กลายเป็นกระแสไวรัลต้อนรับเปิดเทอมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับโฆษณาตัวใหม่ของแบรนด์เครื่องสำอางขายตรงแบรนด์ดัง “มิสทีน” ร่วมกับ Salmon Lab เอเจนซี่โฆษณาที่มีชื่อด้านการออกแบบโฆษณาอย่างสร้างสรรค์ มาในคอนเซปต์ #ฉายแสงทุกการเติบโต จนเป็นที่ฮือฮาในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ โดยโฆษณาตัวดังกล่าว มีสทีนบรรยายตัวโฆษณาไว้ว่า “โรงเรียนคือสถานที่แห่งการเรียนรู้” ถึงแม้กฎระเบียบบางอย่างในโรงเรียนไม่สามารถปรับเปลี่ยน แต่ MISTINE เชื่อว่าทุกคนสามารถดูดีได้ในแบบของตัวเอง และเราสนับสนุนให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง (ชมคลิปโฆษณาได้ที่ YouTube : Mistine Official)
สำหรับใครที่ยังไม่เห็นโฆษณาตัวนี้ เล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่าเป็นคลิปโฆษณา ความยาว 3 นาที 4 วินาที มีฉากหลังเกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ประกอบด้วยนักแสดง 4 คน ได้แก่ ครูสูงวัย ชื่อว่า “ครูพนมวัน” และนักเรียนหญิงชั้นม.ปลาย 3 คน เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อครูที่ดูเหมือนว่าจะเจ้าระเบียบมากถือไม้เรียวเดินสวนกับนักเรียนหญิง 3 คนบริเวณทางเดินหน้าชั้นเรียน โดยที่เด็กทั้ง 3 ต่างก็แต่งหน้าทาปากแบบจัดเต็ม ซึ่งถ้าอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน การแต่งหน้ามาโรงเรียนของเด็กทั้ง 3 ถือว่า “ผิดกฎระเบียบของโรงเรียน”
โฆษณาเป็นไปตามที่หลาย ๆ คนคาดไว้ คือ ครูได้เรียกให้เด็กทั้ง 3 หยุดเพื่อว่ากล่าวตักเตือน สิ่งที่หลาย ๆ คนคิดไว้ก็คือ เด็กทั้ง 3 คนจะต้องถูกดุเรื่องที่แต่งหน้า (อย่างจัด) มาโรงเรียน เพราะในชีวิตจริง โดยปกติโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้เด็กแต่งหน้าทาปากมาโรงเรียน นั่นหมายความว่าสถานการณ์ที่เกิดกับเด็กทั้ง 3 คนนี้ เรื่องอาจไม่จบแค่ถูกครูดุและไล่ให้ไปล้างหน้าเอาเครื่องสำอางออก แต่เด็กอาจถูกลงโทษอย่างอื่น เช่น ใช้คำพูดเสียดสีให้รู้สึกไม่ดี ประจานต่อหน้าเพื่อนให้อับอาย ทำทัณฑ์บน เรียกผู้ปกครอง และหนักสุด (ที่เคยเห็น) อาจถึงขั้นสั้งพักการเรียน
แต่เหตุการณ์ในคลิปโฆษณากลับหักมุม เพราะครูพนมวันไม่ได้ดุหรือตักเตือนเรื่องที่เด็ก ๆ แต่งหน้ามาโรงเรียน ทว่าดุเรื่องที่แต่งหน้ากันไม่เป็น ไม่เหมาะสมกับตัวเอง เด็กหญิงคนแรก “รุ่งฤดี” เขียนคิ้วไม่เป็น ครูจึงตำหนิว่า “นี่คิ้วหรือสาหร่ายวากาเมะ ทำไมมันเข้มขนาดนี้” เด็กหญิงคนที่สอง “วราพร” ทาหน้าขาววอกปากแดงแจ๋ดไม่เข้ากับสีผิว ครูจึงค่อนแคะว่า “หน้าแน่นแบบเนี่ย จะสวยไปแข่งกับใครมิทราบ” และเด็กหญิงคนสุดท้าย “ปิ่นนภา” ที่กรีดตาไม่สวย ครูจึงดุว่า “จะต้องให้พูดซ้ำอีกกี่ครั้ง การกรีดตาเป็นสิ่งสำคัญ มันจะทำให้เธอได้ express look หรือตัวตนของเธอ”
หลังจากดุเด็กทั้ง 3 คนเรื่องที่แต่งหน้ากันไม่เป็น ครูพนมวันยังเป็นคนสอนการแต่งหน้าให้กับเด็กทั้ง 3 คนใหม่ “รุ่งฤดี” ครูเช็ดคิ้วที่เขียนมาหนาเตอะออก พร้อมทั้งสอน “วิธีเบลนด์คิ้วแบบ Natural looks” และบอกว่า “โตแล้ว หัดใส่ใจดูแลตัวเองซะบ้าง หัวคิ้วที่ดีมันต้องดูเป็นธรรมชาติ”
คนต่อมา “วราพร” บอกสาเหตุที่แต่งหน้าแน่นเพราะเพื่อนห้องอื่นทาปากแดงแข่ง ครูจึงเตือนว่า “ความสวยไม่ต้องไปแข่งกับใคร จงสวยในแบบของเธอ ลูกต้องภูมิใจในตัวเอง” พร้อมสอนวิธีเลือกสีลิปสติก “ต้องเลือกเฉดสีให้เหมาะกับ undertone ผิวเรา ไม่ใช่นึกจะปากแดงก็แดง แต่ต้อง choose carefully มันแดงไหน แดงส้มอิฐ หรือแดงอมชมพู อย่างเธออะ เขาเรียก warm skin tone บอกจนปากจะฉีกถึงรูหูละ Caramel 20 เหมาะกับเธอที่สุด”
และคนสุดท้าย “ปิ่นนภา” ที่ครูพนมวันสอนวิธีกรีดตาใหม่ พร้อมสอนการคอนทัวร์ใบหน้า ที่ “ต้องสั่งสมประสบการณ์เรื่องแสงและเงาที่ตกกระทบบนใบหน้า ส่วนไหนที่อยากเน้นก็ไฮไลท์ ส่วนไหนที่อยากน้อยลงก็คอนทัวร์ซะ”
แม้จะเป็นโฆษณา แต่ก็เป็นโฆษณาที่สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ให้กับสังคม
แม้ว่านี่จะเป็นเพียงโฆษณา ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความประทับใจในแบรนด์ เป้าหมายท้ายที่สุดก็เพื่อจะขายของนั่นเอง แต่การใช้กลยุทธ์การทำโฆษณาที่เล่นกับประเด็นสังคมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิของเด็กและการทำร้ายจิตใจเด็ก ที่มีข่าวออกแทบจะวันเว้นวันกรณีที่ครูตั้งใจกล้อนผมหรือตัดผมนักเรียนที่ผมยาวมาโรงเรียนให้แหว่ง เพื่อให้เด็กไปตัดผมให้สั้น! หรือการติดป้ายให้กับเด็กที่อยากสวยอยากงามเนื่องจากเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นว่า “แก่แดด” หรือประเด็นการแต่งชุดไปรเวทไปเรียนและอนุญาตให้เด็กไว้ผมยาว ถือเป็นเรื่องที่เด็กและคนรุ่นใหม่กำลังร่วมกันรณรงค์ ว่าจริง ๆ แล้วกฎพวกนี้มันมีผลต่อการเรียนของเด็กหรือไม่
หลาย ๆ กรณีที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น คนวัยทำงานหลายคนเคยมีประสบการณ์ร่วมเมื่อสมัยเป็นนักเรียน เมื่อมาเห็นโฆษณาที่ตั้งใจจะสื่อสารประเด็นดังกล่าว จึงทำให้โฆษณานี้กลายเป็นไวรัล และแบรนด์ก็เป็นที่พูดถึงอย่างมากชั่วข้ามคืนถึงประสบการณ์ที่ตนเองเคยเจอมา ส่งผลให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดี มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนวัยเรียนที่เป็นวัยรุ่น ให้เห็นว่าแบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิสทีน และสลัดภาพลักษณ์เก่าของแบรนด์มิสทีน ที่เดิมนิยามการแต่งหน้าว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่วัยทำงาน โดยใช้ภาพจำอย่างนักแสดง “อั้ม พัชราภา” เป็นโลโก้แบรนด์มาอย่างยาวนาน
ที่สำคัญ โฆษณาตัวนี้ยังทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามกับกฎระเบียบของโรงเรียนที่ห้ามนักเรียนแต่งหน้าว่า “เด็ก ๆ ไม่สามารถที่จะสวยหรือดูดีในแบบที่พวกเขาต้องการงั้นหรือ” โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมที่ช่วงวัยก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งมันเป็นปกติของช่วงวัยที่เด็กจะรักสวยรักงามมากขึ้น เพราะไม่ว่าใครก็อยากจะดูดีเมื่อออกจากบ้าน ทุกคนควรได้เฉิดฉายอย่างเหมาะสมในวัยของตัวเอง แม้จะเป็นเด็กนักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านโดยทาแค่แป้งฝุ่นหรือเปล่า ถ้ามันปิดจุดบกพร่องบนหน้าไม่มิด ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับความเป็นตัวเองมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น กฎระเบียบที่เก่าเกินไป ถึงเวลาแล้วที่ต้องรื้อ แล้วตกลงกันใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย
ทำตัวเองให้สวยกับแก่แดดมันคนละเรื่องกัน
นอกจากประเด็นเรื่องกฎระเบียบของโรงเรียนที่มักจะห้ามไม่ให้นักเรียนแต่งหน้าไปเรียน อีกประเด็นที่สร้างความฮือฮาและทำผู้ชมรู้สึกอินตาม เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ร่วม หรือมีคำถามในหัวว่า “เด็กแต่งหน้าให้สวย=แก่แดด” จริงหรือ เนื่องมาจากตอนหนึ่งในโฆษณา “รุ่งฤดี” เด็กหญิงที่ครูพนมวันสอนเขียนคิ้วยกมือขึ้นบอกกับครูว่า “แต่ครูคะ ครูรณชัยห้อง 6/3 บอกว่าเป็นเด็กเป็นเล็กยังไม่ควรแต่งหน้ามันแก่แดด” จากนั้นครูพนมวันก็สวนกลับทันทีว่า “โว้ย! หัวโบราณ! อย่าปล่อยให้ความคิด Male Dominated มาครอบงำ ทำตัวเองให้สวยกับแก่แดดมันคนละเรื่องกัน”
หากพิจารณาตามความหมายของคำ คำว่า “สวย” แปลว่า งามน่าพึงพอใจ ส่วนคำว่า “แก่แดด” แปลว่า ทำเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ซึ่งเอาเข้าจริง การที่เด็กผู้หญิงที่เริ่มโตเป็นสาวจะอยากสวยนั้นมันไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ ที่สำคัญ ไม่ได้แปลว่าเด็กที่อยากสวยจึงแต่งหน้าจะต้องอยากโตเป็นผู้ใหญ่ที่เกินอายุตัวเองเสมอไป เนื่องจากมันเป็นธรรมชาติตามฮอร์โมนเพศที่มีผลต่ออารมณ์ของเด็กตามช่วงอายุเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ความอยากสวยไม่ใช่ว่าอยากเป็นผู้ใหญ่ แต่มันเป็นไปตามกลไกของการเจริญเติบโตช่วงเข้าสู่วัยรุ่น
แต่นั่นทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเด็กที่แต่งหน้าเป็นเด็กแก่แดด เพราะเด็กที่แต่งหน้าจะดูสวยและดูโตกว่าเด็กในวัยเดียวกันเมื่อให้คาดเดาอายุ อีกทั้งเด็กบางคนก็มีนิสัยและกิริยาท่าทางที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุด้วย จึงดูโตเร็วกว่าที่ผู้ใหญ่คาดหวัง ทว่าผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าใจความเป็นไปของวัยของเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยรุ่น ความอยากสวยอยากงามอยากดูดีไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเผลอ ๆ อาจโชคดีที่เด็กได้ค้นพบตัวเองจากการแต่งหน้าก็เป็นได้ เด็กที่โตกว่าวัยจริง ๆ มันก็มี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแค่ผู้ใหญ่จะสนับสนุนไปในทางที่ดี
ดังนั้น เด็กที่อยากสวยไม่ได้แปลว่าต้องแก่แดดเสมอไป เพราะถ้าหากผู้ใหญ่ อย่างครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่เด็กใช้ชีวิตอยู่มากกว่าบ้านตัวเอง จะสร้างค่านิยมและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสวยให้สมวัยเป็นอย่างไร น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากเด็กได้รับการอบรมว่าในวัยเท่านี้ควรแต่งหน้าอย่างไรถึงจะสวยสมวัยและไม่ดูโตเกินอายุไปมาก ต้องแต่งหน้าแบบไหนให้เหมาะกับลักษณะทางกายภาพของตนเองเพื่อเพิ่มความมั่นใจ หรือแต่งหน้าให้เหมาะกับชุดนักเรียนที่สวมอยู่ เพื่อการเติบโตไปตามวัย ที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป
ความสวยไม่ควรถูกจำกัดและสงวนไว้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะไม่ใช่เรื่องเลยที่ต้องกีดกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นเข้าถึงความสวยในแบบที่สร้างความมั่นใจในการออกจากบ้านให้กับพวกเขา อีกทั้งการแต่งหน้าก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก เด็กเรียนได้ดีหรือไม่ดีอยู่ที่สติปัญญาของเด็กเองและครูผู้สอน ไม่ใช่สีสันต่าง ๆ บนใบหน้า ยกตัวอย่างอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ที่ห่างกับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพียงแค่ปีเดียว พวกเขาก็สามารถแต่งหน้าไปเรียนได้โดยที่ไม่มีผลกระทบต่อการเรียน การแต่งหน้าไม่ได้ทำให้เรียนแย่ลงหรือทำให้พวกเขาเรียนไม่จบ
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างอยู่ที่การปลูกฝังว่า “ความสวยที่เหมาะสมกับวัย” อยู่ที่ตรงไหน และต้องสอนอย่างไรให้การแต่งหน้าไปเรียนเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะไม่นำมาโอ้อวดแบรนด์เครื่องสำอางกัน สอนวิธีเลือกซื้อเครื่องสำอางที่เหมาะกับกำลังซื้อของช่วงวัย ยี่ห้อไหนที่ไม่แรงกับผิวหน้ามากเกินไป การทดสอบการแพ้ รองพื้น ลิปสติกเฉดสีที่เหมาะสมสีผิวและชุดนักเรียน เครื่องสำอางอะไรที่ไม่จำเป็นสำหรับผิวหน้าคนวัยนี้ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่สอนกันได้
ความสวยควรเป็นความพอใจส่วนบุคคล ใครใคร่แต่งหน้าไปเรียนแต่ง ใครใคร่หน้าสดไปเรียนก็หน้าสด และอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าที่เด็กแต่งหน้าไว้ผมยาวเป็นเพราะเด็กอยากจะรีบโต อยากจะดึงดูดเพศตรงข้าม หรืออยากรีบหาแฟน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น พวกเขาแค่อยากสวย ผู้ใหญ่วัยทำงานหลายคนทั้งไว้ผมยาว ทั้งแต่งหน้าจัดจ้าน ก็ไม่ได้มีแฟนกันทุกคน แค่แต่งสวยเพราะพอใจที่จะแต่ง บางคนอาจไม่เคยโดนจีบ หรือบางคนก็ตั้งใจเองว่าจะอยู่อย่างโสด ๆ ด้วยซ้ำไป ใครเข้ามาจีบก็ไม่เอา
หรือการอ้างว่าการแต่งหน้าทำให้เด็กดูโตกว่าวัยแล้วจะเกิดอันตราย อย่าลืมว่าเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่เคยแต่งหน้า ยังตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศได้เลย ถ้าอาชญากรจะก่ออาชญากรรม มันไม่สนหรอกว่าคนนั้นจะแต่งหน้าหรือไม่ หรือคนนั้นจะแต่งตัวโป๊หรือไม่ หรือคนนั้นจะเดินในที่เปลี่ยวหรือไม่ ถ้ามันจะก่อคดี ใคร ๆ ก็มีสิทธิ์โดนได้หมด สามารถบุกขึ้นไปถึงบ้านเหยื่อเองเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น มันไม่ใช่ความผิดของเหยื่อที่แต่งหน้าจนดูโตกว่าวัยหรอก เป็นความผิดของอาชญากรที่ก่อเหตุต่างหาก ว่ากันตามจริง จะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครสมควรตกเป็นเหยื่อ
โลกของพวกเธอมันไม่ได้จบแค่ในรั้วโรงเรียน
เพราะการแต่งหน้ามันไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยความงามเท่านั้น แต่มันยังเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่จำเป็นในการเข้าสังคมในอนาคต ต้องไม่ลืมว่าโลกของพวกเด็ก ๆ ไม่ได้สิ้นสุดแค่ในรั้วโรงเรียน ถ้าจะอ้างว่า “โรงเรียนคือสถานที่แห่งการเรียนรู้” ก็ต้องสอนให้เด็กได้รู้ทุกอย่างจากรั้วโรงเรียน ไม่เว้นแม้แต่ทักษะการแต่งหน้า
สำหรับผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ที่เป็นเด็กนักเรียนเมื่อวันวาน หลายคนยังแต่งหน้าไม่เป็น ทั้งที่ทักษะการแต่งหน้าควรจะมีการสอนในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กทุกคนมีพื้นฐาน อย่างน้อยที่สุดก็คือการเลือกรองพื้นให้ถูกเบอร์ ทุกวันนี้หลายคนออกจากบ้านแบบ “หน้าเทา” เพราะเลือกรองพื้นไม่เป็น เขียนคิ้วกันคิ้วไม่เป็น หรือความผิดพลาดเดียวกันกับ “วราพร” ในคลิปโฆษณา คือเลือกใช้ลิปสติกไม่เหมาะกับสีผิวตัวเอง ไม่รู้ว่าสีผิวของตัวเองเป็นแบบไหน คิดอยากจะทาปากสีแดงก็ไม่ใช่ว่าจะหยิบแดงไหนมาทาได้ ดังเช่นที่ครูพนมวันบอก จะต้องเลือกอย่างระมัดระวัง เพราะสีแดงก็มีหลายแดงหลายเฉด เลือกผิดแดงชีวิตเปลี่ยนได้
การที่ผู้ใหญ่วัยทำงานหลายคนไม่เคยมีใครสอนแต่งหน้าแต่งตัว ทำให้เกิดความผิดพลาดอย่างที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เอาเข้าจริงมันจะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำหากเด็ก ๆ ได้รับการสอนมาจากโรงเรียน ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นที่โรงเรียน ก็เพราะว่าเด็กทุกคนจำเป็นต้องเข้าโรงเรียนตามที่กฎหมายบังคับอยู่แล้ว และโรงเรียนก็อ้างตัวเสมอว่าเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ก็น่าจะสอนให้เด็กได้รู้ทุกเรื่องที่จำเป็นต่อพวกเขาเมื่อต้องออกจากรั้วโรงเรียนไปใช้ชีวิตในสังคม ถ้าจะสอนก็ต้องสอนให้ครบทุกอย่าง ทั้งวิชาเรียนและวิชาชีวิต การแต่งหน้าก็เป็นวิชาการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง
ดังนั้น ความสวยของเด็กจากการแต่งหน้า จะไม่ใช่เรื่อง “ผิดระเบียบ” หรือ “เรื่องแก่แดด” เลย หากผู้ใหญ่ช่วยกันวางแนวทางให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเหมาะสม และมองว่ามันเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองให้ดูดี ครูควรมีส่วนช่วยในการสอนให้เด็กแต่งหน้าเป็น ให้ฉายถึงความสวยในแบบของเด็กเองที่เหมาะกับช่วงวัย เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดี ในอนาคตพวกเขาต้องเข้าสังคม ต้องไปสมัครงาน ต้องติดต่อธุรกิจ แม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันธรรมดา ๆ พวกเขาควรจะมีความมั่นใจและดูดีในแบบของตัวเอง มันคงจะดีกว่าหากได้รู้ตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียน
การแต่งหน้าช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและสร้างความมั่นใจ
การแต่งหน้า ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและสร้างความมั่นใจได้ เพราะเมื่อคนเรารู้สึกว่าตัวเองสวยและดูดี ก็จะมีความมั่นใจตามมา โดยเฉพาะเด็กมัธยมที่เริ่มเข้าสู่การเป็นวัยรุ่น พวกเขาก็แค่ “อยากดูดีเมื่อออกจากบ้าน” แต่การตีกรอบที่มากเกินไป ระบุเป็นกฎว่าการแต่งหน้าหรือผมยาวไปโรงเรียนเป็นเรื่องผิดระเบียบ ก็ทำให้หลายคนต้องออกจากบ้านทั้งที่ขาดความมั่นใจ และไหนจะการลงโทษให้เด็กต้องรู้สึกอับอายอีก โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่อบรมสั่งสอน ให้ความรู้ ไม่ใช่บั่นทอนความมั่นใจหรือทำให้เด็กรู้สึกอับอาย กฎไหนที่ไม่เข้ากับยุคสมัยก็ควรปรับปรุง
การแต่งหน้าเพื่ออยากให้ตัวเองดูดีดูสวย ไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องแต่งมาเพื่อให้ใครมาดูมาชม แต่แต่งเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้น การจะตัดสินว่าเด็กที่แต่งหน้าออกจากบ้านมาสวย ๆ เพราะอยากเรียกร้องให้เพศตรงข้ามมาสนใจหรือแก่แดดจึงเป็นการเหมารวมและแปะป้ายให้เด็กอย่างไม่สมเหตุสมผล เด็กบางคนไม่มั่นใจที่ต้องออกจากบ้านด้วยใต้ตาที่ดำเป็นหมีแพนด้า จึงหาเครื่องสำอางทาปิดทับรอยดำก็ บางคนไม่มีดั้ง อยากดูจมูกโด่งจึงไฮไลท์บริเวณสันจมูก หรือบางคนโหนกแก้มใหญ่ จึงคอนทัวร์ปิดโหนกแก้ม บางคนสีผิวบริเวณต้นคอเข้ม จึงอยากไว้ผมยาวเพื่อปิดต้นคอ บางคนปากคล้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงพยายามปิดด้วยลิป ๆ เป็นต้น
เด็กอาจมีเหตุผลที่แต่งหน้าดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งไม่ใช่เพราะอยากจะแก่แดดแก่ลมอะไร ในเมื่อร่างกายมีข้อด้อยก็ไม่อยากจะให้ใครเห็น ดังนั้น อย่าเมินเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเด็กที่พยายามแต่งหน้าเพื่อปิดบังจุดบกพร่องในร่างกายของตัวเอง ไม่ว่าใครก็อยากจะดูดีทั้งนั้น การห้ามเด็กแต่งหน้าไปโรงเรียนก็เท่ากับว่า “เด็กไม่สามารถสวยหรือดูดีในแบบที่ต้องการได้เหมือนกับผู้ใหญ่” ผิดหรือที่พวกเขาอายข้อบกพร่องนั้น ผิดหรือที่พวกเขาอยากดูดีเวลาเดินไปเจอผู้คน เด็กก็เป็นคน มีหัวจิตหัวใจ มีความรู้สึกเหมือนกัน จุดบกพร่องต่าง ๆ บางคนอาจออกจากบ้านได้อย่างมั่นใจไม่อายใคร แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะไม่อาย!
ไม่ว่าใครก็ควรที่จะได้เฉิดฉายตามแบบของตนเอง ทุกคนอยากออกไปพบปะผู้คนด้วยสภาพที่ดูดี เดินออกจากบ้านอย่างมั่นใจ อย่างสง่าผ่าเผย กล้าสบตาและยิ้มทักทายผู้คน ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาไม่สบตาใครเพราะไม่อยากให้ใครเห็นใต้ตาที่เป็นหมีแพนด้า ในเมื่อร่างกายของคนธรรมดาทั่วไปไม่อาจเพอร์เฟกได้แบบดารานักแสดง ในเมื่อพวกเขามีจุดบกพร่อง หากมันทำให้พวกเขาไม่มั่นใจ พวกเขาควรมีสิทธิ์ปิดบังมัน เพื่อความพอใจของพวกเขาเอง