แค่ได้ยินจะไม่มีวันเข้าใจ ถ้าไม่รู้จักฟัง

“ฉันไม่รู้ภาษาไทยหรอก แต่ฉันพยายามจะฟัง ไม่ใช่แค่ได้ยินผ่านหูไป”

ขออนุญาตเริ่มคอลัมน์สัปดาห์นี้ด้วยการนำเอาคำพูดของเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติ มาแปลเป็นภาษาไทยทักทายคุณผู้อ่าน ประโยคดังกล่าวเป็นประโยคคำตอบหลังผู้เขียนหันไปถามเขาว่า “เหมือนคุณจะเข้าใจภาษาไทยที่พูดกัน” ต้องบอกว่าเป็นคำตอบที่ได้รับ “โดนใจอย่างแรง” เพราะทุกวันนี้ เจอแต่ “คนได้ยินแต่ไม่ได้รับฟัง” และถ้าจะว่าไปแล้วสังคมไทยก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว เวลาแสดงความคิดเห็นทุกคนอยากให้คนอื่นฟังสิ่งที่ตนพูด และ รับรู้ไปในทิศทางเดียวกับตนเอง ในขณะที่คนที่ได้ยินก็เป็นแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้ฟังและพร้อมจะโต้เถียงกลับตลอดเวลา สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข และ กลายเป็นดราม่า อย่างที่เห็นกันเต็มไปหมดในโลกโซเชียล

และด้วยความที่ผู้เขียนทำงานมานาน เจอคนมาเยอะ และการประชุมก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในอาชีพ เพราะการเป็นนักข่าวนั้นต้องมีการประชุมข่าวกันทุกวัน วันละสองรอบด้วยซ้ำ และ สันดานหนึ่งที่แก้ไม่หายคือการสังเกตปฏิกิริยา ของผู้คนที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะมีอยู่ไม่กี่ประเภท

ประเภทแรกจะเป็นพวกกระตือรือร้น ตั้งใจเต็มที่และพร้อมที่จะรับฟังเพื่อนำสิ่งที่ได้จากการประชุมไปทำให้งานของตนเองออกมาดีที่สุด คนกลุ่มนี้เข้าห้องประชุมแบบเตรียมความพร้อม ประเภทที่สอง เหมือนจะฟังแต่ไม่ได้มีอะไรเข้าไปในหัว ไม่พยายามจะเข้าใจ แต่ดันมีคำตอบในใจของตนเองหากไม่กล้าที่จะแสดงออกมา รวมถึงไม่กล้าที่จะถามสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ และ ไม่แม้แต่จะแสดงความคิดเห็น คนกลุ่มนี้จะมีกระดาษ หรือ สมุดจด พร้อมปากกามา แต่ไม่เคยจดสิ่งสำคัญอะไรได้ เพราะพวกเขาเพียงแค่ได้ยินแต่ไม่ได้รับฟัง

พวกสุดท้ายถือว่าเป็นฝันร้ายของหัวหน้างาน และ บริษัทที่ต้องจ้างงานคนพวกนี้ เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ ไม่ฟัง ไม่ได้ยิน และ ไม่เข้าใจ ชอบให้โลกหมุนรอบตัวเอง พวกนี้เวลาเข้าที่ประชุม ไม่มีทั้งกระดาษ ปากกา ที่พอจะนำเข้ามาก็เป็นเศษกระดาษ ที่เมื่อกลับไปทำงานแล้วมันจะอันตรธานหายไปในทันที คนเหล่านี้บ้างจะนั่งเหม่อออกนอกหน้าต่าง บ้างจะนั่งเล่นโทรศัพท์ บ้างจะนั่งวาดรูป เพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการทำงาน นั้นไม่ว่าจะสายอาชีพไหนไม่มีใครสามารถทำงานคนเดียวได้ ต่อให้คุณบอกว่าตัวเองเป็นเจ้าของกิจการก็ตาม

สิ่งที่เอ่ย มาข้างต้นผู้เขียนเชื่อว่าคนทำงานทุกคนเคยเจอกันมาหมดแล้ว มีรุ่นน้องคนหนึ่งเคยถามว่า “ทำไมต้องประชุมกันด้วยละพี่ ก็รู้งานกันหมดแล้ว” คำอธิบายที่ผู้เขียนมีให้สั้นๆ กับรุ่นน้องคนดังกล่าวคือ “การประชุมในการทำงานมีขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันเพื่อให้การทำงานเดินไปสู่จุดหมายเดียวกัน และ จะได้รู้ด้วยว่าใครทำอะไรต้องรับผิดชอบอะไร ซึ่งมันจะเป็นพันธะสัญญาต่อสาธารณะ ที่มีคนในที่ประชุมรับรู้

ทุกวันนี้ เวลาผู้เขียนเจอเพื่อนในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นที่ห่างกันไม่กี่ปี ทุกคนต่างบ่นถึงการทำงานกับกลุ่มคนที่พยายามจะสร้างความต่าง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนเหล่านั้นไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากสามัญชนทั่วไปเลย หากแต่กลุ่มคนเหล่านี้ มีมากขึ้นเรื่อยๆ และ แพร่กระจายเข้าไปในทุกองค์กรทั้งเล็กและใหญ่ ถึงขนาดที่มีคนระดับผู้อำนวยการคนหนึ่งเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า “ผมไม่เข้าใจเลยพี่ จริงๆควรทำงานในกรอบให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยไปคิดนอกกรอบ แต่นี่ แค่สิ่งที่ต้องทำพื้นฐานยังไม่เรียบร้อย ยังจะอาจหาญมาคิดนอกกรอบ”

นั่นแหละค่ะ เหตุมันมาจากเพียงแค่ได้ยิน แต่ไม่รับฟัง เพราะถ้าตั้งใจฟัง จะรู้ว่าคนร่วมงานต้องการอะไร จะได้ตอบโจทย์ให้ถูก และเมื่อตั้งใจฟัง แล้วไม่เข้าใจ ก็จะได้ถามเพื่อความเข้าใจ ทีนี้เปอร์เซนต์ในความผิดพลาดก็จะลดน้อยลง และสามารถพัฒนาตนเองไปได้เรื่อยๆ จนสามารถใช้ทักษะดังกล่าวมาคิดนอกกรอบได้

เหมือนที่เพื่อนชาวต่างชาติของผู้เขียนบอกละค่ะ “ไม่ใช่ได้ยินแค่ผ่านหู เขาตั้งใจฟัง” แล้วให้ตายเถอะ ชายที่มาจากกรุงลอนดอนคนนี้เข้าใจสิ่งที่คนไทยกำลังจ้อกันอยู่บนโต๊ะเสียด้วย ก่อนจะหันมาพยักเพยิดกับผู้เขียนแล้วบอกว่า “ฉันเคยทำงานให้กับทีวีโปแลนด์ โดยไม่เข้าใจภาษาโปแลนด์มาแล้ว เชื่อสิฉันรู้ว่าพวกเธอกำลังคุยอะไรกัน” OMG!!

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ