สัปดาห์ที่แล้ว บทสัมภาษณ์ “คนต้นคิด” ได้พาผู้อ่านไปรู้จักกับ “หมอแซม” หรือ พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร เจ้าของนามปากกา Sammon และเจ้าของผลงานนิยาย Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย ซึ่งถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ออนแอร์ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ครั้งก่อนเราล้วงลึกชีวิตของเธอในบทบาทหมอ! ที่จู่ ๆ ก็เป็นทั้งหมอและนักเขียนในเวลาเดียวกัน แต่ตอนจบในสัปดาห์นี้ เราจะมาพูดคุยกับเธอกันต่อในบทบาทนักเขียนล้วน ๆ
และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความพยายามของเธอเองที่พาตัวเองมาได้ไกลขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างที่เห็นได้ชัดว่า แม้ความพยายามจะต้องใช้เวลานาน แต่ความพยายามไม่เคยทรยศใคร มีแค่เรานี่แหละที่ทรยศความพยายามของตัวเอง!
เหตุการณ์ที่เฟลสุด ๆ
“ก็นักเขียนอาจจะเป็นเหมือนกันทุกคนนะ อย่างเช่นเวลาเราเจอคอมเมนต์แย่ ๆ คอมเมนต์แบบบั่นทอน รู้สึกแบบ โอ๊ย! เรามันแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ แรก ๆ ก็ค่อนข้างทำใจได้ยาก เพราะเราก็ไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อะไรขนาดนั้น แต่พอนาน ๆ ไปเราก็แบบ เราก็ห้ามความคิดคนไม่ได้เนอะ ลางเนื้อชอบลางยา คนจะไม่ชอบงานเรา ไม่ได้ชอบงานเราทุกคน หลัง ๆ มาก็ปรับตัวได้ก็เริ่มที่จะโอเค ไม่เฟลแล้ว ถ้าคอมเมนต์ไหนที่เราดูแล้วโอเค เป็นคอมเมนต์เพื่อพัฒนา เราก็เก็บมาพัฒนาได้ แต่ถ้าเป็นคอมเมนต์ในเชิงไม่สร้างสรรค์ เราก็ทิ้งมันไป”
“หรือว่าที่เฟลก็มีเหมือนกันนะคะ ที่งานถูกปฏิเสธ ส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาแล้วเขาปฏิเสธงานเรา ก็เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาเหมือนกัน แต่ก็ไม่เป็นไร ผ่านมาได้ ก็ทำต่อไป ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง”
เขาว่ากันว่าถ้าหาเงินจากงานอดิเรก สักวันหนึ่งคงได้เกลียดมันไปเลย
เธอเองก็คิดเหมือนกับ “เขา (ที่ว่ามา)” เธอมีความรู้สึกนี้บ่อยด้วย เธอเล่าว่าสำนักพิมพ์เคยขอเรื่องสั้น 1 เล่มจากเธอ เพื่อเอาไปทำโปรโมชั่น ถึงเธอจะตอบตกลง “มันไม่ใช่การเขียนที่เกิดจากแผนของเราตั้งแต่แรก แล้วเราก็ไม่ได้อยากเขียนมันตั้งแต่ต้น พอมันเป็นใบสั่งมาว่าให้ทำ โอ้โห! แล้วเป็นเรื่องสั้นอะ แซมเขียนมันออกมาแบบทุกข์ทรมานมาก คือมันไม่แล่น มันเครียด พอเดดไลน์เข้ามาก็เครียดมาก แล้วงานนั้นก็ออกมาไม่ค่อยดี มันก็แบบก็รู้สึกเหมือนกัน แต่ก็จะพยายามบาลานซ์ความรู้สึกให้ได้ว่าโอเคนี่คือสิ่งที่เราชอบนะ เราเขียนต้องมีความสุขด้วยนะ”
ถึงจะผ่านประสบการณ์นั้นมา แต่เธอก็ยอมรับตอนนี้ก็ไม่อาจพูดได้ว่าราบรื่น เขียนทุกเรื่องด้วยความสุขอะไรแบบนั้น แต่เธอพยายามบาลานซ์ความรู้สึกตัวเอง วันไหนที่รู้สึกเครียดเขียนไม่ออก ก็ให้อภัยตัวเอง ให้เวลาตัวเองสักพักหนึ่ง แล้วก็ตั้งสติใหม่
“แซมจะใช้วิธีนี้ค่ะถ้าเขียนไม่ออก เหมือนตัวเอง input ไม่พออะ เราตันเพราะว่าเราไม่ได้เสพสื่อหรือว่าเราไม่ได้ออกไปเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ยิ่งช่วงนี้โควิดด้วยใช่ไหมคะ ไม่ได้ไปไหนเลย ก็จะเปิด Netflix ดูสารคดี ดูอะไรที่มันแปลกใหม่ ที่มันเปิดโลก อะไรที่มันเจ๋ง ๆ ไซไฟ (Sci-Fi) วิทยาศาสตร์อะไรงี้ เวลาที่เราได้ดูอะไรที่รู้สึกได้เปิดโลกแบบเราเพิ่งรู้สิ่งนี้ ไอเดียมันจะกลับมา”
“หรือว่าช่วงที่ไม่ใช่โควิดใช่ไหมคะ แซมก็จะออกไปหาร้านกาแฟใหม่ ๆ ไปดูสถานที่ใหม่ ๆ ขับรถไปที่ที่ไม่เคยไป แล้วก็ซึมซับพลังงานภายนอกเข้ามาเขียนต่อ แต่ละคนก็มีวิธีไม่เหมือนกัน ต้องลองดูว่าอันไหนที่เป็นวิธีของเรา แซมชอบออกไปวิ่ง วิ่งในมช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อะค่ะ มันสวย แค่ได้วิ่ง ได้ดูดอย ดูน้ำ มันก็โล่งละ ความเครียดหายไป โชคดีที่เชียงใหม่มันมีสถานที่ธรรมชาติให้ได้ออกไปผ่อนคลาย หาไอเดียใหม่ ๆ บ้าง”
นิยายวาย มันเฉพาะกลุ่มนะ แต่ทำไมต้องเป็นวาย?
เธอบอกว่ามันเป็น ความชอบโดยส่วนตัว “ก็คือชอบวายมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ เพราะว่าสมัยก่อนที่ดูการ์ตูนเยอะ ๆ อ่านการ์ตูนเยอะ ๆ ก็จะชิปตัวละครชาย-ชายอยู่แล้ว แล้วตอนนั้นแก๊งเพื่อนที่เป็นสาวกญี่ปุ่นด้วยกัน เขาก็เฮโรไปกับเราด้วย เรื่องของคู่ชิปผู้ชาย-ผู้ชาย มันก็สนุกสนานแล้วก็มีความชอบวายมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ถามว่าเข้าใจในเรื่องของ LGBT ไหม จริง ๆ คือไม่เลย มันเป็นความวายแบบแฟนตาซีอะค่ะ ก็คือรู้จักวายมาตั้งแต่สมัยนั้น เป็นแฟนตาซีของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบที่จะเห็นผู้ชายหล่อ ๆ อยู่ด้วยกัน เป็นอย่างนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งคิดจะสร้างงานขึ้นมาเอง”
“ตอนนั้นเพื่องส่ง link นิยายวายเรื่องหนึ่งมาให้แซมอ่าน ตอนเรียนปี 5 นะคะ เป็นนิยายคนไทยเขียนนี่แหละ ซึ่งเขียนน่ารักมาก สนุกมาก แนวแบบหมอ-วิศวะ เราก็แบบน่ารักจัง อยากจะเขียนวายบ้าง ก็เลยตัดสินใจเขียนเป็นของตัวเอง จริง ๆ ตอนนั้นเขียนเอาไว้แล้ว เขียนไว้ประมาณเกือบครึ่งเรื่อง แต่แซมยังไม่เคยโพสต์ลงให้ใครอ่านเลย นิยายวายเรื่องนั้นเลยค่ะ ที่ทำให้แซมรู้สึกว่าอยากจะโพสต์สิ่งที่เคยเขียนเอาไว้ออกไปให้ทุกคนได้อ่าน”
“สรุปคือวายอะมันเป็นความชอบมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับนะว่าแบบไม่ได้เข้าใจเลยเรื่อง LGBT ก็ได้มาเรียนรู้ตอนหลังเนี่ยแหละ ว่าวายกับ LGBT จริง ๆ มันคู่ขนานกัน จะว่าเป็นสิ่งเดียวกันก็ไม่เชิง คือวายเนี่ยหยิบยืมความเป็น LGBT ไป แล้วก็จะมีลักษณะของวายของเขาเอง ขณะเดียวกัน LGBT ในสังคมก็เป็นคนที่มีจริงในสังคม”
การที่ตัวละครเราเป็น LGBT เคยมองว่างานตัวเองช่วยขับเคลื่อนสังคมไหม
“แซมคิดว่าสมัยนี้ ความวายมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นวัตถุประสงค์หลัก ก็ต้องยอมรับ ณ จุดนี้ว่าความวายในยุคสมัยนี้มันเป็นอะไรที่มีมูลค่า ตอนนี้อะไรใด ๆ ก็ตาม เราเอาความวายมาใส่เนี่ย มันจะมีฐานแฟน และสามารถที่จะต่อยอดได้ง่าย มันกลายเป็นอะไรที่มีมูลค่าขึ้นมา ซึ่งมันไม่ได้เป็นภาพแทน LGBT ในสังคมจริง ๆ หรอกค่ะ มันเป็นอะไรที่ถูกนิยามขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง แซมว่านะ”
“ถามว่ามันมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนสังคมไหม อาจจะไม่ขนาดนั้น แต่ถามว่าสามารถที่จะแทรกอะไรเข้าไปในนั้นได้ไหม แซมว่าแทรกได้ ประเด็นไหนที่เราจะใช้ความวาย ความแมสของวายในปัจจุบันเนี่ยแล้วเราสอดแทรกประเด็นที่มันสามารถที่จะทำให้คนในสังคมมองแล้วช่วยขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ LGBT เขาสมควรได้รับจริง ๆ เนี่ย มันแทรกเข้าไปได้นะคะ”
“เราหากินกับความวายก็จริง แต่แซมก็พยายามที่จะให้คนอ่านเขาได้อ่านอะไรที่มันมีประเด็นนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วย เช่น การสมรสเท่าเทียม จริง ๆ เขาก็สมควรที่จะได้รับนะ ทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีสมรสเท่าเทียม ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราผลิตสื่อวายแทบจะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ยังไม่มีสมรสเท่าเทียม อะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็แทรกเข้าไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ในกรอบของความบันเทิงอยู่ดี”
ความรู้สึกหลังจากที่งานสมบูรณ์ งานเป็นที่รู้จัก ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม และคนรู้จักเราในฐานะนักเขียน
“ดีใจมากเลยค่ะ ก็ไม่คาดคิดคาดฝันว่าจะสร้างชื่อตัวเองขึ้นมาในฐานะนักเขียน ด้วยความที่จบหมอมาก็เข้าใจว่าทุกคนก็จะรู้จักเราในฐานะหมอ แต่พอได้เป็นนักเขียนด้วยเนี่ย มันก็เป็นอะไรที่แบบภูมิใจในตัวเองว่าเราก็สามารถที่จะสร้างชื่อของเราในอีกอาชีพหนึ่งได้เหมือนกัน ก็มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าแซมมอนเป็นหมอ แต่รู้ว่าเป็นนักเขียนที่เขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวนทางการแพทย์ก็มี พอได้ยินแบบนั้นแซมก็ยิ่งดีใจใหญ่เลยว่าโอเค เราได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนด้วย นักเขียนจริง ๆ มันก็ภูมิใจ ภูมิใจมากเลย รู้สึกประสบความสำเร็จ”
ความภูมิใจ ความสุขใน Manner of Death จากตัวหนังสือที่เรากลั่นจากหัว กลายมาเป็นซีรีส์ แล้วสุดท้ายมันโด่งดังไปถึงต่างประเทศ
“มาก ๆ เลยค่ะ ก็มันมาจากชื่อนิยายของเรา ตัวละครของเราใช่ไหมคะ พอมันได้ออกมาเป็นภาพแบบนี้ แล้วออกมาสู่สายตาสาธารณชน ที่กระแสชื่นชมก็ดีเลยทีเดียว ก็ยังสามารถที่จะออกไปสู่ต่างประเทศ แฟนต่างประเทศก็เยอะมาก มันก็ภูมิใจนะคะ ภูมิใจที่ตัวตั้งต้นของเรื่องนี้มันมาจากนิยายของเรา”
แต่เธอก็ไม่ลืมที่จะยกเครดิตให้กับอีกทีมงานที่มีส่วนทำให้นิยายของเธอมาได้ไกลขนาดนี้ “จริง ๆ แล้วเครดิตต้องยกให้ทีมผู้จัดเลยค่ะ TV THUNDER (ทีวี ธันเดอร์) กับ WeTV ที่เขาทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา คือ ณ ตอนนั้น วายมันยังไม่ได้มีแนวเรื่องที่หลากหลายมาก เขามีความกล้ามากเลยค่ะที่หยิบเรื่องของแซมไปทำ ตอนนั้นแซมก็รู้สึกว่า เอ๊ย! ทำไมถึงหยิบเรื่องเราไปทำ แบบคิดอะไรอยู่ มันจะขายได้เหรอ ความรู้สึกต่าง ๆ นานา พอมันออกมาแบบนี้ แล้วกระแสชื่นชมค่อนข้างเยอะ ก็ทำให้รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ให้เครดิตทีมผู้จัดเลยค่ะ TV THUNDER คนเขียนบท ผู้กำกับ คือทุกคนแบบตั้งใจทำงานมาก เหนื่อยกันมาก ๆ เลยค่ะ สุดท้ายก็ออกมาอย่างที่เห็นกัน”
เรียงผลงานที่ภูมิใจที่สุด 3 ลำดับ พร้อมเหตุผล
“ภูมิใจที่สุดใช่ไหมคะ อันดับแรกสุด น่าจะเป็นเรื่อง Grab a Bite ส่งร้อน เสิร์ฟรัก มันอาจจะฟังดูแบบแปลกจากเรื่องอื่น อันนี้แหละค่ะสิ่งที่ภูมิใจ มันเป็นเรื่องที่แซมเขียนออกมาด้วยความไม่ถนัดเลย แซมไม่ได้ถนัดเขียนแนวโรแมนติกคอมเมดี้ แซมจะมีปัญหาเรื่องการเขียนเรื่องความรักและความสัมพันธ์ของตัวละคร เป็นคนที่เขียนออกมาแล้วไม่ได้บรรยายความรู้สึกอะไรเยอะมาก จะเป็นแอคชั่น เป็นภาพค่อนข้างเยอะ ทีนี้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์และมีความรักมาเกี่ยวข้องด้วย”
“แล้วก็เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ก็ต้องมีความตลกเข้ามาด้วย มันจะฉีกแนวเดิมของแซมไปโดยสิ้นเชิง แล้วก็เป็นเรื่องแรกที่ไม่ได้เขียนแนวหมอด้วย พระเอกเป็นเชฟ แล้วก็นายเอกก็เป็นเด็กส่งอาหารที่ต้องการเป็นเชฟ มันภูมิใจเพราะว่าเป็นเรื่องแรกที่แซมเขียนแนวโรแมนติกคอมเมดี้ได้จบเล่มยาว แล้วก็เป็นเรื่องแรกที่ไม่ได้เขียนเรื่องแนวหมอเลย มันออกจาก Comfort Zone ของตัวเองโดยสิ้นเชิง”
“พอมันออกมาเป็นเล่มได้นี่ยังภูมิใจไม่พอแล้วใช่ไหมคะ ก็ยังมีทีมผู้จัดที่เอาไปทำเป็นซีรีส์ต่อ คือมันแบบ โห! มันไปได้ไกลขนาดนั้นเลย มันก็เลยภูมิใจ ตอนนั้นเล่มยังไม่ออกเลยนะคะ (เล่มส่งร้อนเสิร์ฟรัก) ผู้จัดก็ติดต่อมาแล้ว ว่าแบบหมอแซมขอเล่มหน่อย จะเอาไปทำซีรีส์ ก็บอกเดี๋ยว ๆ เล่มยังไม่ออกเลย มันก็เลยแบบภูมิใจ เรื่องนี้ภูมิใจมากค่ะ”
“อันดับสอง คงจะเป็นเรื่อง Manner of Death ค่ะ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ 2 ที่แซมเขียน เรื่องแรกเป็นเรื่อง การวินิจฉัย ใช่ไหมคะ Manner of Death เป็นเรื่องที่ 2 ซึ่ง ณ ตอนนั้น ประสบการณ์เขียนก็ยังไม่ได้เยอะมาก แล้วก็ยอมรับว่าภาษาการเขียนหรือว่าการลำดับเรื่องราวอะไรต่าง ๆ มันก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร แต่ว่าอาจจะด้วยความที่เรากล้าที่จะเขียนอะไรที่มันแปลกแหวกออกมา”
“ตอนนั้นไม่ได้ทราบเลยว่าวายไทยเขาฮิตอะไรกันอยู่ ทราบนิดหน่อยว่าเขาฮิตแนวมหาวิทยาลัย แซมก็แบบ Manner of Death เราจะไม่มีเด็กมหาลัย เราจะเป็นคนแก่ไปเลย วัยทำงาน ผู้ใหญ่มาก ๆ หมอบรรณ นายเอกอายุ 30 เราจะเขียนคาแรกเตอร์คนอายุ 30 เรื่องแรกแซมยังเขียนมหาลัยอยู่นะคะ ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ แต่เรื่องนี้แซมตัดสินใจว่าเราจะออกมาจากนักศึกษา เขียนแบบผู้ใหญ่มาก ๆ ไปเลย คาแรกเตอร์แก่กว่าตัวเองไปเยอะ ๆ เลย ก็เลยเขียนแบบนั้น แล้วก็ออกมาเป็นเล่มได้ ก็เลยภูมิใจกับผลงานนี้ แล้วก็ภูมิใจที่เอาไปทำเป็นซีรีส์ด้วยค่ะ”
ความยากอยู่ที่การตัดสินใจเลือกผลงานที่ภูมิใจอันดับที่สาม เพราะเธอลังเล! “เรื่องที่ภูมิใจอันที่สาม เรื่องไหนดีอะ ลังเลระหว่าง Triage กับ การุณยฆาต ให้ 2 เรื่องเลยได้ไหมคะ (หัวเราะ)”
“Triage เนี่ยภูมิใจเพราะว่าเป็นเรื่องที่ผ่อนลงมาจากแนวถนัดหน่อย คือยังเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอยู่นี่แหละ มีคนตายเหมือนกัน แต่จะมีคอมเมดี้เข้าไปเยอะกว่าเรื่องอื่น ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ตีพิมพ์ซ้ำเยอะที่สุด แล้วก็ขายดีที่สุด ถ้าไม่นับ Manner of Death ที่มาขายดีอีกทีตอนซีรีส์ออน ถ้าตัดสินกันแค่นิยายอย่างเดียวโดยไม่นับซีรีส์เลย Triage เป็นเรื่องที่ขายดีที่สุดของแซม นักอ่านจะชอบเรื่องนี้มาก เพราะว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย แล้วก็มีความน่าสนใจของเนื้อเรื่อง ภูมิใจที่สามารถทำเรื่องแนวนี้ออกมาได้ เป็นแนววนลูปค่ะ แล้วก็ใส่เรื่องของ butterfly effect เข้าไป เป็นแฟนตาซีผสมกับการแพทย์”
“แล้วก็เรื่องการุณยฆาตเนี่ย ให้เท่ากันเพราะว่าอันนี้จะเป็นความภูมิใจในแง่ที่เราหยิบวิชาชีพที่เราใช้จริง ๆ ออกมาเขียน อันนี้จะเป็นความภูมิใจในแง่ของแบบความอยากจะให้คนเห็นความสวยงามของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แล้วก็ในขณะเดียวกันก็จะเห็นเรื่องความเทาของประเด็นการุณยฆาตว่ามันมีข้อดีข้อเสียยังไง มันควรมีหรือเปล่า ซึ่งแซมไม่ได้เขียนชัด ๆ ว่าสนับสนุนหรือคัดค้าน แต่ให้คนอ่านตัดสินเอาเอง อะ ลองดูซิแบบนี้มันดีหรือไม่ดี ก็ให้เท่ากัน”
แนวไหนที่ไม่เคยลองแต่อยากลอง
“ยังไม่เคยลองแนวดราม่าค่ะ มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเลยนะในการเขียนดราม่า คือส่วนตัวเอาเป็นว่าแนวดราม่าเป็นอะไรที่ไม่ถนัดที่สุดเลยถ้าเรียงลำดับ สืบสวนสอบสวน การแพทย์ ฆาตกรรม คอมเมดี้ แล้วก็อันสุดท้ายคือดราม่า ท้าทายมากที่จะเขียนดราม่าแล้วให้คนอ่านอ่านแล้วเขารู้สึกไปกับตัวละคร เพราะว่ามันเป็นสไตล์ที่จะต้องบรรยายความรู้สึกนึกคิดและความขัดแย้งภายในค่อนข้างเยอะ ส่วนตัวแซมอะถนัดการเขียนความขัดแย้งภายนอกที่เป็นเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ แต่ว่าความขัดแย้งภายในตัวคนเนี่ยยากนะคะ มันยากมากเลยค่ะ (หัวเราะ)”
“เรื่องความขัดแย้งของแต่ละคนเนี่ย แนวดราม่ามันจะต้องเขียนแบบนั้นออกมาให้ได้ ถ้ามีโอกาส ซึ่งแซมก็ไม่แน่ใจว่าแซมจะได้เขียนไหมนะคะชีวิตนี้ แนวดราม่า แต่ถ้าต้องได้เขียนก็เป็นอะไรที่ท้าทายมากเลยทีเดียวค่ะ มันน่าสนใจดีนะคะ แต่ไม่รู้ว่าจะรอดไหม”
ช่วงเวลาขายของ
“ค่ะ ตอนนี้ก็นิยายนะคะ ที่ออกเล่มแล้วก็จะมีเรื่อง Diagnosis (การวินิจฉัย) มี Manner of Death (พฤติการณ์ที่ตาย) พฤติการณ์ที่ตายก็ได้ทำเป็นซีรีส์แล้วนะคะ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่แอปพลิเคชัน WeTV แล้วก็เรื่องต่อไปก็คือ Triage ก็เป็นนิยายที่กำลังจะได้ทำเป็นซีรีส์เหมือนกัน โดยผู้จัดก็คือผู้จัดเดียวกันกับ Manner of Death ก็คือทาง TV THUNDER ค่ะ เรื่องรายละเอียด ช่องทางการรับชม หรือว่าการคัดเลือกนักแสดงอะไรต่าง ๆ ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดนะคะ ก็รอติดตามได้ ว่าใครจะได้มาเล่นแล้วก็ออนแอร์ทางช่องไหน”
“เรื่องต่อไปก็จะเป็นเรื่องการุณยฆาตนะคะ การุณยฆาตก็ออกเล่มแล้ว แล้วก็กำลังจะมีภาค 2 ซึ่งแซมก็พยายามจะเขียนให้จบภายในปีนี้ ปีหน้าก็จะออกเป็นเล่มเหมือนกัน แล้วก็เรื่อง Grab a Bite ส่งร้อน เสิร์ฟรัก ก็กำลังจะได้เป็นซีรีส์เหมือนกันค่ะ จัดทำโดยผู้จัด The Dream and Destiny กำลังจะเริ่มถ่ายทำในเร็ว ๆ นี้ค่ะ รอน้องมาร์คหายโควิดก่อน ก็น่าจะได้ถ่ายทำเร็ว ๆ นี้แหละค่ะ แล้วก็รอติดตามเรื่องของช่องทางออนแอร์อีกทีนึงนะคะ”
“แล้วก็ตอนนี้มีนิยายที่กำลังเขียน เขียนไม่จบนะคะ แต่ว่าจบแน่นอนก็คือ Transplant ปลูก ถ่าย ตาย เป็นภาคต่อของเรื่อง Manner of Death ค่ะ แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งก็คือ Q อัจฉริยะพันธุกรรม ค่ะ เป็นฉากเมืองนอกเรื่องเดียวที่แซมเขียน ฉากต่างประเทศ แล้วก็เป็นแนว Sci-Fi Dystopia ค่ะW
“เล่มที่ออกเล่มไปแล้วทุกเล่ม ก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือนายอินทร์ หรือบีทูเอสนะคะ ถ้าหาไม่ได้แล้วแสดงว่าอาจจะหมดไปแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็ติดต่อได้ทางช่องทางสำนักพิมพ์ค่ะ มีตีพิมพ์กับ 2 สำนักพิมพ์ ก็คือ สำนักพิมพ์เฮอร์มิท (Hermit) และสำนักพิมพ์วันเดอร์วาย (Onederwhy)”
ของฝากจากรุ่นพี่
“จริง ๆ เยาวชนรุ่นนี้เป็นเด็กเก่งนะคะ ต้องยอมรับว่า gen ทุกวันนี้เป็นเด็กที่เขากล้าคิด กล้าแสดงออกมาก ๆ เลย คือแซมเชื่อว่าคุณลักษณะนี้เนี่ยจะทำให้เด็ก ๆ เขามีความกล้าที่จะคิดนอกกรอบ แล้วก็มีความกล้าที่จะทำตามความฝันแล้วก็สิ่งที่เขาชอบ ก็อยากจะให้เด็ก ๆ ค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร แล้วก็ถ้าเราชอบอะไรแล้ว เราทำสิ่งนั้นได้ดีเนี่ย เชื่อว่าอนาคตข้างหน้า ถ้าเกิดว่าประเทศไทยมีการเมืองที่ดี สามารถซัพพอร์ตทุก ๆ อาชีพในเชิงสร้างสรรค์ได้ เราก็สามารถที่จะเติบโตแล้วก็ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอนค่ะ”
“ทำอะไรอยู่เนี่ยให้ตั้งใจ อย่าท้อแท้ ทำมันสม่ำเสมอก็สามารถที่จะออกผลงานออกมาได้นะคะ แล้วก็ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ทำมันไปเรื่อย ๆ ค่ะ ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแน่นอน”
ของแถม!!! เคล็ดลับความสำเร็จฉบับหมอแซม
เธอบอกว่าข้อดีของตัวเองคือมีวินัย ตั้งใจจะทำอะไรคือต้องทำ ไม่ผัด ก็สามารถที่จะฝึกจากตรงนี้ได้
“วันนี้ทำงานกลับบ้านมา 4 โมงใช่ไหม ให้เวลา 1 ชั่วโมงในการออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงในการซักผ้า แล้วมานั่งเขียนนิยาย เหมือนมีตารางงานในใจแล้วก็ทำตามนั้น ไม่ได้เป๊ะมากเวอร์ หลุดตารางก็บ่อย แบบขี้เกียจก็มี ไม่ได้เข้มงวดมาก แต่มีคร่าว ๆ ในใจเอาไว้ ไม่ให้มันไปเรื่อยเกินไป ก็พอจะตีตัวเองให้เข้ามาอยู่ในกรอบได้บ้าง แต่ก็ไปเรื่อยเยอะอยู่นะ แบบบางที โอ๊ย! ขี้เกียจอะขออีกซักชั่วโมงนึงนะ ก็ได้อยู่ (หัวเราะ) ก็ไม่หลุดจนเกินไป ไม่ขี้เกียจแบบทิ้งไปเป็นวัน ๆ 2-3 วันอะไรงี้”
เรื่องราวความเป็นนักเขียนของหมอแซมตลอด 2 สัปดาห์ น่าจะให้ทั้งข้อคิด แรงบันดาลใจ และกำลังใจกับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย แม้แต่ทีมงานเองก็ยังได้ฉุกคิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งระหว่างที่พูดคุยกัน หรือได้มาคิดอย่างลึกซึ้งขึ้นขณะถอดเทปการสัมภาษณ์ หมอแซมแทนตัวเองกับทีมงานว่า “พี่” ส่วนทีมงานก็ชื่นชมและนับถือเธอเป็น “รุ่นพี่” ที่มากด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์เช่นกัน เราพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวนิดหน่อย ขอบอกเลยว่าเธอเป็นคนที่ “ไม่ธรรมดา” จริง ๆ ลองติดตามชีวิตและผลงานของเธอดู จะได้รู้จักตัวตนของเธอให้มากขึ้น