“โรคดื้อในเด็กเล็ก” ต้านได้ ด้วยวิธีการเลี้ยงลูกแบบชาวเยอรมัน

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยเตาะแตะ หรือช่วงวัยประมาณ 1-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มปวดเศียรเวียนเกล้ากับนิสัยชอบต่อต้านและเอาแต่ใจของลูกรัก ที่ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะบอกให้ทำอะไร เจ้าตัวแสบก็จะตอบ “ไม่” เอาไว้ก่อน และจะทำอะไรสวนทางเสมอ เช่น บอกว่าไม่ให้ทำในสิ่งไหนก็จะทำในสิ่งนั้น หรือให้ทำในสิ่งไหนก็จะไม่ทำ แบบนี้เป็นต้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่ชักกังวลใจว่า ลูกดื้อเอาแต่ใจแบบนี้จะควบคุมพฤติกรรมหรือสอนลูกอย่างไรดี Tonkit360 มีวิธีเลี้ยงลูกแบบชาวเยอรมันมาบอกกัน

แต่ก่อนจะรู้ว่าชาวเยอรมันมีเทคนิคการเลี้ยงลูกอย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจต้องทำความเข้าใจอารมณ์ลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยก่อน ช่วงวัยต่อต้าน ลูกอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่น่ารัก ช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ จะปล่อยเลยตามเลยไม่ได้ เพราะลูกน้อยอาจเข้าใจผิดได้ว่า การกระทำบางอย่างที่ทำนั้นถูก เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตักเตือนหรือมีคำอธิบายอะไร

ทำไมลูกชอบพูดว่า “ไม่!”

การที่ลูกชอบต่อต้าน ปฏิเสธพ่อกับแม่ เป็นหนึ่งในขั้นตอนพัฒนาการตามวัยของลูกรัก คือเมื่อลูกเข้าสู่วัย 1-3 ขวบ เขาจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และเริ่มมีการท้าทายอำนาจของคุณพ่อคุณแม่โดยธรรมชาติ อยากจะเป็นคนทำเอง เลือกเอง จึงมักพูดคำว่าไม่อยู่เป็นประจำ ข่าวดีคือ การที่ลูกดื้อเอาแต่ใจ นั่นเป็นสัญญาณของพัฒนาการตามวัยที่ดีเพราะนั่นหมายความว่า ลูกมีความมั่นใจและมีความเป็นตัวของตัวเองและมีอิสระทางความคิด ซึ่งเป็นโอกาสดีที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกน้อย

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยต่อต้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่านี่เป็นธรรมชาติของลูก ดังนั้นต้องใจเย็นและไม่ควรหัวร้อน อารมณ์เสียกับพฤติกรรมลูกดื้อมากเกินไป และค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมของลูกอย่างมีกลยุทธ์

การเลี้ยงลูกแบบชาวเยอรมันเป็นอย่างไร

คุณอาจแปลกใจถ้าคุณมีโอกาสไปเยอรมัน แล้วบังเอิญผ่านไปแถวสนามเด็กเล่น คุณจะเห็นเด็ก ๆ เล่นกันอย่างสนุกสนาน โดยที่พ่อแม่แทบจะไม่ได้ให้ความสนใจ นั่งจิบกาแฟคุยกันอย่างสนุก ดูพวกเขาจะไม่วิตกกังวลว่า ลูกสาวลูกชายของพวกเขาจะเกิดอุบัติเหตุในสนามเด็กเล่น หรือถูกเด็กคนอื่นแกล้งผลักให้ล้ม ตามความกังวลที่เรียกว่า Overthinking ของพ่อแม่ในแถบเอเชีย

ถ้าคุณเห็นเช่นนั้นแล้วตกใจ หรือแปลกใจว่า พ่อแม่ชาวเยอรมันเลี้ยงลูกแบบไหน ก็ขอให้เข้าใจว่า นี่คือรูปแบบของพ่อแม่ชาวเยอรมันที่เลี้ยงลูกโดยที่มีความเชื่อใจและเชื่อมั่นในลูกของตนเอง พวกเขาไม่ได้ปล่อยลูกให้เล่นโดยไม่ได้สนใจ แต่ความเชื่อใจทำให้พวกเขาไม่ต้องวิตกกังวล

นับว่าเป็นมาตรฐานในการเลี้ยงลูกที่น่าสนใจสำหรับพ่อแม่ชาวเยอรมัน เช่นเดียวกับวิธีคิดในการเลี้ยงลูก ก็น่าจะพอเป็นแนวทางให้พ่อแม่ชาวเอเชียได้ศึกษาบ้าง แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้เหมือนกัน (เพราะสังคมแต่ละประเทศมีมาตรฐานของความปลอดภัยไม่เท่ากัน) แต่บางข้อก็น่าจะสามารถปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

พ่อแม่ชาวเยอรมัน จะไม่บังคับให้ลูกอ่านหนังสือ 

เด็ก ๆ ชาวเยอรมันโดยเฉพาะในระดับอนุบาลนั้นแทบจะไม่ถูกบังคับให้อ่านหนังสือ และบรรดาครูผู้สอน รวมไปถึงผู้ปกครองเห็นเหมือนกันว่าการเรียนในระดับอนุบาลนั้น คือการให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การเข้าสังคมและเล่นให้สนุก

และถึงแม้จะก้าวเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาเด็ก ๆ ชาวเยอรมันก็ยังไม่ถูกบังคับให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ อยู่ดี โดยการเรียนในระดับประถมนั้นเด็ก ๆ จะได้หยุดครึ่งวันเพื่อทำกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดให้ (ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง)

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่ามาตรฐานการเรียนของเด็กเยอรมันอาจจะต่ำกว่าใครในยุโรป แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะถึงจะไม่บังคับเด็กให้อ่านหนังสือ และสนับสนุนให้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กเยอรมันก็ยังมีค่าเฉลี่ยผลการศึกษาในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป และเด็กเยอรมันที่อายุเฉลี่ย 15 ปีขึ้นไปก็อ่านหนังสือมากกว่าเด็กรุ่นเดียวกันของประเทศอื่น ซึ่งเป็นการอ่านแบบเต็มใจอ่านเองไม่ได้ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญให้อ่าน

พ่อแม่ชาวเยอรมันจะหัดให้ลูกกลับบ้านให้ได้ด้วยตนเอง

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะเห็นเด็กเยอรมันเดินทางกลับบ้านเพียงลำพังจากโรงเรียน (ส่วนหนึ่งที่เด็กสามารถเดินทางกลับบ้านได้ด้วยตนเอง เพราะบ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน และแวดล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่คอยดูแลความปลอดภัยโดยรอบ) และเชื่อหรือไม่เด็กบางคนสามารถนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านเองเพียงลำพัง ที่พ่อแม่ชาวเยอรมันกล้าปล่อยให้ลูกกลับบ้านเองได้นั้น เพราะเขาเชื่อมั่นในเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยของเมือง เหนืออื่นใดพวกเขาเชื่อว่าการปล่อยให้เด็กนั้นช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะในกรณีฉุกเฉินหากพลัดหลงกับผู้ปกครอง เด็ก ๆ ก็ยังสามารถเดินทางกลับบ้านได้เอง

พ่อแม่ชาวเยอรมัน จะจัดงานฉลองขึ้นชั้นประถมให้กับลูกของตนเอง 

ชีวิตชาวเยอรมันนั้นจะมีงานฉลองใหญ่ด้วยกันสามช่วงคือ ฉลองขึ้นชั้นประถม ฉลองเพื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และฉลองในงานแต่งงาน ซึ่งการฉลองขึ้นชั้นประถมเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ทุกคนรอคอย เพราะในงานจะเต็มไปด้วยขนม ของเล่นและความสนุกสนานเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ทุกคนรู้สึกอยากไปโรงเรียน และเห็นความสำคัญในการเติบโตเมื่อได้เข้าเรียนชั้นประถม

พ่อแม่ชาวเยอรมัน จะพาลูกออกนอกบ้านทุกวัน 

คนเยอรมันมักจะกล่าวว่า อากาศไม่ดีไม่มีจริงหรอก แต่เป็นเพราะคุณสวมเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสมกับอากาศมากกว่า จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเราจะเห็นสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะมากมายในเบอร์ลินหรือมิวนิค หรือเมืองอื่น ๆ ในเยอรมนี ที่ไม่ว่าอากาศจะหนาวหรือครึ้มฟ้าครึ้มฝนแค่ไหน พ่อแม่ชาวเยอรมันต่างก็จะพาลูกของตนเองออกมาสัมผัสกับอากาศข้างนอก ทั้งในสนามเด็กเล่นและสวนสาธารณะ

เรื่องราวของพ่อแม่ชาวเยอรมัน อาจจะทำให้พ่อแม่ชาวไทยหลายคนแปลกใจ แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่า การปล่อยให้ลูกลองทำในบางสิ่งที่เหมือนกับเป็นการมอบภาระหน้าที่ให้และเมื่อพวกเขาทำได้สำเร็จ ความรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในตัวเองก็จะค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้น ถ้าพ่อแม่ชาวไทยจะลองปรับมาใช้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่พยายามควบคุมลูกไปเสียทุกอย่าง เพราะการทำอย่างนั้นอาจจะยิ่งเป็นการทำให้ลูกน้อยวัยต่อต้านยิ่งโวยวาย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้ายไปในที่สุด คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปล่อยให้ลูกได้คิดเอง ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง โดยอาจคอยหาทางแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเอาไว้ เช่น เอาของที่อันตรายเก็บให้มิดชิด แทนที่จะห้ามลูกเล่นของเหล่านั้น

เด็กในวัยต่อต้านย่อมอยากเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง การออกคำสั่งแบบให้เขาได้เลือก เช่น หนูจะกินข้าวก่อนหรืออาบน้ำก่อนดี จะกระตุ้นให้เด็กได้คิด แม้ว่าสุดท้ายเขาจะต้องทำทั้งสองอย่างตามคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม วิธีนี้ก็จะช่วยลดการต่อต้านของลูกรักลงได้