“สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” บันทึกความทรงจำจากปี 2475

การบันทึกเรื่องราวประจำวัน บางครั้งก็กลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้ได้เห็นว่า ผู้คนในยุคสมัยหนึ่ง มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตแบบไหน และสังคมในยุคสมัยนั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง

“สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” พระนิพนธ์ ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ บันทึกของราชนิกุลที่ทรงใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่เมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ทรงประสบกับเหตุการณ์ หรือพบเห็นกับสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันอาจคาดไม่ถึงว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปีพุทธศักราช 2475 นั้น ส่งผลต่อสถาบันสูงสุดของประเทศอย่างไรบ้าง

หากจะบอกว่า งานพระนิพนธ์ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” นั้น เป็นผลงานที่อยู่ในสายเลือดของ ท่านหญิงพูนพิศมัย ก็ไม่ผิดนัก เพราะท่านหญิงพูนพิศมัย คือ พระธิดาที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และได้ทรงรับฟัง และทรงร่วมรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาโดยตลอด

ต้นฉบับของ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” นั้น ท่านหญิงพูนพิศมัย ทรงนิพนธ์เสร็จสมบูรณ์ ในปี 2476 เป็นต้นฉบับพิมพ์ดีด ต่อมา ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงตรวจแก้เล็กน้อย แล้วประทานให้ “ศิลปวัฒนธรรม” พิมพ์เผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ต่อไป

โดยการพิมพ์ครั้งล่าสุด ในปี 2559 สำนักพิมพ์มติชน ได้รวมเอาสองตอนของ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” มารวมเป็นเล่มเดียว อันหมายถึงการรวมเอา “ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” และ “ภาคจบ” มารวมอยู่ในเล่มเดียว

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ จะทำให้คนที่สนใจประวัติศาสตร์ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เห็นถึงภาพสังคม และความคิดของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แม้ท่านหญิงพูนพิศมัย จะทรงนิพนธ์ แต่ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้ก่อการ เหนืออื่นใดยังได้ทรงทำให้คนอ่านได้เห็นถึงความเข้มแข็งของ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ทรงรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยพระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์

บางช่วง บางตอน จากเหตุการณ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในหลวง ท่านทรงสั่งว่า “ให้ยกพระแท่นมนังคศิลา ซึ่งเป็นของพ่อขุนรามคำแหง ออกไปเสียให้พ้นจากกำแพงพระบรมหาราชวัง จงอย่าได้อัญเชิญพระแท่นองค์นี้มาให้พระองค์ประทับเลย และอย่าได้อัญเชิญพระสังวาลของพระพุทธยอดฟ้าฯ (รัชกาลที่ 1) ใส่พานมาถวายให้พระองค์สวม เพราะพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นี้ ท่านได้กู้บ้านกู้เมืองมา แต่ฉันเป็นผู้ที่จะพาไป…จึงไม่สมควรจะนั่งและใส่ของ ๆ ท่าน”

เหตุการณ์ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็น การบันทึกเหตุการณ์สั้น ๆ ทั้งในแบบเรียน หรือแม้แต่บันทึกอย่างเป็นทางการ หากแต่หนังสือเล่มนี้ จะทำให้คุณผู้อ่านพบว่า แท้จริงแล้วในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้น ยังมีรายละเอียดอีกมากที่เราควรจะรับรู้ในประวัติศาสตร์ของประเทศ