“ผู้ดี” ของ “ดอกไม้สด” กับความหมายที่แท้จริง

วันนี้ขอพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปหานวนิยายในอดีต ที่ปัจจุบันยังไม่มีการพิมพ์ครั้งใหม่ออกมา เป็นนวนิยายที่เคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของผู้เขียนเมื่อครั้งยังเรียนหนังสือ นวนิยายเล่มนี้มีชื่อว่า “ผู้ดี” โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “ดอกไม้สด” อันเป็นนามปากกาของ มล.บุปผา นิมมานเหมินท์

ที่ยกเอานวนิยายเล่มนี้ขึ้นมาแนะนำคุณผู้อ่าน แม้ว่าจะหายากสักหน่อย แต่ก็ยังพอหาอ่านได้จากห้องสมุดหรือร้านหนังสือมือสอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุคสมัยที่เราเข้าใจคำว่า “ผู้ดี” ผิดไปจากที่ควรจะเป็น สังคมยุคใหม่เข้าใจว่า “ผู้ดี” หมายถึงคนที่ร่ำรวย มีเงินทอง ขับรถหรู เกิดในชาติตระกูลดี

แต่แท้จริงแล้วคำว่า “ผู้ดี” มิได้หมายความเช่นนั้น นวนิยายเรื่องนี้ของดอกไม้สด ที่เขียนขึ้นในปี พุทธศักราช 2480 อันเป็นยุคสมัยที่เกิดความเปลี่ยนแปลงระหว่างชนชั้นในสังคมไทย น่าจะบอกความหมายของคำว่า “ผู้ดี” ได้อย่างแท้จริง

นวนิยายเล่าถึงเรื่องราวของ วิมล หญิงสาวที่พร้อมด้วยรูปทรัพย์ และ โภคทรัพย์ เธอคือบุตรสาวของพระยาอมรรัตน์ ราชสุภิชา อยู่ในสังคมที่เมื่อมองจากบุคคลภายนอกแล้วช่างน่าอิจฉา วิมล มีมารดาเลี้ยงที่ไม่เหมือนมารดาเลี้ยงตามนิยายประโลมโลก หากแต่เป็นมารดาเลี้ยงที่ให้คำสอนที่ทำให้วิมล เติบใหญ่เป็นหญิงสาวที่ผู้เขียนระบุไว้ว่า

“เพราะวิมลรำลึกได้จากคำพร่ำแนะนำของคุณแส มารดาเลี้ยงว่า ‘ผู้ดี’ ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มี ‘หลัก’ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ ‘เหลาะแหละ’ ฉะนั้น วิมลจึงพยายามบังคับตัวให้เป็น “หลัก” ด้วยการตัวไม่ให้ ‘หลง’ ในถ้อยคำเยินยอและในของล่อใจ วิมลทำให้คนที่อยู่ในปกครอง ‘เกรง’ ด้วยการให้ความเป็นธรรม ด้วยการยกย่องในโอกาสอันควร และเว้นเสียซึ่งการเหยียบย่ำให้ได้อาย ฉะนั้น “วิมล” จึงเป็นสาวน้อยที่เปรียบเสมือนกุหลาบงามที่มีหนามคม”

แล้วชีวิตของวิมล ก็ต้องเจอกับบททดสอบความเป็นผู้ดี เมื่อพระยาอมรรัตน์ เสียชีวิตและไม่ได้เหลือทรัพย์สมบัติไว้ให้ เป็นช่วงเวลาที่วิมล ได้รู้ว่า “เพราะทรัพย์จึงทำให้วิมลเด่น เพราะตระกูลทำให้วิมลโก้ เพราะความสวยจึงทำให้ชื่อเสียงของวิมลหอมฟุ้ง หรือว่า…เพราะอะไรกันแน่?”

วิมล วางตัวในฐานะผู้ดี รักษาครอบครัวให้ยังคงมีเกียรติเอาไว้ได้อย่างไร ต้องไปตามหาอ่านกันในนวนิยาย “ผู้ดี” ของดอกไม้สด ค่ะ หากมีบางช่วงบางตอนของนวนิยาย ที่ผู้เขียนยังคงจำได้จนถึงทุกวันนี้

“เมื่อญาติของวิมลเอ่ยปากขอเสื้อของเธอโดยมิได้เกรงใจ วิมล จึงได้เอ่ยกับญาติสาวว่า ‘ก็คนมันหน้าด้านขอใครจะหน้าด้านพอที่จะไม่ให้’ เป็นเนื้อหาที่ “ดอกไม้สด” ได้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง คนที่เป็น “ผู้ดี”จากเนื้อใน และ คนที่พยายามจะให้ “เปลือกนอก” ของตนเองเป็น “ผู้ดี”

นวนิยายเรื่องนี้แม้จะเขียนมานานแล้ว แต่เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่าน เพราะ “วิมล” ในเรื่องทำให้เห็นว่า ความเป็น “ผู้ดี” ที่ทุกคนมีสิทธิจะเป็นได้กันเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินทอง หรือ วงศ์ตระกูล แต่ “ผู้ดี” ของดอกไม้สด หมายถึงผู้ที่ประพฤติดีทั้งกายวาจาใจ มีเมตาธรรมแก่ผู้อื่น ไม่มักได้และรู้จักให้อภัย ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ดี” และเมื่อคุณผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านจนจบ เชื่อว่าคุณจะมองคำว่า “ผู้ดี” เปลี่ยนไป