คนข่าวมาขายของ กับมุมคิด “ชีวิตต้องมีแผนสำรอง” ในยุคคนทำสื่อมีความเสี่ยงสูง

คนข่าว คนทำสื่อ และอดีตนักข่าวหลายคน ให้มุมมองผ่าน ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระหว่างออกบูธขายของในงาน คนข่าวมาขายของ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ชั้น 4 โซน D ศูนย์การค้า MBK Center โดยบูธขายของภายในงาน ที่มีทั้งบูธ ของกิน ของใช้ ขนม ผลไม้ เสื้อผ้า กระเป๋า หนังสือ และอื่นๆ อีกมากมาย ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนิน ได้ไปพูดคุยกับนักข่าว อดีตคนข่าวหลายคน ที่มาเปิดบูธทำกิจกรรมในครั้งนี้

เริ่มที่ คุณพรชนก วิบูลกิจโกศล อดีตคนข่าวที่อยู่ในวงการข่าวมายาวนาน โดยเฉพาะข่าวสายการเมืองทหาร ทั้งการเป็นผู้สื่อข่าว รีไรต์เตอร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวการเมือง ผู้เรียบเรียงข่าวอาวุโส ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ โดยล่าสุดมาทำงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่เป็นสถานีที่เน้นข่าวตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ปรากฏว่า ถูกองค์กรต้นสังกัดขอเลิกจ้างกระทันหัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คุณพรชนก บอกอีกว่า ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ผู้บริหารของสถานี ก็เคยประชุมกับกองบรรณาธิการข่าว ก็ยืนยันมาตลอดว่าสถานการณ์ของสถานีปกติดี ตอนช่วงเศรษฐกิจเริ่มแย่ และสถานการณ์สื่อเริ่มไม่ดี เขาก็ยืนยันไม่มีการเอาคนออกหรือเลิกจ้าง แต่ก็มีการใช้บางวิธีการกับคนในสถานี เช่นโยกให้ไปทำงานโต๊ะอื่น โดยไม่ถามความสมัครใจหรือเรียกบางคนไปคุย แล้วบอกว่าผลงานไม่เข้าเป้าจะให้สถานีทำอย่างไร บางคนก็ถูกเรียกให้ไปเข้าคอร์สพัฒนาผลงานเป็นเวลาสามเดือน โดยไม่มีหลักประกันว่าหากไม่ผ่านการประเมินจะทำอย่างไร จะมีการขึ้นเงินเดือนอะไรให้หรือไม่ จนสุดท้าย ก็เริ่มมีการทยอยเอาคนออก

คุณพรชนก มาเปิดบูธขายสินค้าแนวสุขภาพ ได้แก่ กาแฟพริก ที่จะช่วยในเรื่องการลดเผาผลาญไขมัน และ คอลลาเจนเสริมสุขภาพ เธอบอกว่า พอออกจากงานข่าวที่ตัวเองรักมา ตอนแรกก็ตั้งหลักก่อนสักระยะ แล้วก็เริ่มขายของ ที่ตลาดนัด โดยไปซื้อเสื้อผ้ามือสองแบบคัดอย่างดีที่ตลาดปัฐวิกรณ์ มาขายตามตลาดนัดต่างๆ ที่ก็ขายได้และตอนนี้ก็ยังขายอยู่ แต่เวลานี้กำลังจะมองตลาดเรื่องการขายออนไลน์สินค้าต่างๆ เช่น คอลลาเจน-กาแฟพริกเพื่อสุขภาพ

ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่สามารถขายตามตลาดนัดได้ เพราะกลุ่มลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม โดยพอลงทะเบียนขายของในงานคนข่าวมาขายของได้ ก็ไปติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายว่าจะนำของมาขายในงาน เขาก็ให้เครดิตให้สินค้ามาจำนวนหนึ่ง โดยยังไม่ต้องชำระค่าสินค้ามาก และพอเสร็จงานก็ไปเคลียร์กับตัวแทนจำหน่าย ก็ถือเป็นการทดลองเปิดตลาดให้กับตัวเอง เพื่อให้รู้ตลาด รู้กลุ่มผู้ซื้อสินค้า และหลังจากนี้ก็จะเริ่มลุยขายทางออนไลน์มากขึ้น

“สถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์ธุรกิจสื่อเวลานี้ คนที่ทำสื่อเขาก็รู้ตัวเองดีอยู่แล้วว่า ไม่ควรยึดติดกับการหารายได้เพียงช่องทางเดียว หลายคนที่เห็นเขาก็เริ่มมองหา ช่องทางในการหารายได้ช่องทางที่สอง ช่องทางที่สามให้กับตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ในสถานการณ์ที่ทุกวันนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ คนทำสื่อก็ต้องไม่ประมาท ไม่ใช่เคยทำงานข่าวอย่างไร ปัจจุบันก็ทำแบบเดิมอีก ไม่พัฒนาตัวเองอะไรขึ้นมาเลย อนาคตก็อาจมีปัญหา”

ด้าน คุณกัญทนน คล้ำจีน อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง และรีไรเตอร์ข่าวสถานีโทรทัศน์ ฟ้าวันใหม่ ที่เพิ่งออกจากงานเมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ตามนโยบายลดคน ลดตุ้นทุนของสถานีฯ เท่ากับยังไม่ถึงหนึ่งเดือน ในวันที่มาร่วมกิจกรรมคนข่าวมาขายของ กับการเปิดบูธ ขายขนมไทย ในชื่อแบนด์ของตัวเอง ขนมไทยไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ขายผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเพจส่วนตัวและเพจที่เปิดขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมถึงช่องทางอื่นๆ เช่น อินสตาแกรม โดยก่อนหน้านี้ก็เคยไปเปิดร้านขายตามจุดต่างๆ มาแล้วบ้าง ที่ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีถึงคุณภาพของขนมไทยที่ทำขาย

“จากประสบการณ์ที่เรามี ก็ทำให้อยากบอกคนในวงการสื่อว่า วงการตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอน สื่อก็มีการปิดตัว เอาคนออกกันหลายแห่ง คนทำสื่อก็ต้องมองแล้วว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป เพราะหากจะมีรายได้ทางเดียว แต่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ค่าครองชีพสูง ทุกคนก็ต้องเริ่มมองหาทางเลือกที่สอง ทางเลือกที่สามให้กับตัวเอง ซึ่งจริงๆ สามารถทำควบคู่ไปกับการทำข่าวได้ ใครที่คิดและอยากลองทำอะไร ก็ขอให้เริ่มลองทำเลย อย่างเราที่บ้านเคยทำขนม เราก็เริ่มมองเห็นตรงนี้แล้วว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ได้ ก็คิดและเริ่มทำเลย ตั้งแต่ตอนยังไม่ออกจากงาน”

คุณกัญทนน บอกอีกว่า กิจกรรมที่สมาคมนักข่าวฯ จัดครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้คนข่าวอดีตสื่อ ได้มีพื้นที่มาขายของหารายได้ เพราะอย่างเคยไปออกบูธที่อื่น เขาก็คิดค่าเช่าแผงวันละ 2,500 บาท แต่มาจัดครั้งนี้ก็ไม่มีต้นทุนในส่วนนี้ก็ทำให้ช่วยได้มาก ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มาก

ขณะที่บูธใกล้ๆ กัน ที่ขายสินค้าหลายอย่าง เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า กระเป๋า ที่เปิดร้านขายของโดยอดีตคนข่าวมากประสบการณ์ อย่าง คุณอนุสรา ทองอุไร อดีตผู้สื่อข่าวสายสังคมสตรี ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ที่อยู่ตั้งแต่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วางแผงวันแรก เมื่อ 16 ปีที่แล้วจนถึงวันสุดท้าย ที่หนังสือพิมพ์เลิกผลิตไปเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยังมีประสบการณ์ด้านงานข่าว งานสื่อสารประชาสัมพันธ์ อีกนับสิบปี ในสมัยทำงานที่หนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รวมถึง บริษัทโพลีพลัส และบริษัทแกรมมี่ฯ

คุณอนุสรา บอกว่า เป็นคนที่วางแผนการใช้ชีวิต การบริหารทางการเงินมาตลอด เพราะตั้งใจมาตลอดว่าจะเกษียณอายุการเป็นนักข่าว คนข่าวในเครือโพสต์ฯ ในวัย 55 ปี ซึ่งวันที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปิดตัวลง ก็อยู่ในวัย 54 ปี ทำให้จากเดิมที่คิดว่า พออายุ 55 ปี เมื่อบริษัทโพสต์ฯ เปิดโครงการเออรี่รีไทร์ ก็จะไปสมัครเข้าโครงการ ที่ก็เหลืออีกปีเดียว แต่ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์โพสต์พูเดย์กลับเลิกผลิตเสียก่อน เลยทำให้สิ่งที่ได้แพลนไว้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหัน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการวางแผนทางการเงินไว้พอสมควร ทั้งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อกองทุน สลากออมสินฯ  และวางแผนการรับงานเขียนที่ตัวเองถนัด ในลักษณะเป็นฟรีแลนซ์ฯ เพราะบางอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ตอนแรก เช่น ภาพรวมตลาดหุ้นยังอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง ทำให้ที่เคยหวังรายได้จากการเล่นหุ้นบางส่วนมาเป็นรายได้เสริม จึงไม่เป็นอย่างที่คิดไว้

สิ่งหนึ่งที่จดจำได้มาตลอดสมัยเป็นนักข่าวอยู่เครือผู้จัดการ ก็คือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะบอกกับพนักงานตลอดว่า ความมั่นคงอยู่ที่ตัวเราเอง อย่าไปหวังพึ่งพาใคร และยายของพี่ ก็สอนไว้เช่นกันว่า หากขยันทำกิน ไม่มีวันอดตาย คนในครอบครัวพี่ ทุกคนทำงานกันตลอด แม้บางคนจะอายุมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้หายใจหมดไปวันๆ ทุกคนทำงาน ทำมาหากินกันตลอดทุกวัน และเราเองก็เป็นคนเชื่อมาตลอด

เหมือนกับที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้คือ จะทำอะไรต้องมีแผนสำรอง ต้องมีการจัดการกับความเสี่ยง บัฟเฟตต์ ถึงบอกว่า อย่าวางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียวกัน เพราะถ้าตะกร้าหล่นจะทำให้ไข่แตกหมดทุกใบ คุณก็จะไม่มีไข่ไก่เหลือเลย เลยทำให้เราเป็นคนที่ให้ความสำคัญ กับเรื่องการวางแผนทางการเงิน การวางแผนอนาคตของตัวเอง การมีแผนสำรองในการทำเรื่องต่างๆ มาตลอด

คุณอนุสรา เล่าย้อนอดีตให้ฟังด้วยว่า สมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินหลายสิบแห่งต้องปิดตัวลง ตอนนั้นสื่อก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก นักข่าวตกงานกันมากมาย ทางสมาคมนักข่าวฯ เวลานั้น ก็มีการเปิดบูธขายของแบบที่ทำกันตอนนี้ และทำที่มาบุญครองเช่นเดียวกันกับตอนนี้ และตัวเราเองตอนปี 2540 ที่ลาออกจากเครือผู้จัดการ กำลังว่างงานอยู่ ก็มาเปิดบูธนักข่าวขายของแบบนี้ วันนี้ผ่านมา ร่วม 22 ปี ก็มาเกิดกรณีแบบนี้อีก เมื่อปี 2540 เราก็มาขายของแบบนี้ที่มาบุญครอง มาปีนี้ 2562 เราก็มาขายอีก

คุณอนุสรา กล่าวอีกว่า เวลานี้กำลังเรียนรู้เทคโนโลยี การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง เพื่อเข้าสู่การขายออนไลน์เต็มตัว และบอกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างกัน ระหว่างปี 2540 กับปี 2562 ก็คือเมื่อเรามีวัยที่เพิ่มมากขึ้นจากที่ตกงานปี 2540 เรายังอายุแค่ 30 กว่าปี ก็ยังมั่นใจว่าจะได้กลับไปทำงานสื่ออีก แล้วก็ได้งานใหม่ในเวลาไม่นาน แต่เวลานี้ในวัย 50 กว่าปี การจะหางานทำมันก็ยากกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะการกลับไปวงการสื่อ ที่มีแต่เอาคนออก ยิ่งการกลับไปทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่เราถนัด ก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก

“สิ่งสำคัญก็คือต้องมองเรื่องการหารายได้ทางอื่นๆ เผื่อไว้ด้วย อย่าให้มีรายได้ทางเดียว ต้องมองในเรื่องการมีรายรับจากหลายแหล่ง แต่ต้องอยู่ในกรอบวิชาชีพของการเป็นสื่อ จริงๆ ไม่ว่าจะอาชีพไหน ก็ควรเริ่มคิดเรื่องการวางแผนทางการเงินตั้งแต่อายุ 40 ปีได้แล้ว หรือให้ดีกว่านั้น สักอายุ 30 ปี ก็เริ่มคิดได้แล้ว เพราะอาชีพสื่อไม่ใช่ข้าราชการ พอคุณอายุ 60ปี ต่อให้คุณอยู่องค์กรสื่อขนาดใหญ่ คุณก็ต้องออกจากบริษัทนั้น หากไม่มีการวางแผนทางการเงินอะไรไว้เลย แล้วหลังจากนั้นคุณจะอยู่อย่างไร เพราะคนเราต้องใช้เงินทุกวัน ก็ต้องหาเงินมาให้ได้ทุกวัน”

ปิดท้ายที่ คุณณัฐธนพร อู่ทรัพย์ อดีตคนสื่อในฐานะอดีต Co-Producer สถานีวิทยุ FM101 ที่ทำงานในหน้าที่ดังกล่าวร่วม 5 ปี บอกว่า กิจกรรมคนข่าวมาขายของ ที่สมาคมนักข่าวฯ ร่วมจัดกับองค์กรต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ดีน่าสนับสนุนและควรทำต่อไป เพราะเป็นการสร้างช่องทางและเปิดพื้นที่ให้กับคนข่าว นักข่าว อดีตคนสื่อได้มีที่ทางในการหารายได้ให้กับตัวเองมากขึ้น หากเป็นไปได้ ก็อยากให้มีการจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องต่อไป

ข้อมูลและภาพจาก : จุลสารราชดำเนินออนไลน์ / http://www.tja.or.th/component/content/article/168-2018-05-09-12-47-39/5176-2019-09-12-04-02-13