โรคหลอดเลือดหัวใจ ถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองมาจากโรคมะเร็ง เนื่องด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน สภาวะแวดล้อม หรือความเครียดที่รุมเร้า จนส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าว แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จึงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้
นอกเหนือจากการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง กินยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยารักษาหลอดเลือดแข็ง และยาควบคุมไขมันแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ การกินยาอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาโรค
ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจึงต้องเข้ารับการรักษาด้วยการขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ (ทำบอลลูน) หรือการผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ (บายพาส)
ความแตกต่างระหว่างทำบอลลูน VS บายพาส
เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่าผู้ป่วยโรคหัวใจ หากไม่ทำบอลลูน ก็ทำบายพาส แต่ยังไม่ทราบว่า 2 วิธีการนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่ง Tonkit360 รวบรวมข้อมูลมาไว้ที่นี่แล้ว
การทำบอลลูน
คือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นการดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น เมื่อเลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง หายใจได้เต็มที่ขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
การผ่าตัดบายพาส
คือ การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ โดยหลอดเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่ากัน
โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าอก แล้วต่อเส้นเลือดที่ได้มา ต่อเชื่อมเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ต้า-Aorta) ไปยังส่วนปลายของหลอดเลือดแดงหัวใจที่มีการอุดตัน เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เพียงพอ
เมื่อไรควรทำบอลลูน เมื่อไรควรทำบายพาส
ในกรณีที่การรักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องพึ่งวิธีการรักษาด้วยการทำบอลลูน โดยทั่วไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูน ซึ่งจะใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน
หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ความดันโลหิต เบาหวาน ไขมัน และการเลิกสูบบุหรี่ได้ดี เมื่อมีการตีบใหม่ ก็สามารถทำบอลลูนซ้ำได้ ซึ่งขณะที่ทำบอลลูนนั้น แพทย์อาจจะใช้กล้องส่องผ่านหลอดเลือด (Intravascular ultrasonography-IVUS) เพื่อตรวจประเมินหลอดเลือดหัวใจก่อนและหลังทำบอลลูน
แต่หากไม่สามารถขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจได้ เพราะรอยโรคเยอะมาก หรือมีรอยโรคที่ซับซ้อน จนทำให้แพทย์ต้องทำบอลลูนทั้งเส้น หรือต้องทำหลายครั้ง อายุรแพทย์หัวใจจะส่งปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อทำการผ่าตัดบายพาสต่อไป
ผ่าตัดบายพาส มีอายุการใช้งาน
การผ่าตัดบายพาสจะมีอายุการใช้งานด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นอะไหล่ ถ้าใช้อะไหล่เป็น “เส้นเลือดดำ” จะมีอายุใช้งานอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป โดยจะมีโอกาสกลับมาตีบตันหรือเสื่อมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
ถ้าใช้ “เส้นเลือดแดง” หลอดเลือดจะมีอายุใช้งานอยู่ที่ 10 ปีขึ้นไป โดยจะมีโอกาสกลับมาตีบตันหรือเสื่อมประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีนี้ แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดธรรมชาติ หรือหลอดเลือดที่ทำบายพาสตามดุลยพินิจของแพทย์ ในการทำบายพาสจะใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 7-10 วัน
อย่างไรก็ตาม ข้อพิจาณาในการรักษาด้วยบอลลูนหรือบายพาสนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสภาพและโรคประจำตัวของผู้ป่วย รวมถึงความซับซ้อนของรอยโรคหลอดเลือดหัวใจ โอกาสความสำเร็จในการทำ และผลแทรกซ้อนในการรักษา ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจผู้ให้การรักษาจะให้ข้อมูลกับตัวผู้ป่วยและญาติก่อนทำการรักษา
ข้อมูล : มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์