จากลาลีก้า – พรีเมียร์ลีก การส่งสัญญาณผ่านกลยุทธ D2C

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของลีกฟุตบอลต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยแถมยังเป็นลีกใหญ่ที่มีมูลค่าการตลาดเป็นอันดับสองรองจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ อย่าง ลาลีก้า สเปน ซึ่งการเข้ามาเปิดตลาดตรงสู่แฟนบอลชาวไทยในครั้งนี้ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้ชมกีฬาและเหล่าแพลตฟอร์มทั้งหลาย ว่าจากนี้เจ้าของ Content จะขอลงมือสร้าง แพลตฟอร์มของตนเอง

อย่างที่เคยคุยกับคุณผู้อ่านไว้ในคอลัมน์ก่อน ๆ ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ยังคงเป็นดินแดนแห่งทองคำสำหรับธุรกิจสตรีมมิ่งกีฬา เพราะแฟนกีฬา โดยเฉพาะแฟนฟุตบอลในแถบนี้ยังมีกำลังซื้ออยู่ แม้จะไม่ใหญ่เท่ากับตลาดจีน แต่ก็มีเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เอาแค่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ถ้าสตรีมมิ่งกีฬาเจ้าไหนทำตลาดได้ รับรองว่าตัวเลขของสมาชิกต้องพุ่งขึ้นจนน่าพอใจเลยทีเดียว

กลับมาที่การเปิดตัวของ ลาลีก้า ในไทยที่พร้อมให้บริการสตรีมมิ่งเพื่อชมสดการแข่งขัน พร้อมกับเสียงบรรยายไทย (เท่าที่ทราบจะเป็นการพากย์ตรงมาจากสเปน และจะมีเซอร์ไพรส์สำหรับวงการผู้บรรยายฟุตบอลด้วย) นับว่าเป็นการบุกตรงถึงแฟนบอลสเปนในเมืองไทย ที่มีอยู่จำนวนหนึ่งแม้จะไม่มากเท่ากับพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่ถ้าเอ่ยชื่อทีมอย่าง เรอัล มาดริด หรือบาร์เซโลน่า แฟนบอลเก้าในสิบคนต้องร้องว่า “รู้จัก” อย่างแน่นอน

แล้วการเปิดตัวของ ลาลีก้า ในเมืองไทยน่าสนใจอย่างไร สำหรับมุมมองของผู้เขียนแล้ว มองว่านี่คือการส่งสัญญาณสำคัญสำหรับเจ้าของคอนเทนต์ ที่ลุกขึ้นมาสร้างแพลตฟอร์มของตนเอง แม้ว่าในเวลานี้จะเป็นช่วงตั้งต้น เพราะแฟนบอลสเปนในเมืองไทยยังชม ลาลีก้า ได้จาก AIS Play ทรูไอดี และทรูวิชั่นส์ โดยผ่านทางแพลตฟอร์มตัวกลางอย่าง beIN Sports หากการเข้ามาบอกรับสมาชิกในเมืองไทยโดยตรงจากแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งของ ลาลีก้า นั้นเปรียบเสมือนการเข้ามาทดสอบตลาดฟุตบอลสเปนในเมืองไทย

และอย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นว่าลีกอาชีพจากสเปนนั้น มีมูลค่าเป็นอันดับสองอยู่ที่ 4,100 ล้านยูโร รองจากอันดับหนึ่งคือ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งอยู่ที่ 8,600 ล้านยูโร ส่วนอันดับที่สามได้แก่บุนเดสลีก้า เยอรมัน อยู่ที่ 3,100 ล้านยูโร และอันดับที่สี่คือ กัลโช่ เซเรียอา อิตาลี อยู่ที่ 2,100 ล้านยูโร ส่วนลีกเอิง ฝรั่งเศสนั้นอยู่อันดับที่ห้าคือ 1,300 ล้านยูโร

แม้ว่าลาลีก้า จะมีมูลค่าแบรนด์เป็นรองพรีเมียร์ลีกถึงเท่าตัว แต่ฟุตบอลสเปน ยังคงมีมูลค่าของตนเองจากคุณภาพนักเตะในแต่ละสโมสร ที่ทำให้แฟนบอลต้องคอยติดตามผลงาน ข้อเสียอย่างเดียวของลาลีก้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเวลาการแข่งขันในยุโรป ที่ทำให้แฟนบอลทางฟากนี้ต้องรอชมในเวลาค่อนข้างดึกเลยทีเดียว

สำหรับตลาดใหญ่ของลาลีก้า ในภูมิภาคนี้อยู่ที่อินโดนีเซีย ที่มีแฟนบอลชื่นชอบสโมสรฟุตบอลจากสเปนไม่ได้น้อยไปกว่าพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ส่วนตลาดในไทยนั้น ถ้าลาลีก้า เจาะได้สำเร็จก็เท่ากับว่าได้ตลาดใน CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม พ่วงเข้าไปด้วย ยิ่งคนใน CLMV โดยเฉพาะกัมพูชา และลาว นั้นคุ้นเคยลาลีก้าจาก beIN Sports และเมื่อ beIN หมดสัญญากับ La Liga ในปี 2024 ก็เท่ากับว่าเจ้าของ Content อย่างลาลีก้า ก็สามารถทำตลาดต่อได้เลย

ซึ่งการเข้ามาของ ลาลีก้า กับตลาดสตรีมมิ่งในไทยครั้งนี้ ก็ให้บังเอิญสอดคล้องกับข่าวการแต่งตั้งผู้อำนวยการดิจิทัล มีเดียฯ คนใหม่ของพรีเมียร์ลีก อังกฤษอย่าง อเล็กซ์ วิลลิส ที่เคยทำการตลาดให้กับการแข่งขันแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน

ในเนื้อหาข่าวที่แต่งตั้ง วิลลิส นั้นระบุเอาไว้ว่า ผอ.ดิจิทัล มีเดีย คนใหม่จะเข้ามาดูแลการพัฒนากลยุทธ D2C (Direct to Customer) ของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่ง D2C คือการขายตรงไปยังกลุ่มลูกค้าของแบรนด์โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง นั่นเท่ากับว่า Premier League ในฐานะเจ้าของคอนเทนต์ ก็วางแผนอนาคตของตนเองไม่ต่างไปจากลาลีก้าสักเท่าไร

ถึงบรรทัดนี้ ผู้เขียนค่อนข้างแน่ใจว่า นี่คือช่วงสุดท้ายของการชมฟุตบอลผ่านแพลตฟอร์มตัวแทน ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่จะเปิดโอกาสให้แฟนบอลได้เข้าถึงการรับชมได้ง่ายและ Content ที่จะขายในลักษณะ Exclusive Content ให้แพลตฟอร์มตัวกลางเจ้าเดียวนั้นจะน้อยลง (ดังเช่น ลาลีก้า ที่ปัจจุบันไม่ใช่ Content Exclusive ชมได้ในแพลตฟอร์มเดียวอีกต่อไป)

ทิศทางที่ทำให้ตลาดสตรีมมิ่งอยู่รอดได้คือการทำ Original Content และต้องเป็น Original Content ที่สร้างมูลค่าและเป็นภาพจำของแพลตฟอร์มตนเอง แบบนั้นถึงจะอยู่กันได้ยาว หากนี่เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้นค่ะยังคงมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากรออยู่ข้างหน้า ในฐานะผู้ชมก็เลือกชมเลือกเป็นสมาชิกกับแพลตฟอร์มที่ให้ความบันเทิงได้ตรงกับที่คุณต้องการจะดีที่สุดค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า