อย่ามัวแต่โทษเด็ก หากลูกหลานมีพฤติกรรม “ติดเกม”

ภาพจาก pixabay

ปัญหา “เด็กติดเกม”  ถือเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในบ้านเรา ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาพฤติกรรมและอาการเสพติดเกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง เพิ่มขี้นถึง 1.5 เท่า ในรอบ 3 ปี

โดยส่วนใหญ่เด็กที่ติดเกม ร้อยละ 96 เป็นผู้ชาย  และที่น่าตกใจไปกว่านั้น  คือมีเด็กอายุ 5 ขวบ รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย ซึ่งการเสพติดเกม โดยเฉพาะเกมต่อสู้ออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้ ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และบางคนรุนแรงถึงขั้นส่งผลให้มีอาการทางจิตเวชและโรคอื่นๆ ร่วมด้วย  เช่น โรคสมาธิสั้น, โรคดื้อต่อต้าน, โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้

สำหรับพฤติกรรมติดเกมนั้น  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า จะมีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล กระวนกระวาย  เพราะอยากจะเล่นเกม จนถึงขั้นพฤติกรรมก้าวร้าวหากไม่ได้เล่น รวมถึงไม่สนใจการเรียน ขาดสมาธิในการเรียน แยกตัวไม่เข้าสังคม และสัมพันธภาพในครอบครัวแย่ลง

หาสาเหตุให้เจอ ทำไมเด็กถึงติดเกม

ก่อนจะโทษเด็กอยู่ฝ่ายเดียวที่เผลอไผล คงต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้เสียก่อนว่าเหตุใดเด็กจึงติดเกม ซึ่ง  ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า สาเหตุหลักนั้น มีด้วยกัน 3 ประการ

1.การเลี้ยงดูในครอบครัว : มักพบเด็กติดเกมในครอบครัวที่เลี้ยงเด็กโดยไม่เคยฝึกหัดให้มีวินัยในตัวเอง ขาดกฎระเบียบ กติกาในบ้าน ตามใจเด็ก หรือมักจะใจอ่อนไม่ทำโทษเมื่อเด็กกระทำผิด

หรือบางครอบครัว สมาชิกในครอบครัวต่างคนต่างอยู่ ไม่มีกิจกรรมที่สนุกสนานให้เด็กทำ  หรือไม่มีกิจกรรมที่สมาชิกทุกคนทำร่วมกันได้ จึงทำให้เด็กเกิดความเหงา ความเบื่อหน่าย  ต้องหากิจกรรมอื่นเพื่อทำให้ตัวเองสนุก ซึ่งหนีไม่พ้นการเล่นเกม

2.สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป : สังคมยุคไฮเทคที่มีเครื่องมือที่มีพลังในการเร้าความตื่นเต้นให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้อย่างมหาศาล สังคมวัตถุนิยม สังคมที่ขาดแคลนกิจกรรม หรือสถานที่ที่เด็กจะได้ใช้ประโยชน์หรือเรียนรู้ โดยได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เด็กหันไปใช้การเล่นเกมเป็นทางออก

3.ปัจจัยในตัวเด็กเอง : เด็กบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเกมมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาอารมณ์ซึมเศร้า หรือวติกกงัวล ขาดทักษะทางสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้  มีปัญหาในการเรียน มีความรู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเองต่ำ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เด็กหันไปเล่นเกม เพื่อหนีปัญหาต่างๆ ซึ่งหากครอบครัวใส่ใจ เข้าใจในตัวเด็ก ก็จะทำให้ลดปัญหาเด็กติดเกมลงไปได้

แก้ปัญหาเด็กติดเกม ครอบครัวสำคัญที่สุด  

เมื่อเข้าใจว่าเด็กติดเกมเพราะสาเหตุใด ก็ควรแก้ให้ตรงจุด ซึ่งปัญหานี้ครอบครัวถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ลูก ก็มักแก้ปัญหาด้วยการให้เงินลูกไปใช้ หรือซื้อแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นแทน จนสุดท้ายลูกกลายเป็นเด็กติดเกมโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นนี้ ผศ.นพ.ชาญวิทย์ แนะนำให้ผู้ปกครองหาเวลาอยู่กับเด็กให้มากขึ้น พาไปทำกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้าน  หลีกเลี่ยงการตำหนิ หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงกับลูก  พูดคุยกับลูกให้เข้าใจหากจะอนุญาตให้เล่นเกม ทั้งการกำหนดกติกา และเวลาในการเล่น ชื่มชมพวกเขาเมื่อสามารถรักษาเวลาในการเล่นเกมได้ตามที่ตกลงกันไว้

ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้เกมกลายเป็น “พี่เลี้ยงเด็ก”  และพ่อแม่ควรร่วมมือกันแก้ปัญหา อย่าปัดให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

ขอบคุณข้อมูล : ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล
สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล