“ตามธรรมเนียมของฝรั่งนั้น หากมีคนในตระกูลที่มีประวัติที่ไม่งดงามนักก็มักจะปกปิดไม่บอกให้ใครรู้ และคนในตระกูลที่ปกปิดไว้นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Skelton in the Cupboard” แปลว่า โครงกระดูกในตู้” นี่คือที่มาของชื่อหนังสือซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนอธิบายเอาไว้ในคำนำพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มนี้ ก่อนที่ท่านจะอายุ 60 ปี
และหนังสือเล่มนี้ “อาจารย์หม่อม” ก็ยังได้ระบุเอาไว้ด้วยว่า “การเขียนหนังสือเรื่องนี้ได้เขียนเป็นทำนองให้ลูกหลานฟังจึงจะใช้สำนวนโวหารอย่างนั้น ไม่ถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์และเรื่องที่จะเล่านั้นก็ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น การบอกกาลเวลาโดยให้วันเดือนปีของเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงจะไม่ทำและทำไม่ได้เพราะผู้เขียนเรื่องนี้มีความจำเลวเป็นพิเศษในเรื่องวันที่และเดือนปี”
แม้ว่าอาจารย์หม่อม ท่านจะระบุเอาไว้แล้วว่า “โครงกระดูกในตู้” ไม่ถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาตร์ แต่เรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับ “ราชสกุลปราโมช” นั้นทำให้คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้เห็นความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของระบบการปกครอง ไปจนถึงการดำรงชีวิตในฐานะเจ้านายนั้นมีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องดำรงอยู่เพื่อให้สมเกียรติ
นอกจากนี้แล้ว “อาจารย์หม่อม” ยังได้ทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่กล้าที่จะทำคือการเปิดเผยเรื่องราวในครอบครัวที่บางเรื่องก็ไม่งดงามนัก แต่ด้วยวัตถุประสงค์ของหนังสือที่อาจารย์กล่าวไว้ว่า “โครงกระดูกในตู้” หลายโครงน่าจะนำออกมานอกตู้ให้ลูกหลานได้รู้จักไว้ เหมือนจะมีนัยยะว่าเพื่อให้ได้เห็นและเป็นบทเรียนเพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้ไม่ผิดพลาดดังเช่นในอดีต
อันที่จริงแล้วทุกครอบครัว ล้วนมี “โครงกระดูกในตู้” แต่เกือบทุกครอบครัวเลือกที่จะไม่พูดถึง นั่นเป็นเพราะรู้สึกละอายแก่ใจและด้วยความที่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกันจะพลอยทำให้มัวหมองไปด้วย ขณะเดียวกันการไม่พูดถึงก็จะทำให้เรื่องราวอันไม่น่าจดจำค่อย ๆ เงียบหายไป
แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะยิ่งเราเก็บซ่อนความผิดพลาดเพราะกลัวมัวหมองไปด้วยมากเท่าไร เราก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมัวหมองมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเราพยายามจะไม่พูดถึงเพื่อให้เรื่องราวอันน่าอับอายเลือนหาย แต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับดังก้องอยู่ในหัวเราตลอดเวลา
หนังสือแบบ “โครงกระดูกในตู้” นั้นเห็นทีว่าในปัจจุบันคงไม่มีใครคนเขียนออกมาได้เท่ากับที่อาจารย์หม่อมเขียน เป็นหนังสืออีกเล่มที่ขอแนะนำให้อ่าน แม้จะไม่สามารถอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้แต่คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ในครอบครัวของ “อาจารย์หม่อม” ทำให้เราได้เห็นวิธีคิดและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างราชสกุลอย่างชัดเจน