เรื่องของ “สุขภาพ” เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ใคร ๆ ก็สามารถมีโรคภัยไข้เจ็บหรืออาการเจ็บป่วยแฝงอยู่ในตัวได้ แม้ว่าเราจะเห็นอยู่กับตาว่าใครคนนั้นดูมีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด อย่างเพื่อนร่วมงานที่ทำงานอยู่ด้วยกันทุกวัน จู่ ๆ เขาหรือเธออาจจะเดินมาขอคุยด้วยแล้วระบายความในใจว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ ป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงที่จะอาการกำเริบรุนแรงได้ตลอดเวลา เมื่อได้ยินดังนั้นก็อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกช็อกไม่น้อย เพราะไม่คิดว่าโรคแบบนี้จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว
นอกจากความรู้สึกตกใจแล้ว หลายคนอาจเริ่มกังวลว่าจะต้องวางตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม เพราะการที่เพื่อนร่วมงานเปิดใจบอกให้คนอื่นได้ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่ตนเองเผชิญและความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงนั้นไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแม้แต่น้อย แต่ในฐานะคนที่ทำงานอยู่ด้วยกันทุกวัน เราก็น่าจะมีวิธีแสดงออกถึงความใส่ใจและน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเรารู้สึกเป็นห่วงเป็นใยพวกเขา แล้วเราจะต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไรดีถึงจะเหมาะสม
การแสดงความเห็นอกเห็นใจ
การแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสถานการณ์ที่เหมาะสม เป็นมารยาทพื้นฐานในการเข้าสังคม ซึ่งก็คือการพยายามเข้าใจสถานการณ์ มุมมอง และความรู้สึกของอีกฝ่าย เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายกำลังเผชิญกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่จะสื่อสารความเข้าอกเข้าใจนั้นให้อีกฝ่ายได้รับรู้ เอาเข้าจริงเราอาจไม่จำเป็นที่จะต้องรู้สึกลึกซึ้งมากขนาดนั้นก็ได้ เพราะมันเป็นเพียงมารยาทและการแสดงน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมงานในฐานะที่ทำงานอยู่ในทีมเดียวกัน เพียงแต่อย่าให้ใครเขาดูออกว่าไม่จริงใจหรือเสแสร้งเท่านั้นเอง
การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มอบให้แก่กันได้ง่ายมาก เป็นการแสดงออกซึ่งไมตรีจิตว่า “ฉันอยู่ตรงนี้ข้าง ๆ เธอ ฉันเป็นห่วงเธอนะ ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอกได้” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นกำลังใจที่ส่งให้แก่กัน แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะช่วยเหลืออะไรพวกเขาไม่ได้เลย แต่การที่เรายังมีกำลังใจให้พวกเขาอยู่เสมอ จะกลายเป็นพลังบวกที่พวกเขารับรู้และสัมผัสได้ คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงส่วนมากใช้กำลังใจเป็นพลังชีวิต ถ้าจิตใจพวกเขาอ่อนแอหรือไม่สู้ จะทำให้อาการทรุดลงเร็วขึ้น
อย่าทอดทิ้งพวกเขาไว้คนเดียว
แม้ว่าเราจะไม่ใช่หมอ ให้การรักษาโรคไม่ได้ หรือไม่ใช่ญาติที่จะต้องมาคอยช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้ คือการไม่ทอดทิ้งให้พวกเขาต้องเผชิญหน้าและรับมือกับความเครียดทางจิตใจเพียงลำพัง พยายามอย่าเพิกเฉยหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับพวกเขา อย่าทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวคนเดียวในที่ทำงาน อย่างน้อย ๆ ก็ทำตัวเป็นปกติเหมือนตอนที่ยังไม่รู้ว่าพวกเขาป่วยก็ได้ เพราะบางทีพวกเขาอาจแค่ต้องการกำลังใจ หรือรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้พูดคุยอาการเจ็บป่วยให้ใครสักคนได้รับฟังก็ได้ ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงหรือไม่ได้ช่วยเหลือจนเดือดร้อนอะไร
แต่หากว่าเราเองก็ไม่ยังรู้ว่าตัวเองจะต้องพูดหรือทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ก็อาจจะลองค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเราพอจะช่วยอะไรได้บ้างไหม เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค จริง ๆ แล้วพวกเขาอาจไม่ได้ต้องการความสงสารจากเพื่อนร่วมงาน แต่แค่ต้องการให้คนอื่น ๆ เข้าอกเข้าใจ และช่วยสร้างความมั่นใจให้ตัวพวกเขาเอง ว่าแม้ว่าจะป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือร้ายแรง พวกเขาก็ยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ไร้ประโยชน์แบบทำงานไม่ได้ พวกเขาอาจต้องการความเป็นปกติมากกว่าการมีสิทธิพิเศษหรือการช่วยเหลือใด ๆ เพราะทำให้รู้สึกปลอดภัยและมีคุณค่านั่นเอง
ระมัดระวังเรื่องความเป็นส่วนตัว
คือแบบนี้นะ การที่เรารู้ว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้ป่วยเป็นโรคอะไร ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องป่าวประกาศบอกให้ทุกคนในออฟฟิศรู้ด้วยเสมอไป เพราะเขาอาจจะไว้ใจแค่เราคนเดียว ก็เลยเลือกที่จะบอกเราให้เรารู้ไว้แค่คนเดียว ในกรณีที่เพื่อปรึกษา ระบายความเครียด หรือแม้แต่การฝากฝังอะไรบางอย่างเผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ง่ายที่สุดคือสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาว่ามักจะมาปรึกษาหรือเล่าให้เล่าฟังเกี่ยวกับอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวเขาแบบส่วนตัว นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้อยากให้คนอื่นรู้ด้วย เราก็ควรเคารพความเป็นส่วนตัวของเขาด้วย ถ้าอยากบอกเขาจะบอกเอง
นี่คือสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะมันอาจเกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่คาดคิดตามมาหากมีคนรู้อาการป่วยของเขามากเกินไป ต่างคนต่างความคิด บางองค์กร หากระดับหัวหน้าหรือเจ้านายรู้ว่าลูกน้องป่วย ก็อาจจะให้การดูแลที่ดีมากเกินไปจนกลายเป็นสิทธิพิเศษที่ทำให้คนทำงานคนอื่น ๆ รู้สึกว่าสองมาตรฐานไปหน่อย เหมือนโดนเอาเปรียบ แม้กระทั่งการกดดันให้ออกจากงานก็เกิดขึ้นได้ เนื่องจากคนป่วยประสิทธิภาพการทำงานอาจลดลง ลาหยุดบ่อย ทั้งที่เขายังทำงานได้ดี และจำเป็นต้องใช้เงิน ดังนั้น หากเขาไม่ได้เต็มใจที่จะเปิดเผยเอง แค่ทำหน้าที่ตัวเองไปก็พอ
ศึกษาวิธีปฐมพยาบาล/ช่วยชีวิตเบื้องต้น
จริง ๆ แล้วนี่ควรเป็นความรู้พื้นฐานที่ทุกคนควรมีติดตัวด้วยซ้ำไป เพราะมันค่อนข้างจำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างมากในชีวิต ในสถานการณ์ทั่วในชีวิตประจำวัน เราอาจไปเจอเข้ากับบุคคลที่ต้องการการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วนก็ได้ อาจเป็นคนเดินถนนที่จู่ ๆ ก็เป็นลมล้มพับไปแล้วหยุดหายใจ อาจเป็นบุคคลในบ้าน แม้กระทั่งตัวเราเอง ถ้าเราปฐมพยาบาลเป็น ช่วยชีวิตเบื้องต้นได้ ก็อาจจะช่วยชีวิตคนคนหนึ่งจากความตายได้เลย แต่ขอย้ำว่าต้องทำเป็นและทำอย่างถูกต้องเท่านั้น ความรู้แค่งู ๆ ปลา ๆ แต่ทำไม่ถูก อาจกลายเป็นเรื่องร้ายแรง อยู่เฉย ๆ จะมีประโยชน์กว่า
สำหรับเพื่อนร่วมงาน การที่เรารู้ว่าเขาป่วยเป็นอะไรแล้วศึกษาวิธีปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตตามอาการนับว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ ในการบรรเทาความรุนแรงของอาการป่วยลงอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม เช่น หากมีเพื่อนร่วมงานป่วยเป็นโรคลมชัก ก็จะรู้วิธีที่ถูกต้องว่าว่าไม่ควรนำอะไรไปยัดปากผู้ป่วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงกว่าเดิม แค่จับนอนตะแคง หาอะไรนุ่ม ๆ มาหนุนรองหัว ปลดเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ต้องปั๊มหัวใจ ไม่ต้องพยายามหยุดอาการชัก ผู้ป่วยจะหยุดชักได้เอง แต่ถ้ามีอาการชักนานเกิน 5 นาที ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล เป็นต้น
ช่วยเท่าที่ช่วยได้
ใช่แล้ว หมายถึงการช่วยเหลือในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวบางอย่างนั่นแหละ ทั้งการที่เราเสนอตัวช่วยเหลือเขาเองหรือคนที่ป่วยร้องขอความช่วยเหลือ การเป็นคนใจดีช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่เจ็บป่วยไม่ได้หมายความว่าเราต้องตะบี้ตะบันช่วยทุกอย่าง ช่วยจนตัวเองเดือดร้อน หรือช่วยแม้กระทั่งตอนที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองโดนเอาเปรียบ ทุกอย่างจะมีขีดจำกัด หากเราขีดเส้นไว้แต่แรกว่าเราสามารถช่วยได้เท่านี้ แค่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้ก็เป็นการแสดงน้ำใจและมิตรภาพอันดีให้แก่พวกเขาแล้ว
เพราะบางทีอาจจะเจอเพื่อนร่วมงานที่ป่วยจริงแต่ก็มีใจที่อยากจะเอาเปรียบเราได้เหมือนกัน ใช้อาการป่วยเป็นข้ออ้างให้คนอื่นทำนู่นทำนี่ให้ คนแบบนี้ก็มีไม่ใช่ไม่มี แบบนั้นเสียบรรยากาศด้วย ทำงานหน้าที่ตัวเองก็เหนื่อยเหมือนกัน เพื่อที่ตัวเราจะได้ไม่ต้องมารู้สึกแย่กับตัวเองในภายหลัง (ประมาณว่าไม่น่าช่วยเลย ถ้ารู้ว่าจะเป็นคนแบบนี้) ก็ควรมีขอบเขตที่ชัดเจนว่าจะให้ความช่วยเหลือแค่ไหน เล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยได้ก็ช่วย เกินความสามารถหรือไม่เต็มใจก็ไม่ต้องฝืน บอกปฏิเสธแบบสุภาพไป การเสนอตัวเพื่อช่วยเหลือก่อนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่างที่บอกว่าอย่าให้เกินลิมิตก็พอ