เราอาจจะคุ้นหูหรือคุ้นตากับคำว่า “LGBT” กันมานาน ซึ่งหมายถึง lesbian, gay, bisexual และ transgender ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า “LGBTQ+” หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง คู่รักเพศเดียวกันแม้จะมีให้เห็นมากขึ้นในสังคมไทย จนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่การยอมรับในทางกฎหมายของบ้านเรานั้น ยังต้องยอมรับว่า ‘ไม่เท่าเทียม” จึงทำให้การใช้ชีวิตของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมีอุปสรรคและยากลำบาก
LGBTQ+ คืออะไร?
LGBTQ+ เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะถึงแม้ว่าโลกใบนี้จะมีเพียงแค่สองเพศหากจำแนกตามสรีระ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์มีเพศมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่เพศชายหรือเพศหญิง ในอดีตกลุ่มคนเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดของสังคม และไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ในปัจจุบันกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเริ่มได้รับการยอมรับมากกว่าในอดีต มีการใช้คำเรียกที่มีความหลากหลายมากขึ้น
-
L Lesbian คือผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
-
G Gay คือผู้ชายที่มีรสนิยมชมผู้ชาย
-
B Bisexaul คือคนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
-
T Transgender คือบุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงข้ามเพศมาจากผู้ชาย และผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง
-
Q Queer เป็นคำเรียกกว้าง ๆ ของกลุ่มคนที่มีเพศลื่นไหล ไม่ได้จำกัดกรอบว่าตนจะต้องชอบเพศไหน
- (+) คือ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ
ในยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนและความคิดผันแปรไป ทำให้กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ+) ได้มีบทบาทมากขึ้น และสามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเสรีในสังคมไทย แต่อีกมุมมองหนึ่งของสังคมกลับมีการปิดกั้นและไม่ได้เปิดยอมรับอย่างเต็มที่สักเท่าไรนัก ชีวิตของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในประเทศไทยนั้นยังคงถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออกทางเพศด้วยการเลือกปฏิบัติ โดยมีการควบคุมการแสดงออกทางเพศอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ การควบคุมอย่างเป็นทางการและการควบคุมอย่างไม่เป็นทางการ
แค่รักคงยังไม่พอ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้อ่านอาจได้เห็นบทความหรือข้อความในโซเชียลมีเดียมากมายทั้งกลุ่มของคู่รัก LGBTQ+ ออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม “ความรัก” เกิดจากคนสองคนที่ดูแลกันฉันสามีและภรรยาเหมือนคู่รักอื่น ๆ ทั่วไป แต่เมื่อไม่ได้รับสิทธิในการสมรส เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเข้าโรงพยาบาลทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการดูแล
สิทธิในการดูแลนี้ในปัจจุบันคู่สมรสจะเป็นคนที่มีอำนวจในการตัดสินใจเป็นอันดับที่หนึ่งนั่นหมายถึงคู่ที่เป็นสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายกันเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่ได้สมรสตามกฎหมายกำหนด ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจคือครอบครัว นั่นหมายความว่า “LGBTQ+” ไม่ใช่พ่อแม่จึงตัดสินใจแทนไม่ได้
สิทธิสมรสอย่างเท่าเทียม
เป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิการก่อตั้งครอบครัว หรือความเรียบง่ายที่มนุษย์คนหนึ่งจะสร้างครอบครัวโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งสมรสเท่าเทียม เคยติดเทรนด์ทวิตเตอร์ระยะหนึ่ง โดยมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส” มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล
การกำหนดให้บุคคลทุกคนได้การรับรองสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.ดังกล่าวถูกเสนอโดย ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งปัจจุบันได้เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ขั้นตอนพิจารณาของกฤษฎีกาและเสนอต่อ ครม. อีกครั้ง เพื่อให้เกิดเป็น “สมรสเท่าเทียม”
ทำไมสังคมไทยไม่ยอมรับ “สมรสเท่าเทียม”
ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเราทุกวันนี้มีความซับซ้อนและความขัดแย้งอยู่มาก แม้ว่าสังคมจะมีคนบางกลุ่มยอมรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความชิงชังและอคติสำหรับคนบางกลุ่มที่มีต่อ LGBTQ+ ยังปรากฏให้เห็น อีกทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้เนื่องด้วยหลากหลายเหตุผล ซึ่งเกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
สังคมไทยมองว่ากลุ่มคน LGBTQ+ เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์และทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคติดต่อ ได้แก่ เอชไอวี (HIV) จากการศึกษาค้นพบข้อมูลหลักฐานอย่างชัดเจนว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) สูง ความปลอดภัยในสังคมจะลดน้อยลง เพิ่มอัตราการก่อเหตุอาชญากรรม ยกตัวอย่าง ห้องน้ำสาธารณะในกรณีที่มีการสร้างขึ้นเพื่อความหลากหลายทางเพศ
หากสมรสเท่าเทียมถูกนำมาใช้ในชีวิตจริงจะส่งผลต่อโครงสร้างจำนวนประชากรของประเทศ เนื่องจากจะทำให้จำนวนประชากรลดลง เพราะสามารถแต่งงานกับเพศเดียวกันได้และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ลดความเห็นแก่ตัว “ความเท่าเทียม” คือประโยชน์ของทุกคน
“ความรัก” ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกัน ย่อมสร้างรอยแผลเป็นที่ไม่มีวันจางหายไป หากเรามองใจเขาใจเรา แล้วรู้สึกถึงความยากลำบากนั้นได้ เราจะเข้าใจและยอมรับได้ เหมือนคำพูดที่ว่า “หากเราไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกันกับสิ่งที่เขาประสบพบเจอ เราย่อมไม่รู้และไม่เข้าใจในสิ่งนั้นเลย”
LGBTQ+ ควรได้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการหมั้น จดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้ จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สิทธิที่ดีอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้ เวลาคนสามารถสร้างครอบครัวด้วยกันได้ เขาจะลงทุนกับสิ่งที่เขารัก ไม่ว่าจะบ้าน รถ ความรัก ที่จะลงทุนด้วยกัน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งหากมีการแก้ไขที่เกิดขึ้นจริง กลุ่ม LGBTQ+ มีสิทธิในการมีครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สามารถกู้ซื้อบ้านด้วยกัน ทำประกันชีวิต หรือในเรื่องการลดหย่อนภาษี การรับบุตรบุญธรรม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถปลดล็อกศักดิ์ศรี สิทธิ และสวัสดิการได้มากทีเดียว
เสรีภาพในการใช้ชีวิต
เลิกมองว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนผิดปกติได้แล้ว เพราะ LGBTQ+ ไม่ใช่คนแปลก พวกเขาก็เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่เป็นปกติ มีความรู้ความสามารถ พวกเขาแค่ต้องการสิทธิเสรีภาพ และการยอมรับว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชายอย่างพวกเขาก็มีตัวตนอยู่ในสังคม เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมเปิดกว้าง และไม่ควรปิดกั้นตั้งแต่แรก สังคมไม่ควรแบ่งเพศสภาพตั้งแต่แรกแล้ว
การที่รัฐบาลเห็นคุณค่าในความรักของคนกลุ่มนี้ อาจจะช่วยทำให้คนเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้นอีก พอคนในสังคม Normalize กับเรื่องนี้ คนที่เป็น LGBTQ+ อาจจะเปิดเผยตัวตนของตัวเองมากขึ้น อาจจะกล้าทำในสิ่งที่พวกเขาไม่กล้ามาก่อน และมั่นใจว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าประเทศนี้ยังมีหวังและยังหาความสุขได้อยู่
การเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมไม่สามารถทำได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถสื่อสารออกไปและเปลี่ยนความคิดของหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่พวกเราทำได้คือการ “พยายามสื่อสาร” สำคัญของหนทางสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในภาคกฎหมายและภาคสังคมคือ รัฐบาลและสื่อมวลชน สร้างความคิดใหม่เรื่องเพศ เปลี่ยนแปลงความคิด เพื่อให้สังคมเรียนรู้และเข้าใจในบทบาทของตัวเองและยอมรับตัวตนของผู้อื่นที่แตกต่าง