
พูดไปก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อไหมว่าสิ่งที่อยู่ในใจคอซีรีส์เกาหลีน่ะ จริง ๆ แล้วเขาก็อยากเห็นละครไทยซีรีส์ไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครอยากจะด้อยค่าความสามารถของนักแสดงไทย ซึ่งก็มีอยู่สูงมาก ๆ มากมายหลายคน แต่บทมันไม่ไหวจริง ๆ ไปต่อไม่ได้ บางเรื่องส่งกลิ่นบูดตั้งแต่อ่านเรื่องย่อ คนก็ไม่ดู แต่ถ้าหากมีซีรีส์หรือละครเรื่องไหนที่ดูทรงแล้วน่าสนับสนุน พวกติ่งซีรีส์เกาหลีก็ไม่ได้อคติเหมารวมไปหมดทุกเรื่องหรอก
อย่างเราเองนาน ๆ ทีจะบินกลับจากเกาหลีมาดูซีรีส์ไทย ก็ต้องมั่นใจในระดับหนึ่งว่าซีรีส์ไทยเรื่องนั้นต้องไม่ทำให้รู้สึกว่า “เสียเวลาชีวิต” อย่างซีรีส์ในสัปดาห์นี้ก็กล้ารับประกันเลยว่าจะไม่เสียใจและเสียดายเวลาที่เปิดดู เพราะคอลัมน์ชะนีติดซีรีส์ก็เคยเขียนถึงซีรีส์เรื่อง พฤติการณ์ที่ตาย มาแล้ว ซีรีส์วันนี้ก็เป็นนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนคนเดียวกัน ที่สำคัญ ส่วนตัวเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักเขียนท่านนี้มาแล้วด้วย เลยมั่นใจว่าซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ทำให้ผิดหวัง
Triage คือ ซีรีส์วาย ที่มีเนื้อหาทางเกี่ยวข้องกับการแพทย์ ฉากหลัก ๆ ของเรื่องเกิดขึ้นในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เนื่องจากตัวละครหลักเป็นแพทย์ประจำบ้าน กำลังศึกษาต่อเฉพาะทางเป็นปีสุดท้ายในแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางที่ใช้เวลาเรียน 3 ปี ชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างปกติดี กระทั่งถึงคืนวันที่ 18 กรกฎาคม หลังจากมีร่างผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับถูกส่งเข้ามา ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป
ร่างผู้ป่วยฉุกเฉินคนนั้นเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาพยายามช่วยเด็กคนนั้นอย่างเต็มที่แล้ว ยื้อยุดลมหายใจกันอยู่นานครึ่งชั่วโมง (น่าจะตามระบบการทำงานของหมอ) ก็ไม่สามารถช่วยไว้ได้ หลังจากที่ขานเวลาเสียชีวิตของเด็กคนนั้นที่เวลา 22.55 น. เขาก็พบว่ามีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา เพราะเขาต้องย้อนเวลากลับมายังช่วงเวลาก่อนที่นักศึกษาคนนั้นจะเสียชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนลูปไม่จบสิ้น
ขณะที่เขากำลังสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เทพผู้ส่งสารของพระเจ้าก็ได้ปรากฏตัวขึ้น ชี้แจงสถานการณ์ให้เขาเข้าใจคร่าว ๆ พร้อมกับเงื่อนไขว่าเขาจะต้องช่วยเด็กที่ถูกส่งตัวมาในคืนนั้นให้รอดตายให้ได้ เขาถึงจะหลุดพ้นจากการวนลูปนี้ และเพื่อที่เขาจะได้คำตอบว่าทำไมเขาถึงต้องมาเจอกับเรื่องบ้า ๆ แบบนี้

สำหรับซีรีส์เรื่อง Triage นี้ เป็นออริจินัลซีรีส์ของแอปฯ AIS PLAY (เครือข่ายอื่นก็ดูได้ฟรี) โดยออกอากาศอีกครั้งทางช่อง 3HD กด 33 ทุกคืนวันจันทร์ ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกันของ Sammon (พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร) ผู้เขียนเรื่อง Manner of Death หรือพฤติการณ์ที่ตาย Triage เป็นซีรีส์แฟนตาซีผสมการแพทย์ที่ไม่ต้องกังวลว่าซีรีส์จะนำเสนอเรื่องทางการแพทย์แบบผิด ๆ ถูก ๆ เพราะนักเขียนเรื่องนี้ก็เป็นหมอจริง ๆ นักแสดงบางคนก็เป็นหมอและพยาบาลวิชาชีพจริง ๆ ใช้อุปกรณ์จริง ส่วนห้องฉุกเฉินเซตขึ้นมาเสมือนจริงเกือบจะ 100%
สงครามกลางเมืองที่ต้องต่อสู้กับความเจ็บไข้ ความตาย และพวกงี่เง่า
เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ไทยเคยมีซีรีส์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการทำงานของแพทย์ฉุกเฉินเรื่องหนึ่งที่โด่งดังมาก ๆ ในเวลานั้น หลังจากออนแอร์แล้วก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เท่าที่จำได้เหมือนจะเคยมีดราม่าอะไรสักอย่างที่มันไม่ตรงกับการทำงานของแพทย์ฉุกเฉินจริง ๆ มั้ง ทั้งที่ตอนโปรโมตซีรีส์โปรยไว้ดิบดีว่ามีทีมแพทย์ฉุกเฉินจริง ๆ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการเขียนบท จากที่ตอนแรกซีรีส์กำลังดังเป็นพลุแตกก็โดนเบรก กระแสจึงแผ่วลงเล็กน้อยในตอนท้าย ๆ ของเรื่อง กลายเป็นบทเรียนว่าต้องทำการบ้านมากกว่านี้อีกสักหน่อย

มาในปีนี้ Triage คือการกลับมาอีกครั้งของซีรีส์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแพทย์ฉุกเฉิน หรือเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นหนึ่งในแพทย์เฉพาะทาง ที่เน้นการวินิจฉัยและรักษาความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่เกิดฉับพลัน ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน “ฉุกเฉิน” พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นเคสที่มีความตายลอยวนเวียนอยู่ตรงหน้าหมอและคนป่วย หมอกลุ่มนี้เหมือนนักรบที่ต้องต่อสู้กับสงคราม สงครามที่ว่าคือความเจ็บไข้ ความตาย และก็พวกงี่เง่า นี่คือนิยามของหมอฉุกเฉินในสายตาของตัวละครหลักของเรื่อง
พอพูดถึงพวกงี่เง่า ก็พาลนึกถึงปัญหาใหญ่ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉิน นั่นคือการที่ผู้เข้ามารับบริการไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “ฉุกเฉิน” คืออะไร อันที่จริงก็พอจะเข้าใจอยู่นะว่าคนที่กำลังร้องโอดโอยเจ็บปวดอยู่ ก็มักจะเข้าใจว่าตัวเองนี่แหละที่ฉุกเฉิน หรือการที่ญาติ ๆ คนไข้ต้องยืนมองคนที่ตัวเองรักดิ้นทุรนทุรายด้วยความทรมาน มันก็ฉุกเฉินสำหรับพวกเขาเหมือนกัน แต่หลักการของห้องฉุกเฉินคือทำงานตามความฉุกเฉินตามชื่อห้อง ต้องมานั่งแยกกันอีกทีว่าอันไหนฉุกเฉินจริง อันไหนที่คิดเองว่าฉุกเฉิน และฉุกเฉินก็มีระดับของมัน
ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินที่ต้องคัดแยกระดับความฉุกเฉิน รวมถึงสื่อสารกับญาติผู้ป่วย ว่าในทางการแพทย์ ลักษณะอาการแบบไหนที่ต้องรักษาทันทีและอาการไหนที่ยังพอจะรอได้ เนื่องจากระบบการทำงานของห้องฉุกเฉิน คือการทำงานตามสภาวะที่วิกฤติต่อชีวิต เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าใครควรได้รับการรักษาก่อน-หลัง ถ้าผู้ป่วยเข้ามารักษาพร้อมกัน จะต้องรักษาคนที่เข้าขั้นวิกฤติ (เสี่ยงที่จะเสียชีวิต) ก่อน โดยพยาบาลจะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ ด้วยการซักประวัติ ดูสัญญาณชีพ ค่าความดัน หรือค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด

ซึ่งชื่อเรื่องซีรีส์ Triage (อ่านว่า ทริอาช) ก็มาจากระบบที่ใช้คัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินนี่แหละ เท่าที่ลองค้นหาข้อมูลดู พบว่า Triage มาจากคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า Trier และตรงกับภาษาอังกฤษว่า Sort ความหมายเดียวกันคือ “เรียงลำดับ” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยจึงแปลว่าการคัดแยก แยกจัดเป็นหมวด โดย Triage มีบันทึกว่าเริ่มใช้ในการจัดกลุ่มผู้บาดเจ็บในสงคราม ตั้งแต่สมัยพระเจ้านโปเลียน โดยศัลยแพทย์ที่ชื่อ Baron Dominique Jean Larrey จนต่อมาได้ Triage ได้ถูกนำมาใช้กับการบาดเจ็บอื่น ๆ รวมถึงการเจ็บป่วยด้วย
หรือถ้าใครยังจำซีรีส์เรื่อง Descendants of the Sun หรือที่มีชื่อภาษาไทยสุดฮึกเหิมโรแมนติก “ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ” ที่โด่งดังมาก ๆ เมื่อหลายปีก่อน (ออนแอร์เมื่อปี 2559 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน) ซีรีส์ที่ก่อกำเนิดคู่รักซง-ซง จนทุกวันนี้เขาแต่งงานกันจนเลิกราหย่าขาดกันไปแล้ว ก็น่าจะเคยเห็นการใช้ระบบ Triage ในการคัดแยกผู้ป่วยมาบ้าง ตอนช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวจนโรงงานไฟฟ้าถล่ม ในพื้นที่ภัยพิบัติ หมอต้องคัดแยกผู้ป่วยด้วยสายรัดข้อมือแถบสีต่าง ๆ เท่าที่ซับไทยแปลมา สีเขียว บาดเจ็บแต่ยังเดินได้ สีเหลือง ดูอาการ สีแดง คนไข้ที่ต้องรักษาทันที และสีดำ คนไข้วิกฤติที่ทำการรักษาในที่เกิดเหตุไม่ได้ โอกาสรอดน้อยมาก ๆ จึงใช้สีเดียวกันกับผู้เสียชีวิต
สะดุดที่สีดำใช่ไหม คนไข้วิกฤติที่ “โอกาสรอดน้อยมาก ๆ” แปลว่าก็ยังพอมีโอกาสรอดอยู่บ้างแหละ แต่…ในสถานการณ์แบบนั้น หมอจะเลือกช่วยคนที่มีโอกาสรอดสูงกว่าคนติดแถบดำ เพราะถ้ามัวแต่จะยื้อชีวิตคนที่ตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ความสูญเสียอาจมีเพิ่ม ผู้ป่วยสีแดงที่วิกฤติแต่ยังมีโอกาสรอดก็อาจตายด้วย หมอจะให้ความสำคัญกับคนไข้ที่สามารถรอดชีวิตได้ “หมอรักษาคนเป็น ไม่ฟื้นชีวิตคนตาย” เห็นได้จากฉากหนึ่งที่หมอรุ่นน้องนางเอก ซึ่งรับบทโดย อนยู ลีดเดอร์วง SHINee ที่ไม่ปล่อยคนไข้แถบดำไว้และไม่ยอมขานเวลาเสียชีวิต ก็โดนตบหน้าเรียกสติมาแล้ว

ส่วนการคัดกรองในโรงพยายาลทั่วไป จะแยกสีของผู้ป่วยออกเป็น 5 สี 5 ระดับ ดังนี้
- ระดับที่ 1 ฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามชีวิต จะต้องได้รับการรักษาทันที เช่น ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ระบบหายใจ ระบบลำเลียงเลือด ระบบประสาทไม่ทำงาน ชัก เลือดออกมาก ใช้สัญลักษณ์สีแดง
- ระดับที่ 2 ฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยภาวะเฉียบพลันรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก่อนที่อาการจะรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนขึ้น ที่อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้ เช่น หายใจเหนื่อยหอบ อ่อนแรง มีอาการอัมพาต จะตรวจรักษาภายใน 10-30 นาที ใช้สัญลักษณ์สีเหลือง
- ระดับที่ 3 ฉุกเฉินไม่รุนแรง คือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ไม่นานเกินไป เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกหักไม่มีเลือดออก ปวดท้อง ผื่นแพ้ขึ้นเฉียบพลัน ไข้สูงมาก จะตรวจรักษาภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ใช้สัญลักษณ์สีเขียว
- ระดับที่ 4 เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยทั่วไป คือ บุคคลที่เจ็บป่วยแต่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุที่บาดเจ็บเล็กน้อย สิ่งแปลกปลอมเข้าตา จมูก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เสียเลือดเล็กน้อย ตรวจรักษาภายใน 1-2 ชั่วโมง ใช้สัญลักษณ์สีขาว
- ระดับที่ 5 ผู้รับบริการสาธารณสุขอื่น เช่น เป็นหวัด ความดันโลหิดสูง ไอ เจ็บคอ แพทย์นัดฉีดยา ทำแผล จะตรวจรักษาภายใน 2 ชั่วโมง ใช้สัญลักษณ์สีดำ
เก็บมาคิดทุกเคส เราจะเป็นบ้า สุขภาพจิตเราจะแย่
น่าจะเคยบ่นลงในคอลัมน์ซีรีส์เรื่องอื่นไปแล้ว ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเราเองก็เคยใฝ่ฝันอยากเป็นหมอเหมือนกับใครเขาบ้างเหมือนกัน กล้าที่จะยอมรับเลยว่ามันเป็นความคิดของเด็กที่ใหลตามกรอบและค่านิยมของสังคมไทย ที่หล่อหลอมและยกเอาอาชีพแพทย์ขึ้นเป็นอาชีพที่ยอดพีระมิด ซึ่งสำหรับสังคมไทย มีแค่ไม่กี่อาชีพหรอกที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นอาชีพที่ดี มีเกียรติ สังคมนับหน้าถือตา ที่สำคัญคือนำไปขิงกับบรรดาป้าข้างบ้านได้โดยที่คนเป็นพ่อเป็นแม่หน้าบานยิ่งกว่าดอกทานตะวัน บ้านที่ลูกเรียนหมอ ลูกจะกลายเป็นความภาคภูมิใจของบ้านไปเลย

แต่การเรียนหมอและจบออกมาเป็นหมอได้จริง ๆ จัง ๆ นั้น คิดเหรอว่ามันง่ายขนาดที่เพียงแค่ได้อวดคนอื่นไปทั่วว่าฉันเก่งนะ ฉันได้เป็นหมอ เพราะการเป็นหมอไม่ได้ยากและเครียดแค่สมัยเรียน แต่การทำงานจริง ๆ นี่คือท้าทายมากกว่า เพราะมีชีวิตคนเป็นสิ่งที่เดิมพันในการทำมาหากิน การเห็นคนตายไปต่อหน้าต่อตา อยากช่วยแต่ช่วยไว้ไม่ได้ การต้องปล่อยชีวิตหนึ่งให้หลุดลอยไป หรือแม้แต่ความรู้สึกที่ทำคนไข้ตายคามือ มันมีอะไรที่ต้องแบกรับมากกว่านั้น
ในซีรีส์ จะมีฉากที่พยาบาลพยายามปลอบใจหมอที่กำลังคุยกันถึงกรณีที่ช่วยชีวิตคนไข้ไว้ไม่ได้จนคนไข้ตายคามือ ว่าพวกหมอต้องปล่อยความรู้สึกหนักใจนั้นทิ้งไปให้ได้ ถ้าเก็บมาคิดมากทุกเคส จะทำให้เป็นบ้า และสุขภาพจิตจะแย่ตามไปด้วย เมื่อหมอต้องรับมือกับความรู้สึกแย่ ๆ จนตัวเองต้องดิ่งอยู่บ่อยครั้ง ดีไม่ดีหมอก็อาจจะกลายเป็นคนไข้เสียเองในสักวันหนึ่งก็ได้ เมื่อนั้นหมอคนหนึ่งก็อาจทำเรื่องไม่คาดคิด และเราต้องสูญเสียหมอดี ๆ มีฝีมือไป
ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อนะว่าหมอส่วนใหญ่ก็เก็บเอาทุกเคสที่เกิดขึ้นมาคิดแหละ โดยเฉพาะเคสที่สะเทือนใจมาก ๆ นี่ว่าว่าการต้องแบกรับเรื่องพวกนี้ไว้แล้วเดินหน้าต่อให้ได้ต่างหาก คือเรื่องที่น่ายกย่องชื่นชมหมอมากกว่าแค่ว่าเรียนเก่งเลยเรียนหมอ หรือแค่มันเป็นอาชีพที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ ต้องเก็บซ่อนความรู้สึกสะเทือนใจไว้ให้มิดในการเริ่มต้นทำงานในเช้าวันใหม่ สุขภาพจิตของคนที่เป็นหมอจะน่าเป็นห่วงขนาดไหนนะ ถ้าพวกเขาไม่มูฟออนจากเรื่องการช่วยชีวิตคนอื่น
“นี่ประเทศไทย คนเฮีย ๆ เขาก็ได้ดีกันหมดแหละ”
บอกก่อนเลยว่านี่เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ถูกตัดออกมาจากบทสนทนาของตัวละครในเรื่อง สำหรับเรามันเป็นประโยคที่ว้าวและอย่างชอบที่สุดแล้วนับตั้งแต่ออนแอร์มา 5 ตอน ในฐานะของประชาชนคนหนึ่งและผู้เสพสื่อ ก็คิดไม่ถึงจริง ๆ ว่าตัวซีรีส์เรื่องนี้จะใส่ข้อความที่สามารถสื่อสารให้เห็นความจริงของสังคมไทย ว่า “นี่ประเทศไทย คนเฮีย ๆ เขาก็ได้ดีกันหมดแหละ” ที่สำคัญคือหลุดออกมาจากปากตัวละครที่เป็นหมอ และของจริงก็ไม่เซ็นเซอร์คำด่า “เฮีย ๆ” เป็นตัว ฮ นกฮูก ด้วยแหละแม่!

ส่วนตัวไม่ได้ประหลาดใจกับการใช้คำหยาบในละครหรือซีรีส์นะ แล้วก็ไม่ได้ตื่นเต้นที่จะมีข้อความลักษณะนี้ในละครโทรทัศน์ด้วย Triage ไม่ใช่เรื่องแรกที่ทำ แถมยังมีอีกตั้งหลายต่อหลายเรื่องที่สื่อสารเอาความเรียลของสถานการณ์ในสังคมลงไปในบทประพันธ์หรือบทโทรทัศน์แบบที่ตรงและแรงกว่านี้ แต่การที่ได้ยินข้อความนี้จากซีรีส์วาย ที่ตัวละครหลัก ๆ ประกอบอาชีพเป็นแพทย์แล้ว มันรู้สึกได้ถึงพลังบางอย่างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของคนที่ “เป็นหมอ” และ “LGBT”
หมอก็เป็นคน เป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคม พวกเขาก็คงมีความคิด ความรู้สึก ความเชื่อส่วนตัวต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่เหมือนกับคนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ นั่นแหละ หมอหลาย ๆ คนออกตัวแรงชัดเจนว่าตัวเองฝักใฝ่ฝ่ายไหนและเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นอริศัตรูด้วยซ้ำ หมอรุ่นใหม่ ๆ ก็เป็นทั้งหมอและคนรุ่นใหม่ที่ตื่นจากการถูกหล่อหลอมหรือกลมเกลาบางอย่าง พวกเขาอาจเห็นตื้นลึกหนาบางบางอย่างที่คนธรรมดามองไม่เห็น การกล้าที่จะใส่ข้อความที่แสดงความคิดเห็นถึง “คนเฮีย ๆ ที่ได้ดีในสังคมไทย” จะไม่รู้สึกว้าวได้ไงก่อน
ด้วยความที่สมัยเรียนเคยได้คลุกคลีอยู่กับเพื่อน ๆ ที่เรียนหมออยู่บ้าง ก็พอจะได้รู้ว่าวงการแพทย์นั้นถือเป็นวงการที่โซตัสแรงเหมือนกัน (แบบรวม ๆ ไม่ใช่แค่การว้ากรับน้องระดับมหาวิทยาลัย) โดยเฉพาะเรื่องของความอาวุโส ระเบียบ และประเพณี ที่จะค่อนไปทางอนุรักษนิยม เช่น การเอื้อประโยชน์กันเองในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง การต้องทำตามกฎที่ไม่สมเหตุสมผลหลายประการ ที่ออกจะโบราณไปนิด รุ่นพี่ถูกเสมอ รวมถึงประเด็นลำดับชั้นทางสังคมและการอิงตัวบุคคล ที่ห้ามสงสัยและอย่าตั้งคำถามในตัวบุคคล ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะกลายเป็นพวกนอกคอก แกะดำ กบฏ
ทำให้แพทย์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ก็เยอะ หลายคนพยายามจะเปลี่ยนแปลงด้วย เราจึงเห็นถึงความพยายามที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงแม้จะในบทประพันธ์ที่เขียนถึงวงการแพทย์ก็ตาม ซึ่งจริง ๆ เรื่องแบบนี้มันไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเร็ววันหรอก ต้องอาศัยเวลาและพลังของคนรุ่นใหม่ ๆ มาช่วยเปลี่ยนให้ “พวกคนเฮีย ๆ” ต้องรับโทษที่ตัวเองก่อหากทำผิด ไม่ใช่ยิ่งผิดร้ายแรงแค่ไหนก็ยิ่งได้ดิบได้ดี ต้องหยุดวงจร “คนทำชั่วได้ดีมีถมไป” ให้ลดลง

“Triage เนี่ยภูมิใจเพราะว่าเป็นเรื่องที่ผ่อนลงมาจากแนวถนัดหน่อย คือยังเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอยู่นี่แหละ มีคนตายเหมือนกัน แต่จะมีคอมเมดี้เข้าไปเยอะกว่าเรื่องอื่น ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ตีพิมพ์ซ้ำเยอะที่สุด แล้วก็ขายดีที่สุด ถ้าไม่นับ Manner of Death ที่มาขายดีอีกทีตอนซีรีส์ออน ถ้าตัดสินกันแค่นิยายอย่างเดียวโดยไม่นับซีรีส์เลย Triage เป็นเรื่องที่ขายดีที่สุดของแซม นักอ่านจะชอบเรื่องนี้มาก เพราะว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย แล้วก็มีความน่าสนใจของเนื้อเรื่อง ภูมิใจที่สามารถทำเรื่องแนวนี้ออกมาได้ เป็นแนววนลูปค่ะ แล้วก็ใส่เรื่องของ Butterfly Effect เข้าไป เป็นแฟนตาซีผสมกับการแพทย์”
ย่อหน้าข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของหมอแซม ผู้เขียนนิยายเรื่อง Triage ที่เคยสปอยล์ไว้นิดหน่อยถึงความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ ถ้าไม่นับเรื่องที่เราเคยคุยกับหมอแซมว่าจะเป็นกำลังใจและติดตามผลงานของเธอแล้วล่ะก็ ซีรีส์เรื่อง Triage ก็ยังน่าสนใจมากอยู่ดี คือแค่ชื่อเรื่องก็สะดุดแล้วนะ ไหนจะความลงตัวระหว่างส่วนผสมอย่างซีรีส์วาย ซีรีส์ทางการแพทย์ และซีรีส์แฟนตาซีอีก หรือว่าไม่จริง? 🦋