ทำความเข้าใจกันใหม่ ใครๆ ก็แสดงงานในหอศิลป์ได้!

ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนไปเดินหอศิลป์ ที่ได้เจอคนไม่น้อยเดินเข้า-ออกในแต่ละวัน แน่นอนว่าคนไทยกับศิลปะค่อนข้างห่างกันพอสมควร คนทั่วไปจะพอรู้จักจริงๆ ก็ศิลปินที่ดังมากๆ หรือระดับศิลปินแห่งชาติไปเลย แต่หอศิลป์หรือแกลลอรี่สมัยนี้ไม่ได้มีไว้ให้ศิลปินระดับนั้นเท่านั้น แต่รองรับผลงานตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา มือสมัครเล่น ศิลปินรุ่นใหม่ ไปจนถึงรุ่นใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศด้วย

“ไปเหอะ ห้องนี้ไม่มีอะไร” พร้อมกับการถามหาผลงานของศิลปินแห่งชาติชื่อดังกับเจ้าหน้าที่ เป็นประโยคที่ได้ยินแล้วก็จี๊ดในใจอยู่เหมือนกัน เพราะได้ยินตอนที่กำลังเดินดูงานสีน้ำ และสีน้ำมันของศิลปินท่านหนึ่ง และในห้องนั้นยังมีลูกเล่นของนิทรรศการที่ศิลปินกับภัณฑารักษ์ (Curator) ร่วมกันคิดขึ้นมาอีกเยอะ ซึ่งน่าจะเลยคำว่าไม่มีอะไรไปเยอะทีเดียว เพราะข้อมูล ความเป็นมาของศิลปิน และเนื้อหาของผลงาน (ที่แซะแหลกตั้งแต่วิถีชีวิต ยันการเมือง) นั่นแหละคือส่วนสำคัญของนิทรรศการนี้

บางคนมาหอศิลป์และหวังว่าจะได้ชมผลงานจากศิลปินใหญ่ระดับประเทศ ถ่ายรูปเช็คอินว่าได้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ลืมไปว่าที่จริงหอศิลป์เป็นที่ของทุกคนที่อยากจะแสดงออก

เราอาจจะต้องจับมานั่งทำความเข้าใจกันใหม่ว่า หอศิลป์สมัยนี้ไม่ได้มีแค่ผลงานของ “ศิลปินรุ่นใหญ่ชื่อดัง” เท่านั้น

ถ้าได้ลองเดินเข้าไปในหอศิลป์หรือแกลลอรี่ดูซักครั้ง ไม่ว่าจะที่ไหนเราก็จะเห็นศิลปินมากหน้าหลายตาสลับกันแสดงผลงาน คงจะมีก็แต่พิพิธภัณฑ์ถาวรเท่านั้นที่รวบรวมงานของศิลปินแห่งชาติดังๆ เอาไว้ แต่แกลลอรี่หรือหอศิลป์ทั่วไปจะเป็นการหมุนเวียนผลงานไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และอยู่ที่ภัณฑารักษ์จะเลือก ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมากๆ ที่เราได้เห็นผลงานของเด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษามากขึ้นในหอศิลป์ ไม่ได้จำกัดแค่ศิลปินที่มีชื่อเสียงเท่านั้น

เหมือนเป็นสัญญาณที่บอกว่า ยังมีพื้นที่ให้ได้แสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นใครคุณก็ยังได้โอกาสนั้น ขอแค่ให้มีความคิดและผลงานที่หน้าสนใจ

ที่บรรยายไปข้างบนที่ดูโลกสวยหน่อยๆ ความจริงแล้วถ้าอยากจะแสดงงานในหอศิลป์ได้ มันก็ต้องเตรียมตัว ไม่ว่าจะเรื่องเงิน ความพร้อมของงาน ตัวอย่างผลงานให้พิจารณา

และที่สำคัญก็คือต้องไปให้ถูกที่

อย่างเช่นว่า ถ้าผลงานของเราเป็นแบบ Abstract เราก็ต้องหาแกลลอรี่ที่ชอบงานสไตล์ Abstract ถ้าเราไปเสนอในแกลลอรี่ที่ไม่ชอบงานนามธรรม เขาก็จะไม่สนใจเราอยู่แล้ว

หรือยกตัวอย่างง่ายๆ จะขายปลาก็ต้องไปขายในตลาดปลา ถ้าไปขายในตลาดผลไม้เค้าก็ไม่รับเรา ถึงเค้าจะรับแต่ก็ไม่รู้จะขายออกรึเปล่านั่นแหละ

การเปิดกว้างตรงนี้ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เราจะได้เห็นความหลากหลายไม่จำเจ และเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น เพราะบางคนมีความคิดที่ว่าผลงานของศิลปินใหญ่ๆ ดังๆ มันไกลตัวไปหน่อย ทั้งความยิ่งใหญ่ เนื้อหาที่ไม่อิน หรือสไตล์ที่ไม่ได้ชอบ อาจจะค่อยๆ ผลักคนที่ไม่ค่อยเข้าใจในศิลปะให้ไกลออกไปอีก เมื่อผลงานของคนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าไปในหอศิลป์มากขึ้น จะทำให้คนดูที่ไม่ได้รู้เรื่องศิลปะลึกมากยังพอเข้าใจ สัมผัสได้ และมีทัศนคติบวกกับศิลปะมากขึ้น