะเร็งนั้นจึงยังไม่สามารถกล่าวอ้างเช่นนั้นได้ เนื่องจากหลักฐานในการวิจัยยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ทางการแพทย์แนะนำว่าถั่งเช่าคือยา เพื่อให้ปลอดภัยที่สุดคือกินเมื่อจำเป็นเท่านั้น และการจะกินได้ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายตามอาการป่วย
ถั่งเช่ามีฤทธิ์เป็นยาที่ดีหากใช้ให้ถูกวิธี ไม่ใช่การกินเป็นประจำแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามที่เห็นได้ตามโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นสมุนไพร แต่ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้องก็เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรดีที่สุด เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ควรฉลาดเลือก ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ และศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนใช้งาน
อย่าตกเป็นเหยื่อการอวดอ้างทางการค้า
จากการที่แพทย์ยืนยันว่าถั่งเช่านั้นมีคุณสมบัติและสรรพคุณทางยา จึงมีการนำมากล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริงว่าหากกินเป็นอาหารเสริมก็จะสามารถบำรุงร่างกายให้แข็งแรง หรือป้องกันอาการป่วยได้ อย่างไรก็ดี หากดูตามที่แพทย์ระบุก็จะพบว่าในเมื่อถั่งเช่าเป็นยา การใช้งานจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะหาซื้อมากินเอง
เนื่องจากทางการค้าขาย มีการกล่าวอ้างสรรพคุณครอบจักรวาลของถั่งเช่า จึงสามารถที่จะขายในราคาที่สูงขึ้นได้ และถั่งเช่าเองก็เป็นของหายากอยู่แล้ว ทำให้เกิดความต้องการมากกว่าของที่มี ถ้าอยากได้เพื่อใช้บำรุงร่างกายก็ควรจะต้องสรรหาซื้อมากิน ต่อให้ราคาสูงแค่ไหนก็ตาม ทั้งที่แพทย์ก็เตือนแล้วว่าถั่งเช่าก็เป็นเพียงยาชนิดหนึ่ง ที่ไม่ได้มีสรรพคุณวิเศษอะไรขนาดนั้น
ด้วยความที่ถั่งเช่าเองก็มีหลายเกรด แม้ว่าจะเป็นต้นพันธุ์เดียวกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ปลูก เวลาการเก็บเกี่ยว หรือแม้แต่การปลูกที่เดียวกันแต่คนละฤดูกาลก็ยังมีสารประกอบสำคัญที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นถั่งเช่าเหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาโรคได้เหมือนกัน และไม่สามารถยืนยันได้ว่าถั่งเช่าที่นำมากล่าวอ้างนั้นมีสรรพคุณตามที่โฆษณา หากยังไม่มีงานวิจัยในถั่งเช่าแต่ละชนิด
ส่วนอันตรายจากการกินถั่งเช่าในปริมาณที่มากเกินไป หรือกินอย่างต่อเนื่องเพราะคิดว่าช่วยบำรุงสุขภาพนั้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าร่างกายอาจเกิดการสะสมของสารหนู ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ชักและหมดสติ ระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะออกน้อย มีไข่ขาวในปัสสาวะ ระบบโลหิตพบภาวะโลหิตจาง
อาการทางผิวหนัง คือ ผิวหนังหนา เปลี่ยนสีมีสีเข้มขึ้นและอ่อนลงเป็นจุดทั่วร่างกาย มีลักษณะเหมือนจุดจากฝนตก ( raindrop appearance) ชาตามปลายมือปลายเท้า ความผิดปกติที่ผิวหนัง สารหนูเป็นสารก่อทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด และมะเร็งที่ไต (ข้อมูลจาก สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
รวมถึงด้วยสรรพคุณทางยาของถั่งเช่า หากได้รับมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการไตวายได้ เพราะปกติของการกินยา สารตกค้างที่เหลือจะถูกส่งไปยังไต ก็จะทำให้ไตทำงานหนัก ข้อมูลจาก “นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” โดยอ้างอิงข้อมูลจาก รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่พบผู้ป่วยไตเรื้อรัง 3 ราย วัยกลางคนและสูงอายุ ใช้สารสกัดถั่งเช่า รับประทาน 1 เม็ดต่อวัน เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลง (eGFR ลดลง) เมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น บางคนไม่ดีขึ้นกลายเป็นไตวายระยะสุดท้าย
แค่ดูแลตัวเอง อาหารเสริมก็ไม่จำเป็น
จริง ๆ แล้ว หลักการดูแลสุขภาพง่าย ๆ หัวใจสำคัญคือตัวเราเอง แค่ดูแลอาหารการกินให้ครบหลัก 5 หมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ เพราะวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ มีอยู่ในอาหารที่เรากินกันทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่เราเลือกกินได้ถูกไหมเท่านั้นเอง
ก่อนที่จะนำอะไรเข้าสู่ร่างกาย ควรศึกษาสรรพคุณของมันให้ถ่องแท้เสียก่อน ไม่ใช่แค่เห็นว่ามันช่วยนู่นนี่นั่นได้แล้วจะนำมากินได้ตามใจชอบ หากขึ้นชื่อว่า “ยา” แล้ว จึงไม่ใช่สิ่งที่จะมากินเล่น ๆ ได้ เมื่อกินมากเกินไปย่อมเป็นโทษแน่นอน และไม่ควรเชื่ออะไรก็ตามที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ถ้ามีคุณก็ย่อมมีโทษเช่นกัน จึงไม่ควรมองแค่ประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ให้นึกถึงโทษของมันด้วย หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้มากเกินไป