แม้ว่า “การจากลา” จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราทุกคน แต่ทุกครั้งที่เราต้องเผชิญหน้าและรับมือกับการจากลา ไม่ว่าจะ “จากเป็น” หรือ “จากตาย” มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำใจยอมรับ และอดทนต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น การที่ใครสักคนจะปรากฏตัวเข้ามาในชีวิตเราโดยที่เรายินดีจะให้เขาเป็น “ของขวัญ” ในชีวิต นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องมีอิทธิพลทางใจต่อเรามาก เกิดความต้องการให้พวกเขา “อยู่กับเราตลอดไป” ทว่าหากนึกย้อนไปในช่วงเวลาแห่งความสุขที่เคยมีร่วมกันแล้ว เชื่อได้เลยว่าคงไม่มีใครจินตนาการถึงฉากสุดท้ายได้หรอกว่า “สักวันหนึ่งมันจะจบลง”
เพราะ “ตลอดไปไม่มีอยู่จริง” ลึก ๆ แล้วเราทุกคนตระหนักดีว่าทุกอย่างบนโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้ มีเกิดก็ต้องมีดับ มีพบก็ต้องมีจาก งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราในสักวัน และมนุษย์ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นอมตะนิจนิรันดร์ ต่อให้ยังไม่ตายจากกันไป แต่ชีวิตมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลง และการเดินหน้าต่อไปทุกวัน เราจึงไม่อาจรั้งให้ใครอยู่กับเราไปได้ตลอดไป โลกได้นำพาคนมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราอยู่เสมอ มีความสัมพันธ์ มีความผูกพัน หลาย ๆ คนอาจจะอยู่ได้นาน ทว่าท้ายที่สุดก็ตราบเท่าที่ “ความตายจะพรากไป”
ก่อนจะถึงวันสุดท้าย มันไม่เคยมีสัญญาณเตือน เพราะมันก็แค่วันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง หลายคนต้องเผชิญหน้ากับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุคคลอันเป็นที่รักโดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะบอกลากันดี ๆ ทิ้งไว้เพียงความเศร้าโศกของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเรารู้ว่านี่จะเป็นวันสุดท้ายของพวกเขา อย่างน้อยเราก็คงอยากจะได้เจอ ได้พูดคุยกับเขาในตอนที่ยังมีลมหายใจอีกสักครั้ง แค่ครั้งเดียวก็ยังดี การคิดถึงใครสักคนที่เราจะไม่มีวันได้พบเขาอีกแม้จะด้วยความบังเอิญ และเขาก็ไม่มีวันกลับมา เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอยู่ไม่น้อยเลย
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีโลกปัจจุบันมีอะไรหลายอย่างที่ทันสมัยและล้ำหน้าสุด ๆ เราอาจจะเคยได้ยินข่าวคราวความก้าวหน้าของเทคโนโลยีว่าสามารถทำนั่นทำนี่ได้ ชนิดที่เราก็คงไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่าโลกเราจะมาถึงจุดนี้ ล่าสุด มีเทคโนโลยีบางอย่างที่ทำได้แม้กระทั่ง “พาคนที่จาก (ตาย) ไปแล้วกลับมา” ฟังดูน่าสนใจใช่ไหม พาคนที่จากเป็นกลับมาว่ายากแล้ว แต่เทคโนโลยีนี่ดันสามารถพา “คนตาย” กลับมาหาเราได้
เทคโนโลยีพา “คนที่ตายไปแล้ว” กลับมาอย่างไร
แน่นอนว่าไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะชุบวิญญาณหรือปลุกคนที่ตายไปแล้วขึ้นมาจากโลกของความตายหรอก ไม่สามารถทำให้พวกเขากลับมามีชีวิตหรือมีลมหายใจได้อีกครั้ง เพราะแม้แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์สุดทันสมัยก็ยังเอาชนะการสิ้นอายุขัยของคนเราไม่ได้ รวมถึงอาจจะดีกว่าการปลุกคนตายหากเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คนเราไม่ตาย แต่สิ่งที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำได้ คือช่วยให้เราได้ “สื่อสาร” กับคนที่จากไปแล้วอีกครั้ง นอกเหนือจากการคิดถึงเฉย ๆ
เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา หลาย ๆ คนน่าจะได้เห็นโฆษณาตัวหนึ่งของ “ไก่ห้าดาว” แบรนด์ไก่ย่างและไก่ทอดที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ โฆษณาตัวนี้เป็นไวรัลอยู่บนโลกออนไลน์ในช่วงนั้น ไม่ว่าใครที่ได้เปิดเข้าไปดูก็ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นโฆษณาที่เรียกน้ำตาได้ดีจริง ๆ และหลังจากดูจบ หลายคนอาจจะพยายามติดต่อ “ครอบครัวอันเป็นที่รัก” ทันที อยากกลับไปหา อยากกินข้าวด้วยกันสักมื้อ อยากใช้เวลาที่มีด้วยกัน…ให้อิ่มที่สุด
ในโฆษณาตัวนั้น ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตจริงของคุณสุพิชญา ณ สงขลา (คุณโอ) เธอมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้พิการทางการได้ยินทั้งคู่ ภาษามือจึงเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้ไว้ ในช่วงแรก โฆษณาชวนให้เราคิดว่าก็คงนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของแม่ลูกแบบธรรมดา ๆ ขายความซึ้งใจ เรียกน้ำตา ซึ่งเป็นจุดขายทั่ว ๆ ไปที่แบรนด์ไหนก็หยิบมาทำได้ แต่เมื่อดูไปสักพักจะพบว่าโฆษณานี้มีอะไรที่แตกต่างออกไป เพราะเธอพูดถึงคุณแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 จากนั้นโฆษณาก็ปรากฏภาพคุณแม่ของเธอกำลังเตรียมมื้ออาหารอยู่ในครัว
ยังไม่ทันจะคิดว่าโฆษณาอาจหานักแสดงที่มีหน้าตาคล้ายกับคุณแม่ของเธอมาเข้าฉาก แสดงเหมือนกับว่าเป็นแม่ของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ กลับมีข้อความปรากฏขึ้นมาในฉากนั้นว่า “ภาพนี้ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยี Deepfake” โดยทีมงานได้ใช้รูปภาพของคุณแม่ที่เสียชีวิตไปในปี 2553 กว่า 2,000 ภาพ ให้ระบบคอมพิวเตอร์หรือ AI ได้เรียนรู้ สร้างเป็นภาพเสมือนคุณแม่ออกมา ทำให้เธอได้พบกับคุณแม่อีกครั้ง หากแต่เป็นแม่ที่อยู่ในรูปภาพเสมือน ไม่ใช่ตัวคนที่จับต้องได้ และเธอก็ต้องใช้แว่น VR เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับแม่ จากนั้นเนื้อเรื่องของโฆษณาก็ดำเนินต่อไปด้วยการใช้เวลาบนโต๊ะอาหาร สองแม่ลูกนั่งกินข้าวด้วยกัน
Deepfake (ดีปเฟก) คือ เทคโนโลยีอัจฉริยะที่ถูกกล่าวถึงในโฆษณาไวรัลตัวนี้ ซึ่ง Deepfake เป็นคำที่เกิดจากผสมคำ ระหว่างคำว่า deep ที่แปลว่า ลึก และ fake ที่แปลว่า ปลอม เมื่อรวมความหมายแล้ว Deepfake จึงกลายเป็นการปลอมอย่างลึกซึ้ง ปลอมได้เนียนจนแยกไม่ออกนั่นเอง
หลักการทำงานของเทคโนโลยีนี้ คือการสร้างภาพเสมือนจากการประมวลผลของระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ทำให้เราสามารถทับซ้อนภาพใบหน้าของบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่งได้อย่างแนบเนียน หรือนำภาพของบุคคลอื่นมาสร้างเป็นตัวตนเสมือนดังเช่นในโฆษณา
เทคโนโลยี AI ที่มีประโยชน์และอาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์
ภายในระยะเวลา 5.39 นาทีของโฆษณาตัวนั้น คงทำให้คนดูอย่างเรารู้สึกปวดหนึบในใจอยู่ไม่น้อย การได้สื่อสารกับบุคคลที่เราคิดถึงและโหยหาอีกครั้ง มันเป็นเรื่องที่มีผลต่อจิตใจ หลาย ๆ คนไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้บอกลาดี ๆ ตอนที่อีกฝ่ายยังมีลมหายใจ หรือไม่มีโอกาสที่จะขอโทษ บอกรัก ทำดีด้วยก่อนที่พวกเขาจะจากไป การได้พบเจออีกครั้งจึงเหมือนกับการพังทลายสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ แม้ว่าจะเป็นเพียงภาพเสมือนที่จับตัองไม่ได้ และพวกเขาไม่ได้กลับมามีชีวิตอยู่จริง ๆ ก็ตาม ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่สร้างโอกาสแม้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่นำพาคนที่รักกลับมา
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีมันก็เป็นเหมือน “ดาบสองคม” อยู่แล้ว มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อเน้นใช้ประโยชน์ก็จริง แต่มันก็มีโทษอยู่เหมือนกัน เทคโนโลยีหากใช้ในทางที่ถูกต้องมันก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่หากใช้ในทางที่ผิด มันก็คือคมดาบดี ๆ นี่ล่ะ ที่จะย้อนกลับมาทิ่มแทงและทำลายมนุษย์ที่คิดค้นมันขึ้นมาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งมนุษย์ควบคุมมันไม่ได้แล้ว
ยกตัวอย่างเทคโนโลยี AI ซึ่ง Tonkit360 เคยนำเสนอบทความ AI อาจทำลายมนุษยชาติ เป็นภัยคุกคามมากกว่าผู้ช่วย ไปแล้ว ต้องยอมรับว่า AI คือเทคโนโลยีหนึ่งที่สร้างความกังวลใจแม้แต่กับคนที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ว่าถ้าถึงจุดหนึ่งที่ AI มันพัฒนาตนเองได้แบบก้าวข้ามเงื่อนไขและขีดจำกัดต่าง ๆ จนฉลาดเกินมนุษย์ขึ้นมาจริง ๆ มันจะเริ่มเป็นภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ และวันนั้นมันอาจเป็นผู้ทำลายเต็มขั้นมากกว่าที่จะเป็นผู้ช่วย วันใดที่มันเกิดนึกคิดของมันเองได้ ไม่ต้องรอประมวลผลจากคำสั่งที่มนุษย์ป้อนเข้าไป มันคงเป็นอิสระจากมนุษย์ที่คอยควบคุมมันอยู่เป็นแน่
ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธ AI กันได้อย่างเต็มปาก เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีทั้งหลายที่เราหยิบจับอยู่ ก็ล้วนแล้วแต่พึ่งพาการทำงานของ AI แทบทั้งนั้น ความฉลาดล้ำของมันทำให้ใครหลายคนตะลึงกับความสามารถที่มันทำได้ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังใช้ประโยชน์จากมันได้ เราก็พร้อมที่จะมองข้ามโทษของมันไปเสมอ อย่างการสร้างภาพเสมือนของบุคคลที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ในมุมหนึ่งมันคือเรื่องราวสุดซึ้งเรียกน้ำตา แต่ในทางกลับกันหากมีคนพยายามจะใช้ความสามารถนี้ของเทคโนโลยีในทางมิชอบล่ะ? นี่เป็นสิ่งที่ต้องระวังและรู้เท่าทัน ดูที่เจตนาให้ดี
สร้างภาพเสมือน นำคนที่รักกลับมา ไม่ได้มีแค่ในโฆษณา
การนำคนที่รักที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมา (แม้จะเป็นแค่ภาพเสมือน) ไม่ได้ปรากฏแค่เป็นคอนเทนต์ในโฆษณาเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ยามที่พวกเราคิดถึงและอยากเจอพวกเขา เช่น Amazon ที่เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่และกำลังทดลองบนลำโพงอัจฉริยะ Alexa ซึ่งฟีเจอร์นี้คือการใช้เทคโนโลยี AI เลียนแบบเสียงของคนรู้จักหรือคนในครอบครัวของผู้ใช้งานที่เสียชีวิตไปแล้ว เสมือนว่าพวกเขายังอยู่ใกล้ ๆ ยังพูดคุยกับเราอยู่
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับปรโลกได้แต่อย่างใด เพราะมันเป็นเพียงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเหมือนกับ Deepfake ให้ AI จดจำเสียงของผู้เสียชีวิตที่เราเคยเก็บบันทึกไว้ โดยอาจจะเป็นคลิปวิดีโอ หรือไฟล์เสียงสนทนาที่เรามีเก็บไว้ก็ได้ AI จะบันทึก เรียนรู้ จดจำ และเลียนแบบใช้เสียงของบุคคลนั้นเป็นเสียงของผู้ช่วยเสมือนที่มาสนทนากับเราผ่านระบบผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงก็เท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าปกติเราใช้งานลำโพงนี่ให้ปลุกเราตื่นยามเช้า ต่อไปก็อาจจะมีเสียงของคนในครอบครัวที่จากไปแล้วมาปลุกเราในทุกเช้าแทนก็ได้
โดย Rohit Prasad หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนา Alexa AI ได้อธิบายถึงความพยายามที่จะเพิ่มฟีเจอร์เลียนแบบเสียงบุคคลเข้าไปใน AI ว่ามันเป็นเรื่องที่มีผลต่อจิตใจคนเรา โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก หลายคนไม่เคยเตรียมใจมาก่อนว่าพวกเขาจะจากไปกะทันหัน และยังรับไม่ได้ที่ต้องสูญเสียบุคคลนั้นไป “ถึง AI จะกำจัดความรู้สึกเสียใจที่สูญเสียใครสักคนไปไม่ได้ แต่มันช่วยให้เราหายคิดถึงบุคคลที่เราสูญเสียได้” เพราะ AI จะทำงานราวกับว่าบุคคลนั้นยังอยู่กับเราเสมอ
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก็เคยมีการใช้เทคนิค Hologram ในการสร้างภาพแบบ 3D จำลองภาพบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วให้ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งมาก่อนหน้านี้แล้วเหมือนกัน อย่างเช่น Kanye West ที่เคยพาพ่อของ Kim Kardashian ที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมาอวยพรวันเกิดให้ลูกสาวในรูปแบบของ Hologram หรือ Snoop Dogg แรปเปอร์ที่ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตคู่กับ Hologram ของ Tupac Shakur ที่เสียชีวิตไปนานถึง 15 ปีแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายครั้งทีเดียวที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี พาคนที่เรารักกลับมาจากโลกแห่งความตาย ไม่ว่าจะเป็นการผสาน AI เข้ากับ Hologram เพื่อให้ภาพ Hologram สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ หรือจะใส่ข้อมูลอื่น ๆ ที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ลงไปก็ได้เช่นกัน ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับเทคโนโลยี AR หรือ VR ทั้งแบบที่ดูในจอหรือแบบที่สวมใส่เพื่อมองโลกเสมือนให้เป็นโลกเดียวกับโลกจริง ก็จะยิ่งช่วยให้เราเห็นเหมือนคนจริง ๆ จนแทบแยกไม่ออก หรือแชตบอทพูดคุยกับคนที่จากไปแล้ว เกิดจากการวิเคราะห์แชตจริงที่เราเคยคุยกับบุคคลนั้นก็ทำได้
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีลักษณะนี้จะดีต่อใจคนบางกลุ่มที่โหยหาคนที่จากไปแล้ว แต่ก็มีผู้คนมากมายที่ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะมองว่าเทคโนโลยีจะทำให้คนเราไม่ยอมรับที่จะอยู่ในโลกของความเป็นจริง ยังยึดติดไม่มูฟออนแม้แต่กับคนที่ตายไปแล้ว รวมถึงความน่ากังวลว่าอาจมีมิจฉาชีพนำไปใช้ปลอมแปลงเป็นเสียงของคนที่เราคุ้นเคยเพื่อใช้ในจุดประสงค์ในทางที่ไม่ดี หรือมันอาจจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับคนบางกลุ่มในการหากินกับคนที่จมกับความเศร้าเพราะความสูญเสียและคนที่ตายไปแล้วก็เป็นได้
และอีกสิ่งที่สำคัญ คนเราจะยอมให้คนรักที่เสียชีวิตไปแล้วกลายเป็น AI ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าแค่เป็นการปรากฏเพื่อให้ระลึกถึงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะอยากมีโอกาสอีกสักครั้งนั้น มันอาจจะดีต่อใจคนบางคนได้จริง ๆ ตอบสนองความโหยหาและความคิดถึง แต่ถ้าจะอยู่กันต่อไปเรื่อย ๆ ล่ะ จะดีจริงเหรอที่คนที่ตายไปแล้วจะยังวนเวียนอยู่รอบตัวเราด้วยความล้ำของเทคโนโลยี เพราะคนตายที่กลับมาก็ไม่ใช่ผี แต่จะให้มองว่าเป็นเพียงภาพเสมือนจากเทคโนโลยีก็ไม่สะดวก รวมถึงพวกเขาอาจไม่ได้อยากกลับมา คนเป็นนี่แหละที่ไม่ปล่อยวาง เราจะต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไรล่ะ