พล.อ.ประยุทธ์ AKA “ลุงตู่” กับการเดบิวต์ในโลกโซเชียล

เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา AKA “ลุงตู่” เปิดตัวเข้าสู่โลกโซเชียลอย่างเป็นทางการ ทุกแพลทฟอร์ม นับว่าเป็นการเปิดหน้ารบเป็นครั้งแรกกับโลกออนไลน์ ที่ปัจจุบันกลายเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากกว่า สื่อจากโลกเก่าอย่าง หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ที่สำคัญ “ลุงตู่” ไม่ได้มาเล่น ๆ แค่เปิดเพจ เปิดทวิต หรือแอคเคาท์อินสตาแกรม แต่มาแบบมีกลยุทธ์ ด้วยการสร้างเว็บไซต์ www.prayutchan-o-cha.com เป็นฐานการกระจายเนื้อหา (Content) ที่มาทั้งในรูปแบบภาพและเสียง

เมื่อลุงตู่เดินเข้าสู่ โลกยุค 4.0 อย่างเต็มตัวแบบนี้แล้ว เรามาสำรวจกันหน่อยว่า เสียงตอบรับจากแต่ละแพลทฟอร์มเป็นเช่นไร และเมื่อเทียบการใช้โซเชียลมีเดียของลุงตู่ กับผู้นำในภูมิภาคนี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งโซเชียล อย่างสมเด็จฮุนเซ็น และนายกรัฐมนตรีสิงค์โปร์ ลี เซียนลุง จะเป็นเช่นไร

ภาพรวมเรียกโลกโซเชียลแต่ความดาร์กต่างกัน

เป็นการเปิดตัวเข้าสู่โลกโซเชียล ที่มีการวางแผนเรื่องเนื้อหามาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวสำหรับ www.prayutchan-o-cha.com เพราะเว็บไซต์นี้ถือเป็นฐานบัญชาการในการส่งออกเนื้อหาไปในโลกโซเชียล แต่ด้วยความที่เพิ่งเปิดตัว เนื้อหาจึงยังไม่แน่นมากนัก และเนื้อหาบางส่วนยังให้ความรู้สึกเป็นเว็บไซต์ราชการ แต่ดูจากการออกแบบแล้วทีมงานคงต้องปรับแก้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ User Friendly มากที่สุด ในทุก ๆ ช่องทางการใช้งาน

ทีนี้มาดูการเปิดตัวกันที่โลกโซเชียลที่ละแพลทฟอร์ม กันดีกว่า เริ่มจากเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/prayutofficial/) ซึ่งเป็นโซเชียล ที่คนไทยนิยมมากที่สุด หลังจากเปิดตัวไปได้เพียงไม่กี่วันมียอดกดติดตาม เพจลุงตู่ไปแล้วกว่า 160,000 ราย นับเป็นยอดที่ร้อนแรงพอกับเหล่าซุปตาร์ และจำนวนผู้ติดตามยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คาดหมายว่า น่าจะถึงหลัก 500,000 ราย ได้ไม่เกินสิ้นเดือนนี้ และถ้า “ลุงตู่” ได้แอดมินเพจที่ตอบแบบรู้ทางชาวโซเชียลในเฟซบุ๊ก น่าจะถึงหลักล้านได้ไม่ยาก เมื่อถึงตรงนั้นคงต้องมาดูกันอีกทีว่า ความรักในภักดีในตัว “ลุงตู่” กับยอด Engagement นั้น มีความสัมพันธ์กับยอดผู้ติดตามขนาดไหน

ต่อกันที่ อินสตาแกรม (www.instagram.com/prayutofficial/) สื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ ยอดติดตามของ “ลุงตู่” ในอินสตาแกรมอาจไม่ร้อนแรงเท่ากับเฟซบุ๊ก เพราะยังมีภาพโพสต์อยู่เพียงภาพเดียว ถ้าแอดมินอยากจะเพิ่มยอด ก็คงต้องยึกตามแนวทางอินสตาแกรมกันหน่อย ตั้งแต่ภาพสบาย ๆ ของลุงตู่ ภาพยุควัยหนุ่ม ภาพอาหารที่ลุงตู่กิน รองเท้าที่ลุงตู่ใส่ เครื่องบินที่ลุงตู่นั่ง ไปจนถึงช่วงเวลาที่ลุงตู่ออกกำลังกาย และที่ขาดไม่ได้คือ คำคม หรือ ธรรมะสอนใจ ก็ต้องมา แนวทางแบบนี้ในฐานะผู้นำประเทศ จะทำให้ผู้ติดตามเหมือนได้อยู่กับลุงตู่ ตลอดเวลา เป็นการสร้าง Engagement ให้คนรักแบบเนียน ๆ มีสิ่งเดียวที่แอดมินของลุงตู่ต้องระวัง คือ พวกฝากร้านที่ต้องหาทางจัดการตามที่เห็นควร

แอคเคาท์สุดท้ายของลุงตู่ คือการเปิดบัญชี ทวิตเตอร์ (https://twitter.com/prayutofficial) ถือว่า เป็นความใจถึงของทีมงาน และอาจเป็นเพราะว่าต้องการเอาไว้ตอบ หรือแทคหาใครบางคน (ฮา) เอาเป็นว่า ทวิตเตอร์ไม่ใช่พื้นที่อวดรูป ไม่ใช่พื้นที่อวดคลิป แต่ทวิตเตอร์ คือ พื้นที่ไว้แสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อความละ 280 ตัวอักษร การรีทวิต ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย แต่อาจหมายถึงรีทวิตไป เพื่อเอาไปขยี้ กดหัวใจ (กดไลค์) อาจไม่ได้หมายความว่าชอบ แต่บางคนจะเก็บเอาไว้ดู แฮชแทค ในทวิตเตอร์ ไม่ได้ติดเอาไว้เก๋ ๆ แต่สามารถสร้างให้เรื่องหนึ่งเรื่อง กลายเป็นเทรนด์ได้ (ความนิยมในขณะนั้นได้)

การเปิดตัวของลุงตู่ ในทวิตเตอร์ นั้นเรียกเสียงฮือฮา ไปได้ทั้งไทม์ไลน์ แม้ยอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์ของลุงตู่ จะยังไม่มากเท่ากับเฟซบุ๊ก แต่อยากให้ลุงตู่ เข้ามาอ่านความร้อนแรงของการ Reply กลับที่บอกเลยว่า ลุงตู่ เองอาจต้องนั่งหัวเราะด้วยความสนุกสนานเลยทีเดียว

เป็นผู้นำประเทศยุคใหม่ต้องใช้โซเชียลให้เป็น

เราคงไม่ต้องไปหาวัตถุประสงค์หรอกว่าทำไม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงเดินลงสนามโซเชียล เพราะถ้าจะว่ากันตามจริงลุงตู่ เข้าร่วมช้าไปกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะถ้าเอาจริง ๆ แล้ว ผู้นำระดับโลกหลายคนก็ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์, เอ็มมานูเอล มาครง หรือ เทเรซ่า เมย์ ที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ที่ผู้นำประเทศเหล่านี้มีบัญชีผู้ติดตามจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

และถ้าหันไปดูผู้นำประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา หรือสิงค์โปร์ จะเห็นว่าทั้ง สมเด็จฮุนเซ็น และ นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงค์โปร์นั้นมีฐานผู้ติดตามในโลกโซเชียลไม่น้อย “สมเด็จฮุนเซ็น” ผู้นำกัมพูชา ถือว่าป๊อปปูล่ามากในเฟซบุ๊ก เพราะมีผู้ติดตามเกินสิบล้านคนไปแล้ว เหนืออื่นใด “สมเด็จฮุนเซ็น” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการใช้เฟซบุ๊กในการเข้าถึงชาวกัมพูชา

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงค์โปร์ได้รับความนิยมทั้งในเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยในเฟซบุ๊กนั้นมียอดผู้ติดตามหลักล้าน ขณะที่ทวิตเตอร์ มียอดติดตามเกือบล้าน และเช่นเดียวกับ “สมเด็จฮุนเซน” นายกรัฐมนตรีของสิงค์โปร์ ก็ใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชน

เมื่อผู้นำประเทศ และทีมงานรู้จักที่จะใช้โซเชียลมีเดีย และใช้ได้จนประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้บรรดาผู้นำประเทศเหล่านั้นสามารถควบคุมกระแสข่าว และคุมสื่อมวลชนเอาไว้ในมือ และถ้ามียอด Engagement สูง ๆ พวกเขาก็สามารถใช้ในการทำลายคู่แข่งได้เช่นกัน ถึงตรงนี้แล้ว คงต้องรอดูกันหน่อยว่า เมื่อลุงตู่ และทีมงานเข้าสู่โซเชียลมีเดีย แบบเต็มตัว จะมีทวิตอะไรให้ใครสะดุ้งได้บ้าง หรือภาพและคลิปแบบไหน ที่จะทำให้ Prayutchan-O-Cha กลายเป็นไวรัล หรือแฮชแทค ที่ติดเทรนด์อันดับหนึ่งของประเทศ ชาวเราคงต้องมาดูกัน